xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุน “อย่างยั่งยืน” หรือ “สกุลเงินดิจิทัล” อย่างไหนมาแรงกว่ากัน / ธัญญรัศม์ ริลินเกอร์ Arabesque S-Ray

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครดิตภาพ : https://www.cfo.com/ , https://www.eco-business.com/
ในปัจจุบัน คำถามที่ว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือ ESG กับการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล อย่างไหนมีโมเมนตัมมากกว่ากันนั้นยากที่จะตอบ แต่คำถามที่ท้าทายยิ่งกว่าคือ เทรนด์ใหญ่ของการลงทุนทั้งสองประเภทนี้สามารถผนวกเข้าด้วยกันได้หรือไม่ 

เราอยากจะเห็นสถานการณ์ที่ทั้งสองเทรนด์ต่างก็ได้ประโยชน์ หรือชนะด้วยกันทั้งคู่ แต่จากที่ผ่านมาพบว่าการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมากต่อการลงทุนอย่างยั่งยืน

เมื่อวิเคราะห์สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซี่ผ่านเลนส์ของการลงทุนอย่างยั่งยืน หรือ ESG ในสามมุมมองที่แตกต่างกัน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) พบว่ามีความแตกต่างกันมากกว่าจะไปในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ

ด้านสิ่งแวดล้อม: กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมที่ใช้โดยสกุลเงินดิจิทัลชั้นนำ เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin), อีเธอร์เรียม (Ethereum) และ ไลท์คอยน์ (Litecoin) ซึ่งโดยทั่วไปเรียกว่า "การขุด" นั้น พบว่าเป็นการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพอย่างไม่น่าเชื่อ และการขุดนั้นได้สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล กล่าวคือพลังงานที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรมบิทคอยน์หนึ่งรายการนั้นเทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้โดยครัวเรือนทั่วไปในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหนึ่งเดือน และที่แย่ไปกว่านั้น หากเราพิจารณาว่านักขุดชาวจีนนั้นมีสัดส่วนประมาณ 70% ของการผลิตบิทคอยน์ แม้ว่าพวกเขาจะใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นไฟฟ้าพลังน้ำในช่วงฤดูร้อนที่ฝนตก แต่ในช่วงที่เหลือของปีพวกเขาก็ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นถ่านหินเป็นหลักอยู่ดี

ด้านสังคม: แม้ว่าคริปโตเคอเรนซี่มีประโยชน์ในด้านความเป็นส่วนตัวที่ดีเยี่ยม แต่อีกด้านหนึ่งคริปโตเคอเรนซี่เหล่านี้ได้อำนวยความสะดวกให้กิจกรรมทางอาชญากรรม รวมถึงการหลีกเลี่ยงภาษี และการหลีกเลี่ยงการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา และยังความขัดแย้งด้านประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคอีกด้วยเนื่องจากคริปโตเคอเรนซี่เป็นสินทรัพย์มีความผันผวนสูง
ด้านการกำกับดูแล: เป็นการยากที่จะใช้แนวคิดการกำกับดูแลกับสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากสกุลเงินดิจิทัลนั้น ใช้วิธีการกระจายอำนาจออกไป หรือ Decentralized หมายความว่า ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง และไม่มีฝ่ายใดเป็นศูนย์กลางในการควบคุม อย่างไรก็ดี สกุลเงินดิจิทัลจำนวนมากจะมีการรวมกลุ่มของนักขุด (Mining Pool) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความเร็ว และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการขุด การระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชน หรือ Initial Coin Offering (ICO) ซึ่งสร้างสกุลเงินดิจิทัลจำนวนมากในอดีตที่ผ่านมา มักจัดตั้งขึ้นภายใต้โครงสร้างทางกฎหมายที่ซับซ้อนเพื่อให้ผู้สร้างคริปโต นั้นหลีกเลี่ยงการปรากฏตัวในการออกหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน สิ่งเหล่านี้นับเป็นการกำกับดูแลที่ดีหรือ
ถึงตอนนี้มันจึงแฟร์ที่จะตั้งคำถามว่า คนรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียลนั้นสนใจอะไรมากกว่ากันระหว่างการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล

เราจะพูดอะไร

จากบทความล่าสุดที่ทาง Arabesque S-Ray เผยแพร่ ส่วนหนึ่งได้กล่าวว่า ไม่ว่าอนาคตของบิทคอยน์จะเป็นอย่างไร พวกเราทุกคนมีความรับผิดชอบที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบิทคอยน์เป็นสีเขียวอย่างแท้จริง

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับบิทคอยน์นั้นกำลังพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายยังขาดความเร่งด่วนในการควบคุมสกุลเงินดิจิทัลนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่กลายเป็นอุตสาหกรรมระหว่างประเทศด้วยตัวมันเองอย่างรวดเร็วนี้ ในขณะที่รัฐบาลของแต่ละประเทศกำลังดำเนินการมากขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เช่น ในอุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมการขนส่ง ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของบิทคอยน์กำลังทำลายเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ เหล่านี้

จากข้อมูลจากข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แสดงให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการขุดบิทคอยนั้นเทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณระหว่าง 53 ถึง 127 ล้านเมกะตัน หากยึดตัวเลขขอบบนนี้จะทำให้บิทคอยน์เป็นบริษัทที่ปล่อยมลพิษสูงสุดอันดับ 6 ของโลกตามฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษของ Arabesque S-Ray เลยทีเดียว

เกือบทั้งหมดของบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากนั้น คือบริษัทสาธารณูปโภคต่างๆ โรงงานภาคการผลิตต่างๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ส่งผลเสียอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อย่างน้อยก็อยู่ภายใต้กฎระเบียบของรัฐบาลที่กำหนดให้มีการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งแตกต่างจาก บิทคอยน์ นอกจากนี้ การปล่อยมลพิษของอุตสาหกรรมเหล่านี้มีการสร้างประสิทธิผลกล่าวคือได้ผลิตไฟฟ้าและผลิตวัตถุดิบให้กับสังคมในแบบที่บิทคอยน์ที่ยังคงคลุมเคลืออยู่นั้นไม่ได้ทำ

การเข้ามาของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดคริปโตเคอเรนซี่ (เช่น บริษัทเทคยักษ์ใหญ่เทสล่า เมื่อเร็วๆ นี้) อาจทำให้ปัญหาข้างต้นรุนแรงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถเพิ่มแรงจูงใจในการผลิต "บิทคอยน์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" และผลักดันให้บริษัท ต่างๆ ซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซที่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเช่นกัน

คริปโตเคอเรนซี่ทางเลือกที่พยายามแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของบิทคอยน์กำลังออกมาแล้วหนึ่งในนั้นคือ คาร์ดาโน
(Cardano)
ซึ่งมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้น เนื่องจากบล็อคเชนที่ใช้ตรวจสอบการทำธุรกรรมนั้น ได้พิจารณาจากจำนวนเหรียญที่ผู้เข้าร่วมเครือข่ายถืออยู่ แทนที่จะเป็นปริมาณพาวเวอร์ ประมวลผลการคำนวณที่ผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวมี

เรามาคอยติดตามกันให้ดี การลงทุนในอนาคตอาจเป็นทั้ง Green และ Digital!

บทความโดย ธัญญรัศม์
ริลินเกอร์

Arabesque S-Ray ผู้ให้บริการข้อมูล คำปรึกษา และโซลูชั่นด้านความยั่งยืน (ESG) โดยมีการประเมินความยั่งยืนในมิติต่างๆของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ข้อมูลอัพเดททุกวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น