xs
xsm
sm
md
lg

ส่องนโยบาย “รีไซเคิล – ลดขยะ” สตาร์บัคส์ในไทย หลังเกาหลีใต้เตรียมเลิกใช้แก้วแบบครั้งเดียวทิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมดูแลและแก้ไข โดยเฉพาะผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหา สำหรับปัญหาขยะ การจัดการที่ต้นทางเป็นวิธีที่ดีที่สุดแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อสวนทางกับความสะดวก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลายรายให้ความสำคัญ “สตาร์บัคส์”เป็นหนึ่งในธุรกิจแถวหน้าที่ประกาศนโยบายและขับเคลื่อนมาตลอด  เมื่อเร็วๆ นี้ สตาร์บัคส์ในเกาหลีใต้ ประกาศว่า เพื่อให้สอดคล้องกับปณิธานของสตาร์บัคส์ทั่วโลกในการดำเนินพันธกิจ “resource positive” หรือ “ทรัพยากรในเชิงบวก” Starbucks Coffee Korea จึงตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 30% และกำจัดแก้วแบบใช้ครั้งเดียวออกจากร้านทั้งหมดภายในปี 2025

สำหรับแผนเตรียมยกเลิกหรือหยุดการนำแก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมาให้บริการกับลูกค้า ตามโครงการ “cup circularity” ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนกรกฎาคมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณขยะ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 9% ของคาร์บอนฟุตพรินต์ 16 ล้านตันที่สตาร์บัคส์ก่อขึ้นทั่วโลกในปี 2018

จากนโยบายนี้ ลูกค้าจะได้รับเครื่องดื่มที่เสิร์ฟมาในแก้วซึ่งนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยทางร้านจะเก็บเงิน “ค่ามัดจำ” เล็กน้อย และคืนให้แก่ลูกค้าที่นำแก้วกลับไปไว้ในจุดที่กำหนด การยกเลิกใช้แก้วแบบครั้งเดียวทิ้งจะเริ่มที่ Jeju และขยายครบทุกสาขาภายใน 4 ปีข้างหน้า นโยบายนี้จะช่วยให้ สตาร์บัคส์เปลี่ยนจากการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไปสู่บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ ส่งผลให้บริษัทเข้าใกล้เป้าหมายระดับโลกในการลดขยะที่ฝังกลบลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

นอกจากนี้ จากความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว สตาร์บัคส์ไม่ให้ลูกค้านำแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่ม แต่ล่าสุดทางบริษัทประกาศว่าจะอนุญาตให้ลูกค้าในเกาหลีใต้นำแก้วส่วนตัวมาใช้ได้อีกครั้ง

สำหรับในประเทศไทย สตาร์บัคส์เผยแพร่นโยบายและแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมในเว็บไซต์ของบริษัทว่า “การรีไซเคิลและการลดขยะ” สตาร์บัคส์มุ่งมั่นที่จะลดและจัดการกับขยะที่เกิดจากร้านของเรา ซึ่งการรีไซเคิลก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นำมาใช้

แม้ว่าการรีไซเคิลดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายๆ แต่อันที่จริงแล้วก็นับเป็นเรื่องที่มีความยากอยู่มากเช่นกัน ไม่ใช่ข้อจำกัดของเทศบาลเท่านั้นที่จะมีผลต่อความสำเร็จในการรีไซเคิลในหลายๆ เมือง แต่ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างมากด้วยจึงจะได้ผล ขยะผิดประเภทเพียงชิ้นเดียวในถังขยะส่งรีไซเคิลสามารถทำให้รถขนขยะไม่สามารถรีไซเคิลขยะทั้งถังได้ เทศบาลท้องถิ่น เจ้าของที่ดิน ลูกค้า บาริสต้า และแม้แต่ธุรกิจในละแวกล้วนต้องร่วมแรงร่วมใจป้องกันไม่ให้นำวัสดุที่รีไซเคิลได้ไปทิ้งในหลุมฝังกลบ

“เป้าหมายของเรา” ภายในปี 2022 เราตั้งเป้าในการสร้างการรีไซเคิลเพิ่มในร้านของขึ้นเท่าตัว และเพิ่มการใช้แก้วและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือย่อยสลายได้

“สิ่งที่เราทำอยู่” แม้มีอุปสรรคมากมาย แต่เราก็ได้จัดการการรีไซเคิลและการลดขยะในหลายๆ ทาง เช่น นำกากกาแฟมาทำท๊อปโต๊ะ เพื่อใช้ในร้าน

“การรีไซเคิลในร้าน” เมื่อดูปริมาณขยะที่เกิดจากร้านของสตาร์บัคส์ ขยะส่วนใหญ่จะอยู่ที่ด้านหลังเคาน์เตอร์หรือในห้องเก็บของ ไม่ว่าจะเป็นในรูปกล่องกระดาษ เหยือกนม ขวดน้ำเชื่อม และกากกาแฟ ร้านของเราได้มีการรีไซเคิลขยะเหล่านี้ แต่เนื่องจากเป็นงานที่ทำด้านหลังเคาน์เตอร์และในห้องเก็บของ ลูกค้าจึงไม่ค่อยได้พบเห็นมากนัก แต่สิ่งที่ลูกค้าพบเห็นได้จริงๆ จะอยู่ในบริเวณร้านนั่นเอง

ทั้งนี้ ความสำเร็จของการรีไซเคิลขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริการรีไซเคิลเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ที่ร้านของเราตั้งอยู่ ในขณะที่เรามีนโยบายให้ร้านดำเนินการรีไซเคิลในพื้นที่ที่อำนวยและมีบริการพร้อม แต่ในทางปฏิบัติมักประสบกับปัญหาอยู่บ้าง ทั้งในเรื่องการรับรู้ของลูกค้าต่องานบริการและบริการที่ได้รับจริง นอกจากนี้ ผู้ให้บริการรีไซเคิลในเชิงพาณิชย์แต่ละรายมักรับวัสดุแตกต่างกัน เราจึงไม่สามารถจัดทำโครงการให้สอดคล้องกันในแต่ละร้านได้ และหากร้านตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ห้างสรรพสินค้า เจ้าของพื้นที่มักจะเป็นผู้ควบคุมการจัดเก็บขยะและการรีไซเคิล

แม้จะมีอุปสรรคดังกล่าว เราก็ยังมุ่งมั่นทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้การรีไซเคิลง่ายขึ้นสำหรับเราและลูกค้า

“แก้วเพื่อสิ่งแวดล้อม” สตาร์บัคส์ได้ริเริ่มดำเนินโครงการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึง
ปี 1997 – เราได้พัฒนาปลอกสวมแก้วจากกระดาษรีไซเคิล
ปี 2006 – เราเป็นรายแรกในอุตสาหกรรมที่ได้เปิดตัวถ้วยกระดาษเครื่องดื่มร้อน ซึ่งประกอบด้วยเยื่อกระดาษรีไซเคิลที่ผ่านการใช้งานแล้วถึง 10%
ปี 2008 – เราเริ่มใช้ถ้วยพลาสติกใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง
ปี 2009 – เราเป็นเจ้าภาพงาน Cup Summit ที่ซีแอตเทิล เพื่อระดมความคิดและหาข้อตกลงด้านเกณฑ์การผลิตและใช้แก้วรีไซเคิลที่ครอบคลุม
ปี 2010 – เราเป็นเจ้าภาพ Cup Summit ครั้งที่สอง เพื่อหารือโครงการในการขับเคลื่อนการรีไซเคิลถ้วย และนำความรู้และการช่วยเหลือของนักวิชาการด้านการคิดเชิงระบบจาก MIT มาประยุกต์ใช้ประโยชน์
ปี 2011 – ผู้ที่เคยเข้าร่วมงาน Cup Summit รวมตัวกันอีกครั้ง แถลงความคืบหน้าแผนปฏิบัติงานที่ได้รับการรับรองจากงาน Cup Summit ครั้งก่อน โดยครั้งนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของแก้วกระดาษและแก้วพลาสติก

เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาเพื่อหาวิธีการในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากแก้วและบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งของเรา

“แก้วรียูส” ปัจจัยสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งของเรา ได้แก่ การพัฒนาวิธีการผลิตและใช้แก้วแบบรีไซเคิลได้ และการเพิ่มจำนวนการใช้แก้วรียูสของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

ตั้งแต่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2541 สตาร์บัคส์ได้รณรงค์และเชิญชวนให้ลูกค้าหันมาพกและใช้แก้วส่วนตัวเสมอมา นับเป็นเวลากว่า 20 ปีในการรณรงค์ลดการใช้แก้วที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเราได้มอบส่วนลด 10 บาทให้กับลูกค้าที่นำแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้าน และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน สตาร์บัคส์และลูกค้าในประเทศไทยได้ร่วมกันลดการใช้แก้วกระดาษและพลาสติกไปแล้ว 13 ล้านใบ นอกจากนี้ ลูกค้าในร้านยังสามารถขอให้เสิร์ฟเครื่องดื่มในถ้วยกาแฟเซรามิกได้อีกด้วย

ที่มา:Independent /CNBC


กำลังโหลดความคิดเห็น