“เฉลิมวุฒิ ศรียภูมิ” ปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านตรวจทุ่งแฝก ปากทางเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ฝั่งสำนักงานเขตฯ อย่างแข็งขัน จนย่างเข้าปีที่ 6 แล้ว
แม้ว่าหากเลือกได้ เขาคงอยากใช้ชีวิตอีกแบบ ที่เข้มข้น และท้าทายกว่าการหมุนเวียนมาประจำด่านตรวจเช้าจรดค่ำ ค่ำยันเช้า ถ้าไม่เกิดเหตุ 231 เมื่อโพล้เพล้วันนั้น ....
เป็นที่รับรู้กันดีในทีมสมาร์ท พาโทรลว่า ต่อให้ออกป่า ลว. (ลาดตระเวณ)ไกลถึงไหน แต่โอกาส “เสี่ยง” ที่สุดกลับอยู่ตรงปลายจมูก ติดรั้วเขตฯ นี่เอง
ย้อนเวลากลับไปเมื่อกลางปี 2558 ได้ข่าวแน่ชัดว่า จะมีการลักลอบล่าสัตว์ตรงรอยต่อระหว่างเขตฯ กับพื้นที่กันชน ด้านเหนือของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไม่ไกลจากหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก
“ตอนนั้นมันใกล้ค่ำแล้ว หัวหน้าชุดเดินนำ ผมเดินตามมา ..... “
คนนำเดินผ่านไปได้ แต่เฉลิมวุฒิสะดุดเข้ากับเอ็นเส้นเล็กจิ๋ว ตามมาด้วย “ปัง!” ดังโพล่งๆ ในระยะใกล้มาก กลิ่นดินปืนคลุ้ง
“ไอ้เราก็ล้มลง ทุกคนก็หยุดนิ่ง อารามยังตกใจ ทีแรก มันก็ชาๆ .....”
เสียงสอบถามความปลอดภัย เมื่อตรวจสอบกำลังพล ก็พบว่า มีเพียงเฉลิมวุฒิ นอนเจ็บอยู่
“เห็นเลือดไหลเปียกขากางเกงเดินป่าที่ขาดรุ่งริ่ง”
ครั้นเมื่อตรวจดูบาดแผลที่หน้าแข้ง และน่องซ้าย ก็พบว่ามันรุ่งริ่งยิ่งกว่าขากางเกงเสียอีก มันไม่ใช่ลูกตะกั่วแบบในกระสุนลูกปราย แต่เป็นพวกเศษเหล็กคมๆ อัดอยู่ในปลอกกระสุนลูกซอง แล้วยัดไว้ในท่อเหล็กตัดเกือบๆ เมตร เจาะรูด้านบนให้มีตัวสับลงไปยังแก๊ป ที่เป็นเชื้อปะทุ
ที่น่ากลัวก็คือ สลักที่ขึงไว้ด้วยเอ็นตกปลา บางเฉียบ อย่าว่าแต่ตอนมืดๆ เลยกลางวันยังมองเห็นยาก เดชะบุญที่ ปากท่อ หรือลำกล้องสูงจากพื้นแค่ไม่เกินเข่า คงหมายจะเอาสัตว์เล็กๆ
ทีมลาดตระเวนเคราะห์ร้ายถูกนำส่งโรงพยาบาลอุทัยธานี อย่างเร่งด่วน โชคดีที่จุดเกิดเรื่องอยู่ไม่ไกลนัก ห้ามเลือดแล้วลำเลียงออกมาส่งตัว ช่วยชีวิตได้ทัน ....
ผ่านมาเข้าหกปี “ตอนนี้ มันก็ยังเสียว แปล๊บๆ อยู่ครับ” กับสภาพหน้าแข้งที่โปนผิดรูป และรอยแผลจากลูกปรายที่เป็นเศษเหล็กเกลียวโรงกลึง ยืนนานๆ ก็ไม่ค่อยได้ เดินก็อย่างที่เห็น แต่ให้วิ่งก็แทบไม่ได้เลย มันจะเจ็บแปล๊บๆ
พักฟื้นอยู่บ้านร่วมครึ่งปี ก็กลับมาทำงาน แม้ใจยังอยากจะออกป่า แต่สภาพร่างกายนั้น ผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ประจำด่านตรวจน่าจะดีกว่า
หลังเหตุการณ์ของเฉลิมวุฒิผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน ก็เป็นคราวเคราะห์ของเพื่อนร่วมทีมประจำหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝกอีกคน “จารนัย ไวยธัญญการ” โดนมาจากป่าชุมชนบ้านไผ่งาม คนละฝั่งถนนกับที่เขาโดนมาก่อน ปัจจุบัน ก็ต้องมาประจำจุดตรวจอีกเช่นกัน
ชั่วไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็ไปกวาดล้างปืนผูก หรือแผ่ว หลายกระบอกในป่าไผ่ ที่หุบกระทิง ไม่ไกลจากบ้านเขาไม้นวน โป่งสามสิบ พื้นที่กันชนถัดลงมาทางใต้ของเขตฯ
“บางทีป่าสงวนติดเขตฯ ที่เป็นป่าชุมชนนี่แหละ ต้องระวังกันมาก เขาแอบมาผูกไว้เป็นดงเลย ลาดตระเวนกันที ปาดเหงื่อเลย บางทียังแปลกใจ ไม่รู้รอดมาได้ยังไง”
คนโดนยังเจียนตาย ถ้าพวกสัตว์ป่าโดนเข้า ไม่อยากจะนึกว่าทุกข์ทุรนขนาดไหน ใครว่าเข้าป่ากลัวเสือ กลัวงู กลัวกระทิง กลัวช้าง และแม้ชุดลาดตระเวน จะเคยถูกกระทิงขวิดเจียนตายกันมาบ้าง วิ่งหนีช้างไล่กวดฉิวเฉียด แต่ทุกคนแน่ใจว่า .......ที่น่ากลัวที่สุดนั้น มันคนต่างหาก
การกวาดล้างอย่างเข้มข้น รวมทั้งการใช้การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ ประกอบกับบทลงโทษตามกฎหมายที่หนักหน่วงทำให้สถานการณ์แผ่ว หรือปืนผูก บรรเทาลงไปบ้างในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด
การฆ่านั้นทำไม่ยากด้วยสารพัดวิธี และเงินเพียงไม่กี่สิบบาท แต่ความพยายามให้กลับคืนมาจากการสูญเสีย และสูญพันธุ์นั้น ลำบากเลือดตาแทบกระเด็น หมดทั้งเงินหลายสิบล้าน และกำลังคนมากมายก็อาจยังไม่เห็นผล
ข้อมูลอ้างอิง : ห้วยขาแข้งสืบสาน