“PacRim” ชี้วิกฤตโควิด-19 ทำให้องค์กรตื่นตัวในการทำ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” สูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน จับมือ “AMPOS” ช่วยองค์กรไทยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล ระบุองค์กรต้องมี 5 องค์ประกอบสำคัญจึงจะสำเร็จ ย้ำเรื่องคนและวัฒนธรรมองค์กรท้าทายที่สุด
พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร กลุ่มบริษัทแพคริม กล่าวในงานสัมมนาสดออนไลน์ “Accelerating Digital Transformation” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันไม่ได้เป็นแค่โครงการของฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ควรถือเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญขององค์กรที่ผู้นำองค์กรจะต้องเป็นผู้ผลักดันด้วยตัวเอง โดยรับฟังความเห็นจากคนรุ่นใหม่และลูกค้า รวมทั้งผนึกกำลังและสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกองค์กรทั้งนี้ การทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 5 ด้าน ได้แก่ 1.ลูกค้า 2. กระบวนการ 3.ข้อมูล 4.เทคโนโลยี 5. คนและวัฒนธรรมองค์กร
“คนและวัฒนธรรมองค์กร ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่สุดในการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ซึ่งในเรื่องนี้ไม่มีทางลัด และเป็นเรื่องที่ทีมผู้นำขององค์กรจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม และผลักดัน” ซีอีโอแพคริมกล่าว
บัญชา ธรรมารุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมพอส โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด (AMPOS) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน “The Most Innovative Cloud Company” ใน China-APAC และ Technology Partner จาก Amazon Web Services กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้องค์กรมองว่าการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันเป็นเรื่องที่ “Do or Die” หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้หากองค์กรต้องการจะอยู่รอดต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน
“การทรานส์ฟอร์ม ก็เหมือนกับการกลายพันธุ์ขององค์กร ที่ต้องเปลี่ยน DNA ขององค์กรอย่างสิ้นเชิง มันเป็นเรื่องยากเพราะต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตและวิธีการทำงาน หลายองค์กรไปตั้งต้นที่เทคโนโลยี แต่การทบทวน ขับเคลื่อนกลยุทธ์ว่าจะใช้เทคโนโลยีเติบโตธุรกิจอย่างไรนั้นสำคัญกว่า เรื่องคนและวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพื่อจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้”
บัญชา กล่าวอีกว่า เพราะลูกค้ามีความคาดหวังมากขึ้น อยากได้อะไรที่ตอบโจทย์ระดับบุคคลมากขึ้น องค์กรจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน กระบวนการ โดยนำ เทคโนโลยี และ ข้อมูล มาใช้งาน จากคำกล่าวที่ว่า ข้อมูลเปรียบเสมือนน้ำมันในโลกอนาคต (Data is the new oil) นั้น แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลจำเป็นและสำคัญมาก แต่การนำไปใช้ให้ตอบโจทย์ธุรกิจนั้นไม่ง่าย จึงได้แลกเปลี่ยน framework ง่ายๆ ที่ AMPOS เข้าให้คำปรึกษาองค์กรต่างๆ ในการจัดเก็บ แสดงผล และนำข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้ประโยชน์ต่อกระบวนการ ตลอดระบบนิเวศธุรกิจ รวมถึงการเลือกใช้ จัดการเทคโนโลยี เช่น AI, Machine Learning ได้อย่างเหมาะสมกับธุรกิจ เหล่านี้ทำให้เห็นว่าทั้งเรื่อง ลูกค้า ข้อมูล เทคโนโลยี และกระบวนการ ควรถูกมองควบคู่กันเชื่อมโยงกันไปอย่างกลมกลืน และสิ่งที่ร้อยเรียงองค์ประกอบเหล่านี้ให้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้จริงๆ ก็ยังอยู่ที่คนและวัฒนธรรม
แมนรัตน์ ประดิษฐ์วงศ์สิน Senior Consultant แพคริม กล่าวเสริมว่า การทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันควรจะเริ่มจากลูกค้า เพราะในโลกยุค “VUCA” ลูกค้าเองก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย โดยองค์กรจะต้องอ่านความต้องการของลูกค้าให้ออกว่าความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าคืออะไร ซึ่งรวมถึงความต้องการที่ซ่อนอยู่ (Implicit Need) ที่ลูกค้าเองก็อาจจะอธิบายออกมาไม่ได้หรือไม่รู้ตัว การใช้หลักการแนวคิด ของกูรูด้าน Innovation อย่าง Dr. Clayton M. Christensen อย่าง “Jobs to Be Done” จะช่วยให้องค์กรถอดความต้องการนี้ออกมาสร้างเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการเร่งและขับเคลื่อนดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน
วิกรม คงสกุลยานนท์ Chief Solution Officer, PacRim Digital กล่าวว่า แพคริม ซึ่งมี “Proven Contents & Frameworks” มีผู้เชี่ยวชาญ และการลงมือทำจริง เป็นขั้นเป็นตอนวัดผลได้ ในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการพัฒนาคน ผู้นำ และวัฒนธรรมองค์กร ได้จับมือกับ AMPOS ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในกรุงเทพฯ และเซี่ยงไฮ้ มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และกระบวนการ เพื่อช่วยองค์กรไทยทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันให้ประสบผลสำเร็จ
โดยบริษัทยังคงจับมือกับพาร์ทเนอร์รายอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยกันยกระดับขีดความสามารถขององค์กรไทยและประเทศไทยในเวทีโลก และเพื่อสนับสนุนพันธกิจใหม่ของแพคริมในการช่วยองค์กรไทยปรับเร่งสปีดการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มผลลัพธ์ในการดำเนินงาน และเพื่อให้องค์กรต่างๆ ได้ขับเคลื่อนดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันให้เห็นผลรวดเร็วที่สุด ในเร็วๆ นี้ แพคริมจะจัด workshop สำหรับผู้บริหารที่สนใจมาร่วมทบทวน ปรับหางเสือ และจัดทำกลยุทธ์เพื่อเร่งกระบวนการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันร่วมกัน