xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอแพคริมชี้โควิด-19 พลิกมุมมองผู้นำองค์กร- HR

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพคริมชี้บทเรียนสำคัญจากโควิด-19 ผู้นำไทย “แกร่งขึ้น” แต่ยังเผชิญหน้ากับความท้าทายในหลายมิติ แนะฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ปรับมุมมองใหม่สู่การทำงานเป็นพันธมิตรกับผู้บริหารในสายงานต่างๆ และเน้นการพัฒนาที่ตอบโจทย์เป้าหมายของหน่วยธุรกิจ

นางพรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ แพคริมกรุ๊ป กล่าวว่าจากการพูดคุยกับผู้นำองค์กรหลายแห่งในประเทศไทยพบว่า หลายคนมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมากและมีความแข็งแกร่งมากขึ้นนับจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา

“หนึ่งปีที่ผ่านมาสัมผัสได้เลยว่าผู้นำหลายคนเปลี่ยนไปคือถ่อมตนมากขึ้น และก็มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะเรารู้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่มันไม่เหมือนเดิมจริงๆ เรายอมรับว่าเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง เราฟังเก่งขึ้น ให้เกียรติคนอื่นมากขึ้น เราให้คุณค่าเรื่องของความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น”

นางพรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ แพคริมกรุ๊ป
อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้หลายองค์กรตระหนักถึงความท้าทายในการยกระดับขีดความสามารถของคนในองค์กรที่มีเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก หลายองค์กรจึงนำเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่ตัดสินความอยู่รอด และความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงขององค์กร จึงเป็นโอกาสและความท้าทายของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ที่จะแสดงบทบาทในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะที่เรียกว่า "Soft Skills หรือ Power Skills" ควบคู่ไปกับการพัฒนา "Hard Skills" หรือทักษะทางเทคนิคต่างๆ ให้กับบุคลากรในองค์กร

“Hard Skills บางทีหมดอายุเร็ว เพราะสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องอัพเกรดตลอดเวลา แต่ Power Skills สร้างยากกว่าเยอะ ต้องอาศัยความมุ่งมั่น อดทนและกระบวนการในการสร้าง แต่สร้างแล้วอยู่กับเราตลอดชีวิต ตัวอย่างเช่น วินัยการวางแผนหรือจัดการเวลา ทักษะการสื่อสาร สร้างแล้วมันอยู่กับตัวเราเอง ทำให้คนของเรามีความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัว มีความอดทน ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค”

อีกแนวโน้มที่กำลังมาแรงคือ "เทคโนโลยี" จากผลสำรวจของแพคริมพบว่าองค์กรต่างๆ มองว่าคนในองค์กรประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะรองรับความท้าทายในธุรกิจทั้งในวันนี้และในอนาคต ดังนั้น เทคโนโลยีต่างๆ เช่น PacD หรือ All Access Pass จึงเข้ามาตอบโจทย์ใหญ่นี้ ในการช่วยยกระดับขีดความสามารถของคนจำนวนมากให้ได้ในระยะเวลาสั้นและงบประมาณที่จำกัด

“การฝึกอบรมแบบดั้งเดิมซึ่งได้ผลในอดีต แต่ปัญหาวันนี้คือไม่เหมาะเพราะ scale ไม่ได้ เพราะต้นทุนสูงจึงจำกัดทำได้ไม่กี่คน ดังนั้น 3-4 ปีที่ผ่านมา แพคริมจึงเริ่มก้าวไปสู่ อี-เลิร์นนิ่ง ซึ่งหลายครั้งเนื้อหามันเยอะจนผู้เรียนไม่รู้จะเอาไปใช้กับชีวิตจริงได้อย่างไร และจะเอาไปเชื่อมโยงกับเป้าหมายหรือผลประกอบการของธุรกิจได้อย่างไร วันนี้วงการ Learning & Development จึงมีการพูดถึง Capability Academies ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าหลายรายมาปรึกษา เพราะแพคริมทำเรื่องนี้อยู่ หัวใจของเรื่องนี้คือการบูรณาการการพัฒนาคนเข้ากับเนื้องาน ที่เรียกว่า Learning in the flow of work”

นางพรทิพย์กล่าวอีกว่า ด้วยโจทย์และความท้าทายดังกล่าว ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องปรับวิธีคิดและกระบวนการทำงานไปสู่การทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยธุรกิจหรือผู้นำสายงานต่างๆ ในองค์กร ให้เป็นเจ้าภาพในการทำงานพัฒนาคน โดยที่ฝ่ายบุคคลเป็นผู้สนับสนุน และมุ่งเน้นที่การสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลงานหรือเป้าหมายในการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ

“ถ้าเราคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ผลงานจะไม่รอด เพราะโจทย์ยากกว่าเดิม วันนี้เราบอกว่าด้วยโจทย์ใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม เป้าหมายที่ยากกว่าเดิม วันนี้คนของเราต้องเก่งขึ้นเยอะเลย” ซีอีโอแพคริมกล่าวย้ำ