xs
xsm
sm
md
lg

ดอยคำ-สนพ. เดินหน้า “เต่างอยโมเดล CBG สร้างสุข พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดอยคำ จับมือสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) ดัน “โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ” สู่ เต่างอยโมเดล CBG สร้างสุข พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน ณ ชุมชนบ้านนางอย และบ้านโพนปลาโหล ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร

บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด หนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 บริษัทต้นแบบธุรกิจเพื่อสังคม ดำเนินงานตามศาสตร์พระราชา ที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะและของเสียต่างๆ จึงได้มีแผนการดำเนินงานพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ทั้ง 4 แห่ง

ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ เป็นหนึ่งในการดำเนินงานของบริษัทฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ด้วยการนำน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตภายในโรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร มาผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทน

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสาธิตให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตก๊าซไบโอมีเทนสำหรับเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ พร้อมทั้งออกแบบสร้างระบบส่งก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซให้มีความปลอดภัยในด้านวิศวกรรมและมาตรฐานการวางท่อก๊าซในชุมชนต้นแบบ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเทคโนโลยีของระบบท่อส่งก๊าซและใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนเป็นพลังงานทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบอื่นๆ ของประเทศต่อไป

โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ เป็นโครงการเพื่อศึกษาระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) สำหรับทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ในระบบท่อส่งก๊าซ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยเล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานในชุมชน ที่ตั้งอยู่บริเวณรอบข้าง โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร

โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินโครงการร่วมมือกับ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ประสานงานกับผู้นำบ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล ในการนำก๊าซ CBG ที่ได้ไปใช้ในภาคครัวเรือน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้ม และนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างพอเพียง สร้างความยั่งยืนในชุมชน ลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศ


พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า “ดอยคำ ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะและของเสียต่างๆ จึงได้กำหนดแผนการดำเนินงานพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงงานหลวงฯ ทั้ง 4 แห่ง ซึ่งการมาร่วมมือกับ สนพ. ในครั้งนี้ นอกจากจะตอบโจทย์ในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือชุมชนในเรื่องของลดค่าใช้จ่ายภายในตัวเรือน อีกทั้งยังเสริมสร้างรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนเพื่อให้สามารถมีกำลังดูแลชุมชนต่อไปได้ และยังเป็นการปูแนวทางพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองในการร่วมกันดำเนินการบริหารจัดการพลังงานทดแทน นำร่องต้นแบบให้มีการใช้งานในประเทศไทย”

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “เนื่องจากสถาบันฯ ได้คิดค้นวิจัยในการดำเนินการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ซึ่งเป็นก๊าซได้พัฒนานำก๊าซชีวภาพมาปรับปรุงคุณภาพ โดยการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) และความชื้นออกจากก๊าซชีวภาพเพื่อให้ได้ก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซ NGV (Natural Gas for Vehicles) สามารถนำไปใช้สำหรับยานยนต์ และนำไปบรรจุถังสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งกำลังประสบปัญหาด้านราคา และมีแนวโน้มจะขาดแคลนในอนาคต

สำหรับสถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) หรือ โรงจ่ายก๊าซ “ศิลาธรหิรันย์” ที่ โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เป็นการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียจากกระบวนการผลิตแปรรูปมะเขือเทศ มาผ่านกระบวนการของระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดด้วยเทคโนโลยีเมมเบรน (Membrane System) สามารถผลิตได้ 262.81 kg Biomethane/day เมื่อเดินระบบเป็นเวลา 10 hr/day โดยมีราคาต้นทุน 12 บาทต่อกิโลกรัม สามารถมาทดแทนก๊าซหุงต้มได้ถึงประมาณ 75,000 กิโลกรัม/ปี (ที่การเดินระบบเป็นเวลา 10 hr/day) คิดเป็นมูลค่าถึง 1,668,000 บาท/ปี (คิดที่ราคา LPG 22.24 บาทต่อกิโลกรัม , ม.ค. 64) และจากการทดสอบก๊าซ CBG พบว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับก๊าซ LPG สามารถใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งปัจจุบันได้แจกจ่ายให้กับชุมชนบ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) จำนวน 280 ครัวเรือน”

จากผลการดำเนินการดังกล่าว ชาวบ้านจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนอัด จึงร่วมกันดำเนินการสานต่อโครงการฯ ดังกล่าว โดยวิสาหกิจชุมชนได้จัดตั้งคณะกรรมการมาบริหารจัดการสถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด โดยเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการจัดการบริหารทั้งกระบวนการ มีการกำหนดกฎระเบียบสำหรับผู้ใช้ก๊าซ มีทีมบริหารจัดการดูแลระบบ มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนพลังงานไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล เพื่อบริหารกองทุนก๊าซ CBG อย่างเป็นรูปธรรม บริหารพลังงานทดแทนด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่มั่นคงในขณะนี้ ทำให้ชาวบ้านมีพลังงานทดแทนที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้ สู่ เต่างอยโมเดล CBG สร้างสุข พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน ในการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียมาผลิตพลังงานเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด ทดแทน LPG เพื่อใช้ในชุมชน