คณบดีคณะกายภาพบำบัดฯ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเต็ม MV ต้อนรับนักศึกษาแบบคูลๆ ในลุคแร็ปเปอร์ แนะนำหลักสูตรสร้างคนรุ่นใหม่ การเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวคิด ทัศนคติ หลักการเรียนรู้ และไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่
ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “ผมและทีมตั้งใจผลิตมิวสิกวิดีโอ (Music video) หรือ MV “คณบดีกายภาพบำบัดฯ ออกมาแร็ป” ขึ้นมาเพื่อสร้างสีสันในการต้อนรับนักศึกษา ในขณะเดียวกันหลักสูตรกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกแบบและพัฒนาการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวคิดทัศนคติ หลักการเรียนรู้ และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้มีสมรรถนะตามความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีความรอบรู้แบบพหุปัญญา (Multiple Intelligences) ทั้งด้านภาษา ตรรกะ มิติสัมพันธ์ มีความเข้าใจตนเองและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี”
รวมทั้ง มีความสามารถในการส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของตนเอง พร้อมปรับตัวกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา สามารถใช้เทคโนโลยีอย่างเฉลียวฉลาด คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์สร้างนวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ มีความคิดเชิงบวกและทักษะการเป็นผู้นำและผู้ประกอบการ รวมถึงสามารถให้บริการสุขภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
“หลักสูตรกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต เราคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกและผลกระทบของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง ซับซ้อน ตลอดเวลา เราออกแบบหลักสูตรที่วางแนวทางในการรับมือกับความท้าทายในวิชาชีพกายภาพบำบัด”
ไม่ว่าจะเป็น 1) ความเป็นสังคมเมืองกับพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน ที่มักเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น
2) จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นกับระบบบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ เช่น ระบบบริการกึ่งเฉียบพลัน (Intermediate Care) เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมถึงแนวทางประกอบอาชีพใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับผู้สูงอายุให้เป็นผู้สูงอายุคุณภาพ (Active Aging)
3) ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและสื่อสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริการทางกายภาพบำบัดด้วยระบบทางไกล หรือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยงานเกิดเป็นอาชีพใหม่ที่ยังไม่มีในปัจจุบัน
4) โลกไร้พรมแดน (Globalization) ความสะดวกในการเดินทาง การเปิดประเทศและการให้วีซ่าเข้าประเทศมีข้อจำกัดน้อยลง รวมไปถึงระบบสื่อสารและการเดินทางที่สะดวกและทันสมัย ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างมาก การเรียนรู้และการทำงานเพื่อความเข้าใจในพหุวัฒนธรรมและการกำหนดมาตรฐานการบริการในระดับสากลให้เป็นมาตรฐานเดียวใช้ทั่วโลก
คณบดีคณะกายภาพบำบัดฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเด็นความท้าทายทั้ง 4 ข้อ นอกจากจะสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของหลักสูตรที่สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นความต้องการกำลังคนในวิชาชีพกายภาพบำบัดที่มีสมรรถนะหลากหลาย ปรับตัวได้ดีในสถานการณ์ต่างๆ จึงมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้น