คลิปตัวอย่างช้างป่าดักกินอ้อยบนรถบรรทุก พร้อมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพฤติกรรมช้างป่าที่ออกมากินพืชผลทางการเกษตรจากรถบรรทุกที่ขับอยู่บนท้องถนน และแนะนำวิธีปฏิบัติให้กับผู้ขับรถบรรทุก เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยมีเหตุการณ์ในอดีตเป็นบทเรียนให้เห็นมาแล้ว โดย น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน" เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564
เรื่อง ”วอน หยุดจ่ายส่วย หวั่น ผลประโยชน์ไม่ลงตัว เกิดเหตุดักทำร้าย” ปฐมบท เริ่มต้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เมื่อ”พี่ด้วน ด่านลอย” ช้างป่าสีดอตัวแรกที่เรียนรู้และปรับตัว จากกลิ่น เสียงและแรงสั่นสะเทือนของรถขนาดใหญ่ รวมถึงเศษพืชเกษตรกรรมที่หล่นร่วงบนท้องถนน โดย ช้างสีดอคือช้างตัวผู้ที่ไม่มีงา การต่อสู้เพื่อแย่งถิ่นอาศัยกับช้างป่ามีงาย่อมเสียเปรียบ การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าจึงเป็นทางออกหนึ่งในการอยู่รอด อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติก็ให้ช้างสีดอมีโหนกหัวที่ใหญ่ กะโหลกใหญ่ มันสมองใหญ่ รอยหยักเยอะ คิดและฉลาดกว่าช้างมีงา การคิดค้นหาทางออกในการเอาตัวรอดเช่นนี้ จริงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ไม่งั้น ช้างสีดอคงสูญพันธุ์ไปแล้ว
ต่อมา ก็มีช้างป่าตัวอื่นเลียนแบบและทำตาม ด้วยวิธีการแยบยล โดยช้างป่าจะออกมาบนถนน เปิดทางให้รถวิ่งเลนเดียว พอรถจะวิ่งผ่าน เดินเข้ามาขวางหน้า เลาะเลียบข้างรถ จกอ้อยและมันสำปะหลังกินสบายใจ กลายเป็นด่านตรวจความหล่อแต่ละจุดไปโดยปริยาย
แต่แล้ว วันหนึ่ง ผู้สร้างตำนาน “ด้วน ด่านลอย” ก็จบลง เมื่อพบว่า ได้เสียชีวิต ผลการชันสูตรพบบาดแผลมากมายจากการต่อสู้กับช้างมีงา ซึ่งโดยปกติ การต่อสู่แบบนี้ ใครรู้ว่าแพ้หรือเสียเปรียบก็จะหนี แต่นี้เล่นถึงตาย เพื่อตัดคู่แข่งล้วนๆ ในการครองพื้นที่ตั้งด่านบนถนน พอต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ กลายเป็นคู่แข่งขัน เกิดการทำร้ายเพื่อฉวยโอกาส ปัจจัยเสริมที่สำคัญของการเพลี่ยงพล้ำ น่าจะเป็นเรื่องสุขภาพของพี่ด้วนด่านลอยเอง ที่กินพืชที่มีการตกค้างของสารเคมีต่อเนื่อง เป็นเวลานาน หรือไม่ก็พิษในพืช ข้อสังเกตจากน้องหมอที่ผ่าซากบอกว่า พอตัดชิ้นเนื้ออวัยวะของพี่ด้วนมาวางไว้เพื่อส่งตรวจ มีแมลงมาเกาะแล้วสักพักก็ตายจำนวนมาก น่าสงสัยว่าในตัวมีอะไรอยู่บ้าง ร่างกายเสียสมดุล ก็เสียเปรียบ
หนึ่งตำนานจบ อีกหลายตำนานเริ่มต้น เมื่อปีที่แล้ว มีช้างป่าที่ออกมาดักรถขนพืชเกษตรกรรมถึง 11 ตัว ที่เรียนรู้ ในปีนี้มี 4-5 ตัว (เมื่อคืนเจอครบทั้งสี่ตัว) กระจายตามจุดต่างๆ บางจุดก็เดินมารุมแย่งกัน ต่อสู้กัน เสี่ยงต่อการบาดเจ็บอีก ใครที่สัญจรถนนเส้นนี้ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนที่ประจำด่านทั้งสองด้าน และจะมีเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วในการจัดจราจรและให้ความปลอดภัยเมท่อเจอช้างดักบนถนน ส่วนรถพ่วงขนพืชเกษตรกรรมก็ต้องรู้เชิงกันและกัน เมื่อขับรถเจอช้างดักบนถนน
ไม่เพียงแค่นี้ พืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะอ้อย ที่ช้างป่าดึงจากรถลงมากินนั้น เศษอ้อยจะตกอยู่เต็มบนถนน เมื่อช้างเหยียบ กิน หรือรถที่วิ่งผ่านไปมา เหยียบต้นอ้อยซ้ำๆ น้ำอ้อยที่ไหลบนพื้นถนน โดนความร้อน เกิดลื่นและเหนียวเหนอะ รถที่ขับไปมาเหยียบก็เกิดอุบัติเหตุได้ เคยเกิดมาแล้ว ขับรถมาเจอช้างแล้วเบรกไม่อยู่ เพราะลื่น เจ็บทั้งคนเจ็บทั้งช้าง (สถิติตั้งแต่ปี 2532 มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแล้ว 7 คน ในขณะที่ช่วงปี 2535-2551 มีช้างป่าเสียชีวิตจำนวน 20 ตัว ในจำนวนนี้เกิดจากถูกรถเฉี่ยวชน 3 ตัว)
ของแบบนี้เล็กๆ น้อยๆ ก็ยอมไม่ได้ เพราะถ้ายอมแล้วติดใจ เรียนรู้ไปเรื่อย...ไม่จบ ปัจจัยเสริมที่ทำให้ช้างป่าและรถยนต์มาเจอกันคืออะไร ก็ไปแก้ไขตรงนั้น เพราะที่เป็นเช่นทุกวันนี้ ก็เพราะคิดว่า เล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นไรนั่นแหละ
ช้างป่า - ออกมาบนถนน เปิดทางให้รถวิ่งเลนเดียว พอรถจะวิ่งผ่าน เดินเข้ามาขวางหน้า เลาะเลียบข้างรถ จกอ้อยและมันสำปะหลังกิน
รถสิบล้อ - ขับไปหยุดข้างหน้า เมื่อช้างเดินมาข้างรถเพื่อที่จะหยิบอาหาร พอหน้าโล่งว่างก็ขับไป ได้เลย ไม่ต้องกระชาก แต่ถ้ามองกระจกหลังช้างป่าเหนี่ยวรถ ก็อย่ายื้อ รอจังหวะช้างผ่อนแรงดึง ก็ค่อยขับผ่านไป
เมื่อต่างฝ่ายต่างมีชั้นเชิง ช้างไม่เสียนิสัย คนปลอดภัย ผลผลิตไม่หล่นหาย สบายใจกันทุกฝ่าย ขอบพระคุณที่ให้ความร่วมมือครับ #SurvivalTogether