ไม่ใช่ภาพที่จะเห็นกันได้ง่ายๆ เพราะเกิดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น “ปะการังปล่อยไข่” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ บริเวณเกาะมาตรา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จังหวัดชุมพร
เฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ถึงเหตุการณ์น่าประทับใจและเป็นความรู้เกี่ยวกับปะการัง ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร พบไข่ปะการังลอยตามผิวน้ำ บริเวณเกาะมาตรา หลังเฝ้าระวังและรอเวลาจนกระทั่งพบไข่ปะการังลอยออกมา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ตรงกับแรม 5 ค่ำ เวลา 20.08 น. ณ เกาะมาตรา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จ.ชุมพร
ปะการังดังกล่าวเป็นปะการังสมองร่องเล็ก (Platygyra sinensis) สำหรับปรากฏการณ์ปะการังปล่อยไข่ สามารถมองเห็นไข่ของปะการังที่ถูกปล่อยออกมาได้ด้วยตาเปล่า โดยจะเห็นเป็นเม็ดสีชมพู และสีแดง ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมจะเป็นช่วงหัวค่ำเวลาประมาณ 19.00-21.00 น. และจะใช้เวลาปล่อยออกมาไม่นาน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาดูยาก มีเพียงปีละครั้งเท่านั้น
ปะการัง (coral) เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ประกอบด้วย ตัวปะการัง ซึ่งเรียกว่า "โพลิป" (polyp) ซึ่งมีลักษณะไม่ซับซ้อนอยู่รวมกันเป็นโคโลนี (colony) ปะการังมีลำตัวนิ่ม มีหนวด (tentacle) ที่มีส่วนปลายเป็นเข็มยื่นออกมาใช้ในการจับเหยื่อที่เป็นตัวอ่อนของสัตว์ต่างๆ ที่ล่องลอยในน้ำเป็นอาหาร ปะการังสร้างชั้นหินปูนเคลือบลำตัว จึงมีโครงสร้างภายนอกแข็งแรง
ปะการัง สามารถสืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ แบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเกิดขึ้นเมื่อปะการังเติบโตเต็มที่ โดยทำการปล่อยไข่และเสปิร์มออกมาผสมกันในน้ำ เกิดเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า "พลานูลา" (planula) ตัวอ่อนเหล่านี้จะล่องลอย ไปตามกระแสน้ำจนกว่าจะลงเกาะในพื้นแข็งที่เหมาะสม ซึ่งอาจะเป็นก้อนหินหรือซากปะการัง และเจริญเติบโตเป็นปะการังต่อไป สำหรับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ จะเป็นการแตกหน่อและขยายโคโลนีไปตามรูปร่างลักษณะของปะการังแต่ละชนิด