xs
xsm
sm
md
lg

แนะ 5 วิธี จงหาทำ!! เพื่อไม่ให้เสื้อผ้าในตู้กลายเป็นขยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟาสต์แฟชั่น (Fast fasion) เร่งให้คนยุคนี้ สวมใส่เสื้อผ้าเกินความจำเป็น ถ้าใครบอกว่าตัวเองไม่ได้มีเสื้อผ้าอะไรมากมาย โปรดลองสังเกตง่ายๆ ดูในตู้เสื้อผ้าของเราเอง โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่มักจะบอกว่าหาชุดไปงานโน้นงานนี้ไม่ค่อยได้

แล้วลองแยกเสื้อผ้าในตู้ออกเป็น 3 กลุ่ม กองแรก ที่ใส่บ่อยๆ และชอบใส่อยู่เป็นประจำ กองที่สอง ไม่ค่อยได้ใส่ จะเอามาสวมใส่เป็นบางโอกาส หรือตามเทศกาล และกองที่สาม ซื้อมาเพราะชอบ ซื้อมาตามโปร เพราะเห็นว่าถูก กลัวเสียโอกาส ทั้งๆ ที่ไม่ใช่แนว เหมือนว่าคุณซื้อเผื่อไว้ใช้ในอนาคต

เสื้อผ้า กองที่สองและสาม คือสาเหตุที่ว่าคุณมีเสื้อผ้ามากเกินความจำเป็น พอเห็นของจริงแล้วคงทำให้คุณตระหนักว่าจะต้องเปลี่ยนแปลง (ใครที่อยากรู้ มูลค่าเงินมากแค่ไหน ลองนึกดูแล้วจดราคา บวกตัวเลขดูนะ)

จุดเปลี่ยนที่เริ่มต้นง่ายๆ ที่ตัวคุณเอง คือ คิดให้รอบคอบ ว่าเสื้อผ้าที่ซื้อควรอยู่ในกองแรกมากกว่า และจะทำให้คุณลดการซื้อมาครอบครองโดยไม่สวมใส่

ขณะที่อีกด้าน อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ขยายฐานการผลิต เสื้อผ้าประเภทฟาสต์แฟชั่นกันมาก ปัจจุบันสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่ามีปริมาณขยะจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามากกว่า 10 ล้านตันต่อปี

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ขยะเสื้อผ้าล้นบ้าน และที่เป็นปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ มลพิษจากการผลิตเสื้อผ้า โดยเฉพาะวัสดุที่ใช้ทำเสื้อผ้า ไม่ว่าจะแบบฟาสต์แฟชั่นหรือไม่ก็ตาม เสื้อผ้าในยุคนี้ยังใช้วัสดุประเภทโพลิเอสเตอร์และไนลอนเยอะมาก ซึ่งไม่ย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง และทำให้ปริมาณไมโครพลาสติกอยู่ในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นี่ยังไม่นับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันอีกมากซึ่งล้วนทำให้เกิดมลพิษ

ยิ่งผลิตมาก ผลิตใหม่ตามฟาสต์แฟชั่น สุดท้ายสิ่งที่ผลิตก็กลายเป็นขยะซึ่งยังจะอยู่กับเราอีกนาน


ในคลิปนี้ ลูกแก้ว – ภัสสร์วี ตาปสนันทน์ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าทอออร์แกนิก FolkCharm Crafts จากฝีมือช่างทอพื้นบ้าน มาเล่าถึงความเป็นมา และแนะนำ 5 วิธี ไม่ให้เสื้อผ้าที่สวมใส่กลายเป็นขยะเร็วเกินไป มากเกินไป

1.ใช้เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินินที่เหมาะกับการใช้งานจริงในบ้านเรา
2.ปรับตัวเก่ามาใช้ใหม่ เป็นการซ่อมแซม ดัดแปลงมาใช้ใหม่
3.ดัดแปลงไปสู่สิ่งอื่น เรียกว่าอัพไซเคิล (Upcycle) เช่น จากเศษผ้ามาทำเป็นถุงผ้า กระเป๋าส่วนตัว หรือแม้แต่เอามาทำหน้ากากผ้า (Mask)
4 ย้อมสีธรรมชาติเพื่อใช้ต่อ เช่น มะเกลือ และครามมาย้อม
5 นำมาแลกเปลี่ยนกัน

รายละเอียดแต่ละหัวข้อ (ชมในคลิป) แต่ที่น่าสนใจและน่าตกใจ!! คุณลูกแก้ว เล่าถึงพฤติกรรมการสวมใส่เสื้อผ้าของเด็กรุ่นใหม่ “เด็กๆ ส่วนหนึ่งถ้าเธอใส่เสื้อผ้ามาเจอเพื่อนคนนี้แล้ว 1 ครั้งเธอก็จะไม่ใส่อีกแล้ว เจอเพื่อนครบ 3 กลุ่ม เสื้อผ้านั้นคงจบใช่ไหม”

สอดคล้องกับผลการสำรวจพฤติกรรมคนไทยที่พบว่า ซื้อเสื้อผ้ามาใส่เพียงครั้งเดียวมากถึง 40%

ข้อมูลอ้างอิง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม





เครดิตคลิป Green Thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น