xs
xsm
sm
md
lg

3 คนดังรักษ์โลก!! รัศมี แข - สิงห์ วรรณสิงห์-โตโน่ ภาคิณ รณรงค์แก้ปัญหาขยะ เปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รัศมี แข - สิงห์ วรรณสิงห์-โตโน่ ภาคิณ” นำเสนอสารคดีสั้น 3 ตอน บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันแก้ปัญหาขยะ และเปลี่ยนให้เป็นพลังงานสะอาด พร้อมเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์หลายช่องทาง

ปัญหาขยะในประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้น และส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ เหล่าคนดังที่มีใจรักในธรรมชาติ “รัศมี แข ฟ้าเกื้อล้น” “ สิงห์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” และ “โตโน่ ภาคิณ คำวิลัยศักดิ์” จึงร่วมกันเป็นตัวแทนสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับวงจรของขยะ ลงมือสำรวจการเดินทางของขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง และเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานสะอาด ผ่านโครงการ “Waste to Energy การเดินทางของขยะ ที่ทุกคนต้องรู้”ภายใต้แนวคิด “Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

รัศมี แข ฟ้าเกื้อล้น
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมากถึง 27.8 ล้านตัน หรือเฉลี่ยประมาณ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวันเลยทีเดียว โดยจำนวนขยะทั้งหมด แบ่งออกเป็นขยะที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี 10.88 ล้านตัน ขยะที่ได้รับการนำกลับไปใช้ประโยชน์ผ่านการรีไซเคิล 9.58 ล้านตัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังเหลือขยะอีกกว่า 7.36 ล้านตัน ที่ถูกกำจัดแบบไม่ถูกต้องและส่งผลเสียตามมามากมาย ด้วยสถานการณ์ปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น จึงเป็นตัวจุดประกายให้เกิดโครงการ “Waste to Energy การเดินทางของขยะ ที่ทุกคนต้องรู้” เพื่อสร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะที่ดีขึ้น และนำขยะไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมองว่าเป็นทางออกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลงได้

งานนี้ ได้รับความร่วมมือจากเหล่าดาราที่มีใจรักในสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 ท่าน โดยแต่ละท่านจะมีหน้าที่นำเสนอเรื่องราวการเดินทางของขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง โดยแบ่งออกเป็นสารคดีสั้น 3 ตอน เริ่มจากตอนที่ 1 “จุดเริ่มต้นของขยะคือ ที่บ้าน” โดยรัศมี แข หนุ่มไทยที่โตในสวีเดน ผู้ได้รับการฝึกให้แยกขยะตั้งแต่เด็ก มานำเสนอเรื่องราวการใช้ชีวิตหนึ่งวันว่ามีขยะใกล้ตัวประเภทใดบ้าง และวิธีจัดการแยกขยะที่ถูกต้องต้องทำอย่างไร เพื่อแสดงให้เห็นถึงจำนวนขยะที่ถูกสร้างขึ้นในชีวิตประจำวันจากคนเมืองแบบตน

สิงห์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
หลังจากนั้นจะส่งไม้ต่อให้นักเคลื่อนไหวทางความคิด ขวัญใจคนรุ่นใหม่ สิงห์ วรรณสิงห์ ที่จะนำเสนอเรื่องราวการเดินทางของขยะไปยังโรงงานไฟฟ้าในตอนที่ 2 “รถขยะ กองขยะของเมือง” และพาผู้ชมไปลงพื้นที่ทิ้งขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์และประเภทของกองขยะในประเทศไทย

ส่วนตอนสุดท้าย “ปลายทางของขยะ” นำเสนอโดยศิลปินผู้มีหัวใจรักษ์โลก โตโน่ ภาคิณ รับหน้าที่ให้การเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการดำเนินการหลังจากขยะเดินทางถึงโรงไฟฟ้าแล้ว เพื่อสื่อสารให้ประชาชนเห็นว่า หากขยะถูกแยกมาอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ขยะก็คือทรัพยากรที่มีค่าสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่และรวมถึงเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้

หลังจากได้เดินทางไปสัมผัสและได้เห็นสถานการณ์กองขยะมูลฝอยชุมชนกว่า 5 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ นักสารคดีผู้รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่าง วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เผยว่า เมืองไทยมีขยะวันละ 78,000 ตัน จากนั้นขยะเหล่านี้จะถูกส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ นอกเมือง เราจึงไม่รู้ว่าแต่ละวันขยะจาการบริโภคของเรานั้นมากมายขนาดไหน และการฝังกลบในบ่อขยะต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก หากเรายังไม่สามารถลดปริมาณขยะลงได้ ต่อไปก็จะมีพื้นที่บ่อขยะนอกเมืองลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ส่วนการกำจัดขยะด้วยการเผายิ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้นทั้งในระยะสั้น คือฝุ่นควันจากการเผา ไปจนถึงระยะกลางและระยะยาวคือภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำท่วม ฝนแล้ง ฤดูกาลผิดเพี้ยน ที่มากไปกว่านั้น ขยะที่ไม่ได้ผ่านการคัดแยกก็เป็นได้แค่มลพิษทางดิน อากาศ น้ำ พืช และสัตว์ สุดท้ายมลพิษพวกนี้ก็วนกลับมาเข้าสู่ร่างกายเราทุกคน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบสารพิษ ไมโครพลาสติก หรือ แบคทีเรียและเชื้อโรค


“การพัฒนาระบบการจัดการขยะของประเทศนั้นเริ่มได้จากระดับองค์กร ตั้งแต่ครัวเรือนไปจนสถานประกอบการ ประชาชนจะต้องปรับวิสัยทัศน์และละทิ้งความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการแยกขยะว่าสุดท้ายแล้วขยะที่คัดแยกไปก็ถูกเทรวมกัน ซึ่งหลังจากที่ได้ลงพื้นที่สัมผัสเส้นทางของขยะด้วยตัวเอง พบว่าที่จริงมีคนต้องการขยะเยอะมาก เพราะสามารถสร้างรายได้ ทั้งคนรับซื้อและเก็บของเก่า และเจ้าหน้าที่เก็บขยะ ขอเพียงเราช่วยแยกขยะให้ถูกประเภท เช่น การแยกขยะอย่างง่าย คือขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ (กระดาษ แก้ว พลาสติก และอลูมิเนียม) เป็นต้น แต่หากองค์กรไหนสามารถแยกได้ละเอียดกว่านั้น ขยะที่คนไม่ต้องการจะยิ่งมีมูลค่ามากขึ้น เพราะโรงงานรับซื้อมีต้นทุนในการคัดแยกลดลง หรือหากเราสามารถสร้างโมเดลธุรกิจให้มีตู้รับซื้อขยะอัตโนมัติอยู่ทั่วไป คนก็จะเห็นว่าการแยกขยะเป็นเรื่องง่ายและขยะเป็นสิ่งที่ยังมีคุณค่า”

ในส่วนของการนำขยะมาผลิตเป็นพลังงาน แนวคิดหลักคือการกำจัดขยะอย่างเหมาะสม โดยพลังงานไฟฟ้าที่ได้คือผลพลอยได้ ซึ่งจากการไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะที่ผ่านมา ทำให้มองเห็นโอกาสว่าโรงงานและภาครัฐสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในชุมชนได้ หากจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ วรรณสิงห์ ยังเสนอแนะต่อยอดจากหลักการ 3R ซึ่งประกอบด้วย การลดปริมาณขยะ (Reduce), การใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) ว่า “หลักการ 3R เป็นแนวคิดที่เข้าใจได้ง่ายและสังคมรณรงค์กันมานานแล้ว แต่แนวคิดนี้ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าผลกระทบของปัญหาขยะในประเทศขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ทั้งที่จริงแล้วอยากให้เพิ่มคำว่า Reform หรือ การปฏิรูป การปรับปรุงระบบจัดการขยะของประเทศ 

เริ่มตั้งแต่โครงสร้างหรือกฎหมายที่มาส่งเสริมกระบวนการขจัดขยะ การสร้างมาตรฐานการจัดการขยะให้ทุกชุมชนสามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยภายใต้มาตรฐานเดียวกันที่สามารรถตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน แต่ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นเลย หากประชาชนไม่มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการจัดการขยะสำคัญต่อตัวเราและสังคมขนาดไหน ซึ่งนี่คือความท้าทายที่สุด แต่เป็นโอกาสที่สำคัญมากต่อประเทศของเรา”

โตโน่ ภาคิณ คำวิลัยศักดิ์
โครงการ “Waste to Energy การเดินทางของขยะ ที่ทุกคนต้องรู้” มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด รวมถึงการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน โดยตระหนักว่าประชาชนควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ขยะในบ้านเราเสียก่อน จึงจะก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากการสร้างการเรียนรู้สารคดีสั้นทั้ง 3 ตอน ที่ครอบคลุมจุดเริ่มต้น การเดินทาง ปลายทางของเส้นทางแห่งขยะ และยังให้ความสำคัญต่อการจัดการขยะ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนผู้สร้างขยะและใช้ไฟฟ้า มีส่วนร่วมช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ ให้เกิดการใช้ทรัพยากรสูงสุด โดยนำขยะมาแปรรูปเป็นของใช้ หรือขยะอินทรีย์ สามารถย่อยสลายและทำเป็นก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยหมักได้ ส่วนขยะมูลฝอยที่ไม่เหมาะจะนำไปรีไซเคิลหรือทำปุ๋ย จะถูกส่งเข้าโรงงานไฟฟ้าขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดการนำเข้าพลังงานหรือเชื้อเพลิงจากต่างประเทศอีกด้วย

ร่วมตะลุยและติดตามสารคดีการเดินทางของขยะทั้ง 3 ตอนผ่านโซเชียลมีเดียของอินฟลูเอนเซอร์ทั้ง 3 ท่าน ได้ดังนี้
- ตอนที่ 1: “จุดเริ่มต้นของขยะคือ ที่บ้าน” รับชมผ่าน อินสตาแกรม และ เฟสบุ๊คเพจ Rusameekae
- ตอนที่ 2: “รถขยะ กองขยะของเมือง” รับชมผ่าน เพจเฟสบุ๊ค Wannasingh หรือ ช่องยูทูป เถื่อนChannel
- ตอนที่ 3: “ปลายทางของขยะ” รับชมผ่าน อินสตาแกรม Mootono29