xs
xsm
sm
md
lg

กรมการข้าวจับมือ GIZ เปิดตัว Thai Rice NAMA ปรับการทำนาวิถีใหม่ ด้วยเทคนิค 4 ป.เพิ่มผลผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (17 มีนาคม 2564) นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานพิธีเปิดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโครงการ “ไทย ไรซ์ นามา” (Thai Rice NAMA) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าว และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิด ณ ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เปิดตัวโครงการ Thai Rice NAMA เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมไปสู่วิถีการทำนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่าน 4 เทคโนโลยี หรือ เทคนิค 4 ป. คือ 1.การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ให้ราบเรียบสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลงนา ช่วยให้ชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิต คุณภาพ และกำไรที่ได้จากการผลิตข้าว 2.การลดการใช้น้ำในนาข้าวด้วยการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง 3.การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และ 4.การแปรสภาพฟางข้าวและตอซังข้าวแบบปลอดการเผาซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

กรมการข้าวมุ่งดำเนินงานส่งเสริม ถ่ายทอดความรู้ผ่านนาแปลงใหญ่ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมาย โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวท่ามกลางสภาวะการจัดสรรน้ำที่ไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง และยังเป็นการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมปรับพื้นที่อย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถทำนาได้ในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง สามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง อีกทั้งเป็นพื้นที่สาธิตให้กับชาวนาในพื้นที่ใกล้เคียง

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถทำให้เกิดการยอมรับของชาวนาในวงกว้าง ทั้งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่อื่น ๆ ในการดำเนินงานพัฒนาข้าวและชาวนา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทย ไปพร้อม ๆ กับการดูแลสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม” นายอาชว์ชัยชาญ กล่าว


มาตรฐานข้าวยั่งยืน GAP++ ด้วยเทคนิค 4 ป

ที่มาของโครงการ “เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA)” ที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี หรือ GIZ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน NAMA FACILITY ในการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำเทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศมาถ่ายทอดแก่ชาวนาในจังหวัดนำร่อง ตามเป้าหมาย 100,000 ครัวเรือน (ระยะเวลาของโครงการ 5 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564-2566) เพื่อสร้างชาวนารักษ์โลก ใน 6 จังหวัดนำร่องดังกล่าวให้เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญ ตาม “มาตรฐานข้าวยั่งยืน GAP++” ที่เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ดินและน้ำอย่างถูกต้อง เป็นการให้ความสำคัญกับการทำนาที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการลดต้นทุน โดยอาศัยเทคนิค “4 ป”


กำลังโหลดความคิดเห็น