รมว.ทส. แนะชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยออกจากป่าแก่งกระจาน และควรปรับตัวตามยุคสมัย ไม่ยึดติดกับวัฒนธรรมการทำกินดั้งเดิม เพราะที่ดินมีจำกัด ยืนยันไม่ยอมให้มีการทำลายป่าต้นน้ำ
เมื่อวานก่อน (24 ก.พ.2564) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีชาวบ้านบางกลอยที่บุกรุกพื้นที่ป่าแก่งกะจาน และทางอุทยานแห่งชาติแก่งชาติ ได้ใช้วิธีการทวงคืนผืนป่า ด้วย “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรบุรี” ว่า เจ้าหน้าที่กำลังต่อรองให้ชาวบ้านบางกลอยออกจากป่าแก่งกระจานซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานลงมาอยู่ในที่ดินที่รัฐจัดให้และจะต้องจบด้วยวิธีการเจรจาจะไม่มีการใช้ความรุนแรงเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ดินทำกินที่ให้รัฐจัดให้คนละ 150 ไร่นั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะหากกลุ่มอื่นเรียกร้องให้รัฐจัดหาที่ดินทำกินให้บ้างก็อาจจะต้องหาที่ดินนับหมื่นไร่
"ผมเคยพูดมาก่อนแล้วว่าเรื่องของวัฒนธรรมหรือประเพณีอาจจะใช้ไม่ได้ในยุคนี้ การจะให้ธรรมชาติปรับมาหาเราไม่ได้ เราต้องปรับไปหาธรรมชาติ ไม่ใช่การดูดายปัญหา แต่ประชาชนไม่ได้มีแค่ที่บางกลอย อย่ามาปรามาสผมวันนี้เราไม่ได้พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่พูดเรื่องประชาชนไม่มีที่ดินทำกิน อย่าโยงไปเป็นเรื่องอื่น ซึ่งกลุ่มคนบางกลุ่มไม่อยากให้จบ”
"ถ้าปล่อยให้มีการทำลายป่าต้นน้ำแล้วจะเอาน้ำที่ไหนมาทำการเกษตร การทำไร่หมุนเวียนที่นักวิชาการบอกว่ามีประโยชน์ก็ถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะเรามีที่ดินเท่านี้ ไม่เช่นนั้นแก่งกระจานจะกลายเป็นโล้นกระจาน”
.
"จาก 98 คน มาเป็น 1,300 คน ถ้าอีก 20 ปีเพิ่มเป็น 6,000 คนจะทำอย่างไร ถ้าชุมชนอื่น จังหวัดอื่นเขาไม่ได้ก็มีปัญหา ที่แก่งกระจานก็ไม่ได้มีปัญหาทั้งหมด แค่ร้อยกว่าคน อย่ามาดราม่า อย่าไปโยงเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่มีเรื่องชาติพันธุ์ ผมไม่เคยพูดคำนี้ มีแต่ชาตินี้กับชาติหน้า"
ทั้งนี้ วราวุธ กล่าวระหว่างมอบนโยบายการบริหารจัดการไฟป่าและเปิดตัวโครงการ "ชิงเก็บ ลดเผา" ตอนหนึ่งว่า
“มนุษย์ต้องเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ ไม่ใช่ให้ธรรมชาติปรับเข้าหา เพราะคนเพิ่มขึ้น ป่า ที่ดินลดลง ดังนั้นวัฒนธรรมที่ทำกันมาช้านานจะต้องปรับตัว ถ้าต้องการอยู่ไปถึงศตวรรษหน้าไม่ว่าชาติพันธุ์หรือกลุ่มใดก็ต้องปรับตัว"
เมื่อเช้านี้ (26 ก.พ.2564) เพจเฟซบุ๊ค ผ้าขาวม้าติ่งป่า ได้โพสต์คลิปแสดงให้เห็นสภาพป่าแก่งกระจานที่ถูกบุกรุก ซึ่งถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ ในขณะบินไปรับชาวบ้านที่ยังอยู่บนพื้นที่ป่า ซึ่งเห็นว่าพื้นที่ป่าหลายจุดบนภูเขากลายเป็นป่าแหว่งเนื่องจากการทำการเกษตร ทำไร่หมุนเวียน