xs
xsm
sm
md
lg

เต่ากว่าร้อยละ 50 กินขยะพลาสติกในทะเล! ทช. โชว์คลิปช่วยเต่าตนุที่โชคดี “ดึงเศษพลาสติกออกจากก้น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โพสต์คลิป ภารกิจช่วยเหลือเต่าตนุป่วย เนื่องจากกินขยะทะเลที่เป็นขยะพลาสติกจำนวนมาก เพราะเต่าเข้าใจผิดว่าคือแมงกะพรุนซี่งเป็นอาหารของเต่าตามธรรมชาติ

เต่าตนุเจ้าตัวนี้พบเกยตื้นในทะเลสมุทรสาคร จากการสืบประวัติจากแถบโลหะพบเป็นเต่าตนุที่อนุบาลไว้ที่ศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยฝั่งตะวันออก (เกาะมันใน จ.ระยอง) อายุประมาณ 1 ปี 8 เดือน และปล่อยคืนสู่ทะเลเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณอ่าวไข่ เกาะมันใน ต่อมาพบเกยตื้นในเดือนมีนาคม ที่สมุทรสาคร โดยมีอาการป่วย จากการกินขยะทะเลจำพวกขยะพลาสติกแบบบางเข้าไปเป็นจำนวนมาก ต้องค่อยๆ คีบขยะออกมาจากรูทวาร


“ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเราจะแสบสันขนาดไหน สงสารเต่ากันหน่อยนะครับ อย่าทำร้ายกันทางอ้อมแบบนี้อีกเลย”


“โปรดสงสารน้องเต่า เริ่มกันวันนี้ลดใช้ถุงพลาสติกและไม่ทิ้งขยะลงทะเล”



Credit Clip : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


จากงานการวิจัยของ Dr. Qamar Schuyler นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ระบุตัวเลขประมาณการว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของเต่าทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะมีเศษขยะพลาสติกอยู่ในท้องพวกมัน

เต่าส่วนใหญ่ใช้เวลาช่วงแรกของชีวิตลอยอยู่บนผืนน้ำและเคลื่อนที่ไปตามกระแสน้ำในมหาสมุทร … เช่นเดียวกับพลาสติก เต่าตัวน้อยเหล่านี้จะกินมากที่สุดเท่าที่จะกินได้เพื่อที่จะเติบใหญ่และแข็งแรง ก่อนที่พวกมันจะว่ายกลับไปบริเวณแถวน่านน้ำชายฝั่งซึ่งมีผู้ล่าอาศัยอยู่ โชคร้ายที่เมื่อเต่าเหล่านี้สัมผัสกับขยะพลาสติกพวกมันก็จะกินขยะพลาสติกนั้นไปพร้อมกับอาหารอื่น ๆ สิ่งที่เราเจอในลำไส้ของเต่าพวกนี้นั้นคือพลาสติกสีขาวชิ้นเล็กๆ

เมื่อถึงเวลาที่พวกเต่าเดินว่ายกลับไปยังชายฝั่ง พวกมันจะเริ่มหาอาหารตั้งแต่พื้นของมหาสมุทร มีโอกาสน้อยที่เต่าเหล่านี้จะสัมผัสกับพลาสติกที่พื้นผิวของน้ำ แต่เมื่อไรที่เห็นขยะพลาสติก พวกมันมักจะกินขยะพลาสติกที่มีลักษณะนุ่มและโปร่งแสง เราคิดว่าเต่าเหล่านี้เข้าใจผิดคิดว่าพลาสติกเป็นแมงกะพรุนซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารของพวกมัน

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้หมายความว่าอย่างไร?
คำตอบคือ พลาสติกมีผลกระทบหลายอย่างที่เป็นอันตรายสำหรับเต่าและสัตว์ป่าอื่นๆ

ขยะพลาสติกเพียงไม่กี่ชิ้นก็สามารถฆ่าเต่าได้ โดยเศษพลาสติกเหล่านี้จะไปปิดกั้นลำไส้หรือเจาะผนังลำไส้ของพวกมัน ดังนั้นความเสี่ยงของสัตว์เหล่านี้ที่จะตายจากขยะพลาสติกนั้นอยู่เพียงแค่เอื้อมมือ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด สารพิษจากขยะพลาสติกอาจถูกชำระล้างจากน้ำทะเลและซึมเข้าไปในร่างกายของสัตว์ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถที่จะศึกษาผลกระทบจากสารพิษเหล่านี้ได้ แต่เราคิดว่ามันอาจส่งผลต่อการสืบพันธุ์และมีผลกระทบอื่นๆ ต่อประชากรเต่า

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.greenpeace.org/thailand/story/2309/scary-plastic-turtle/


กำลังโหลดความคิดเห็น