xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สาธิต วิทยากร” ชูการสร้างคุณค่าร่วม ได้ใจคน-ตอบโจทย์ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 11 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ย้ำแนวทางยกระดับคุณภาพการให้บริการที่มีความยั่งยืน ด้วยการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV กับชุมชนและสังคมในพื้นที่ตั้งของโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่งที่บริหารจัดการ

ดร. สาธิต วิทยากร กรรมการบริษัทและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจเพื่อสุขภาพ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวถึงแนวทางยกระดับคุณภาพการให้บริการ การเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจสูงสุด ด้วยการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Share Value (CSV) ว่าเป็นแนวปฏิบัติของกลุ่มบริษัทที่ตอบโจทย์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งสังคมและธุรกิจ และไปเสริมการขยายและบริหารธุรกิจของโรงพยาบาลที่เรานำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับคุณภาพของการให้บริการ

แนวคิดหลักของการทำ CSV ของโรงพยาบาล คือการนำทีมแพทย์และพยาบาลลงพื้นที่ชุมชน ไปเยี่ยมประชาชนตามบ้าน และสอบถามความต้องการที่แท้จริงของชุมชน วิธีการทำงานแบบนี้นำไปสู่การสร้าง “คุณค่าร่วมกัน” คือชุมชนได้รับการดูแล และเลือกที่จะมาใช้สิทธิ์ประกันสังคม สิทธิ์บัตรทองกับทางโรงพยาบาล

“อีกอย่างเราพยายามจ้างงานคนในท้องถิ่นให้มากขึ้น เช่น หลายคนที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพก็อยากจะกลับบ้าน การขยายโรงพยาบาลไปในต่างจังหวัด ก็เหมือนเป็นการเอาคนกลับบ้านเกิด และเขาก็สามารถทำงานและดูแลครอบครัวของตัวเองได้อย่างมีความสุข เช่นเดียวกับการจัดซื้อสินค้าที่นำมาใช้ในโรงพยาบาล เราพยายามใช้สินค้าท้องถิ่น เมื่อเราเป็นโรงพยาบาลเอกชน เราก็ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในพื้นถิ่นนั้น”

“เรามีจุดประสงค์ที่จะทำงานร่วมกับชุมชน สิ่งสำคัญคือการทำความรู้จักพื้นที่เหล่านั้นให้มากขึ้น” ดร.สาธิต บอกว่า วิธีการทำงานของโรงพยาบาล จึงเป็นการเลือกผู้บริหารที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ เช่นเดียวกับการลงพื้นที่ชุมชน ที่ต้องเข้าหาผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือผู้นำชุมชน เพื่อเรียนรู้ถึงความต้องการของชุมชนนั้นอย่างแท้จริง

“เราเข้าไปหาหัวหน้าชุมชน ไปพูดคุยกับเขา เวลาเราไปเยี่ยมตามบ้าน เขาก็ตามไปด้วย ซึ่งเขาจะทราบว่าบ้านนี้มีคนไข้ติดเตียง หรือว่าบ้านนี้บ้านนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ความตั้งใจของเราไม่ใช่การเข้าไปรักษาคนกลุ่มนั้นทั้งหมด แต่เราเข้าไปแนะนำตัวให้พวกเขาได้รู้จักเรา ซึ่งเขาก็จะรู้จักและมองเห็นจากการทำงานของเราเอง”

ปัจจุบัน เรามีธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และ 2 โรงพยาบาลพิษณุเวช โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร โรงพยาบาลศิริเวชลำพูน โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ รวมมีแพทย์ทั้งสิ้นกว่า 200 คน และพนักงานอีกประมาณ 2,000 คน

เมื่อก่อนโรงพยาบาลเอกชนภายใต้บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ มีโครงการ CSR อยู่เสมอ ทั้งการปลูกป่า บริจาคสิ่งของ หรือการปรับปรุงโรงเรียน แต่ ดร.สาธิต มองว่า การทำธุรกิจที่เน้นประโยชน์ของทุกฝ่ายน่าจะตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคนี้มากที่สุด เราจึงนำวิธีการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV เข้ามาใช้ในการทำงานของเราตั้งแต่ปี 2563 ประกอบด้วย ความต้องการในชุมชน, ความชำนาญของธุรกิจ และโอกาสในการทำธุรกิจ

“เมื่อเอาสามข้อมาร้อยเข้าด้วยกัน มันเป็นทั้งความต้องการของชุมชน สิ่งที่เราทำได้ และสามารถสร้างธุรกิจได้ด้วย มันก็จะทำให้โจทย์ตรงนี้มีความยั่งยืน และสามารถทำได้ตลอดไป เพราะทุกคนล้วนได้ประโยชน์” ดร.สาธิต กล่าว

แม้เริ่มทำโครงการนี้ได้ไม่นาน ก็ต้องมาสะดุดจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่พอสถานการณ์โรคระบาดผ่านพ้นไป เราจะเพิ่มดีกรีของโครงการนี้แน่นอน ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้กลุ่ม “สาธารณะ” ที่เป็นต้นแบบของการทำธุรกิจเพื่อสังคม มาร่วมคิด ออกแบบ และวางกลยุทธ์ในการทำงานต่อไป

ถึงตอนนี้ เราเดินหน้าโครงการนี้ไปบ้างแล้วในบางจังหวัด เช่น โรงพยาบาลศิริเวชลำพูน ที่จังหวัดลำพูน และโรงพยาบาลพริ๊นซ์ สุวรรณภูมิ ในกรุงเทพฯ แม้จะเป็นโครงการที่เพิ่งเริ่ม และต้องใช้เวลามากกว่าการทำธุรกิจในรูปแบบอื่นๆ แต่เขาเชื่อมั่นว่า ผลลัพธ์จะทำให้ธุรกิจและสังคมสามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างยั่งยืน