xs
xsm
sm
md
lg

“เสือโคร่งเบงกอล” โผล่ให้เห็นในรอบ 81 ปี ในพื้นที่ ขสป. กัวทาลา อินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ประเทศอินเดียพบ "เสือโคร่งเบงกอล" (Bengal tiger) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากัวทาลา (Gautala Autramghat Sanctuary) ในรัฐมหาราษฏระ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศอินเดียอีกครั้ง หลังไม่มีใครพบเสือโคร่งสักตัวในพื้นที่นี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2483

เมื่อเร็วๆ นี้ เสือโคร่งตัวผู้เต็มวัยตัวนี้ เดินทางไกลเพื่อออกล่าเหยื่อจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Tipeshwar Sanctuary ซึ่งอยู่ห่างจากแถบนี้ไปประมาณ 330 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม่สามารถยืนยันเส้นทางการเดินทางข้ามผืนป่าของเสือโคร่งได้ เนื่องจากมันไม่ได้สวมปลอกคอ GPS ไว้

“เสือโคร่งเบงกอลที่พบตัวนี้เป็นเพศผู้ที่โตเต็มวัย เข้ามาในเขตรักษาพันธุ์เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคมที่ผ่านมา และถูกพบเห็นในป่าเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ในพื้นที่ Tipeshwar และเราได้ยืนยันผ่านลายของมัน เส้นทางที่เสือมาถึงที่นี่ยังไม่ได้รับการยืนยันเนื่องจากไม่ได้สวมปลอกคอ” นายวีเจย์ แซตปูเต เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า กล่าว

“เสือโคร่งมีถิ่นกำเนิดในพื้นที่นี้ แต่หายไปตั้งแต่ปี 2483 เราได้จัดตั้งเจ็ดทีมคอยจับตาดูเสือตัวนี้ กัวทาลามีฐานการล่าเหยื่อที่ดีซึ่งอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงอยู่ที่นี่ และเราพบว่าเสือได้ล่าหมูป่าแล้ว”

ในอดีต พื้นที่ป่าแถบนี้ เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ของเสือโคร่ง ก่อนการล่าและการรุกล้ำพื้นที่ป่าอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้น จนไม่มีใครได้เห็นเสือโคร่งอีกเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 กินเวลายาวนานถึง 81 ปี ในปัจจุบัน เสือเบงกอลอาศัยอยู่ในประเทศอินเดียเป็นหลัก จนถูกเรียกขานด้วยอีกชื่อว่า ‘เสือโคร่งอินเดีย’ (Indian Tiger) ในขณะที่อีกหลายตัวกระจายตามผืนป่าในประเทศบังคลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน และพม่า
.
ประชากรเสือโคร่ง ทั้งสายพันธุ์เบงกอล และอีก 5 สายพันธุ์ที่ยังคงอยู่บนโลก ลดลงราว 50% เช่นเดียวกับพื้นที่อยู่อาศัยของพวกมัน WWF ทั่วโลก รวมถึงเมืองไทย ทำงานอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อชะลอและหยุดยั้งการลดลงของประชากรเสือโคร่ง ทั้ง 6 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ เสือโคร่งเบงกอล เสือโคร่งอินโดจีน เสือโคร่งสุมาตรา เสือโคร่งจีนใต้ เสือโคร่งมลายู และเสือโคร่งไซบีเรีย
.
ถึงแม้คุณจะไม่ได้ทำงานในองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่พวกเราทุกคนสามารถช่วยให้อนาคตของเสือโคร่งไม่ต้องมืดมนอีกต่อไป เพียงแค่ “ปฏิเสธ” ผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่มีอวัยวะของเสือเป็นส่วนประกอบ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลอ้างอิง https://thenewscaravan.com/tiger-seen-in-guatala-autramghat-sanctuary-a-first-after-1940/, WWF-Thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น