xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.ชู “3 กลไก” ยึดหลัก “ความรู้คู่ทุน” ช่วยเกษตรกร/ลูกค้า ฝ่าโควิดรอบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธ.ก.ส.เดินหน้าช่วยลูกค้า/เกษตรกร ชู 3 กลไก “เยียวยา บรรเทา ฟื้นฟู” ผุดหลากหลายโครงการแก้ปัญหาผลกระทบจากวิกฤติโควิดรอบใหม่ พร้อมยึดหลัก “ความรู้คู่ทุน” เพื่อก้าวต่ออย่างยั่งยืน

สมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึง มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) รอบใหม่ ว่าได้เตรียมวงเงินสนับสนุนรวมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครัวเรือน ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกร ในอัตราดอกเบี้ยคงที่เพียงร้อยละ 0.1 ต่อเดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือนนับจากวันกู้ มีระยะเวลาปลอดการชำระ 6 เดือน ไม่ต้องใช้หลักประกัน และสามารถแบ่งงวดชำระได้ตามความสามารถในการชำระคืน โดยขยายเวลาในการขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และสนับสนุนสินเชื่อใหม่เพื่อนำไปลงทุนและฟื้นฟูการผลิต ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คณะกรรมการธนาคารให้การอนุมัติสินเชื่อฉุกเฉินและสินเชื่อฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำก่อนการเปิดให้บริการภายในเดือนมกราคม 2564


นอกจากนี้ ได้เตรียมสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างธุรกิจ ประกอบด้วย สินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 3 เดือนแรก เดือนถัดไปดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 3 เดือนแรก เดือนถัดไปดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สินเชื่อ SMEs (Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระยะที่ 2) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และสินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน


ส่วนการช่วยลดภาระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้ปกติ ที่มีหนี้คงเหลือ ณ 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดยกรณีเป็นเกษตรกร ทันทีที่ชำระหนี้จะได้รับคืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 5,000 บาท กรณีเป็นกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับเงินคืนในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินแห่งละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ

สำหรับโครงการลดภาระหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน ซึ่งมีหนี้คงเหลือ ณ 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้มาลดภาระหนี้ด้วยการตัดชำระต้นเงิน และหลังจากตัดชำระหนี้แล้ว มีเงินคงเหลือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรในวันถัดไป ซึ่งในกรณีลูกค้าเกษตรกร จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่จำกัดวงเงินที่จะคืน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564 อีกทั้งยังจัดทำมาตรการเพื่อผ่อนคลายภาระหนี้ โดยการบริหารจัดการหนี้และขยายเวลาการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ ทั้งในส่วนของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ


ทั้งนี้ แนวทางรับมือกับผลกระทบของโควิด-19 ธ.ก.ส.ดำเนินการผ่าน 3 กลไก ได้แก่ “เยียวยา – บรรเทา- ฟื้นฟู” เช่น โครงการเงินเยียวยาเกษตรกร 15,000 บาท ให้กับเกษตรกร 7.74 ล้านราย โครงการชำระดีมีคืน สำหรับหนี้เงินกู้จัดชั้นปกติ และโครงการลดภาระหนี้ สำหรับหนี้ NPL หรือมีดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 15 เดือน โครงการตรวจสุขภาพหนี้และเก็บข้อมูล โดยมีการประเมินลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม “เขียว เหลือง แดง” เพื่อนำไปจัดกลุ่มตามเกณฑ์คุณภาพสินเชื่อ โดยข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน 2563 มีสัดส่วนอยู่ที่ เขียว 21% เหลือง 61% และแดง 16% แต่เมื่อมีมาตรการมาช่วยเหลือทำให้สัดส่วนลูกหนี้เปลี่ยนไปโดยกลุ่มสีเขียวมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 71% แสดงถึงความสำเร็จในการจัดการด้วยการให้รางวัลลูกหนี้ที่ดี

ส่วนการฟื้นฟูใช้แนวทาง “ปรับ เปลี่ยน พัฒนา” ด้วยการปรับให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เปลี่ยนความคิดจากเดิม ด้วยการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่ เวลา และความต้องการของตลาด ตามด้วยการพัฒนา โดยสร้างเครือข่าย และยกระดับเป็นผู้ประกอบการ เพราะโจทย์ใหม่ครั้งนี้ไม่ใช่การพัฒนาที่ตัวลูกค้าเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาโครงสร้างธุรกิจของลูกค้าด้วย


นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เช่น กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงพลังงาน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กลุ่มปตท. บริษัทบางจาก ฯลฯ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการสร้างผู้ประกอบการเกษตร 1 หมื่นรายต่อปี และโครงการพัฒนาสหกรณ์ 1 พันแห่ง เป็นต้น เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง

ที่ผ่านมา จากการเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อน ส่งผลให้ ธ.ก.ส.ไม่เพียงเติมทุนให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าหลัก แต่ยังวางรากฐานที่ดีและสร้างภูมิคุ้มกันให้ ด้วยการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้และให้ความรู้ที่จำเป็น ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการสี่ห้าก้าว ด้วยการปลูกพืชผักเป็นอาหารในชีวิตประจำวันเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ การแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย รวมทั้ง การจัดทำศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาและเพิ่มเติมองค์ความรู้ต่างๆ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ การทำบัญชีครัวเรือน การวางแผนชีวิต ฯลฯ

สมเกียรติกิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
“การช่วยเหลือลูกค้าของธ.ก.ส.ใช้แนวทางความรู้คู่ทุน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน สำหรับความรู้เรื่องหลักๆ ในตอนนี้คือความรู้ทางการเงิน หรือ financial literacy คือรู้ก่อนกู้ รู้เรื่องออม และรู้ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ไม่มีเงินออม ต่อไปคือ digital literacy ความรู้สำหรับการเข้าถึงโลกดิจิทัล ที่ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรจำเป็นต้องรู้”รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวทิ้งท้าย