xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีรับรู้ทุจริตปี 2563 ไทยติดอันดับ 104 ของโลก! ชี้เหตุคะแนนตก พบ “ปัญหารับสินบนและคอร์รัปชัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perceptions Index :CPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทย ได้อันดับที่ 104 โดยมีคะแนนเท่ากับปี 2562


ประเทศไทยได้ 36 คะแนน เท่ากับปี 2562 และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียนเท่ากับประเทศเวียดนาม ขณะที่สิงค์โปร์ได้คะแนนสูงสุด คือ 85 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก โดยที่ประเทศเดนมาร์กและประเทศนิวซีแลนด์ ยังครองตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนสูงสุด 88 คะแนน


นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า แม้ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ในปี 2563 จะเท่ากับปี 2562 แต่พบว่าจากแหล่งข้อมูลทั้ง 9 แหล่ง ประเทศไทยได้คะแนนลดลง 1 แหล่ง และได้คะแนนคงที่ 8 แหล่ง ดังนี้

1. คะแนนลดลง 1 แหล่งข้อมูล 

แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 41 คะแนน (ปี 2019 ได้ 45 คะแนน) โดยมีประเด็น ที่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตจากแบบสำรวจความคิดเห็น ผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย คือ ”มีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่” คะแนนลดลง 4 คะแนน เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ยังมีปัญหาการให้และรับสินบนและการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ

เช่น เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับสินบนในการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน ปัญหาสินบนจากลักลอบเข้าประเทศของแรงงานผิดกฎหมาย ถึงแม้ภาครัฐจะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการประชาชน แต่ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติอนุญาต ยังมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ จึงเกิดปัญหาสินบนและการทุจริต ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศ

นอกจากนี้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาต เช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ

2. คะแนนคงที่ 8 แหล่งข้อมูล

2.1 แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 37 คะแนน (ปี 2562 ได้ 37 คะแนน)
โดย BF (TI) ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีและดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1) ด้านการเมือง 2) ด้านเศรษฐกิจ และ 3) ด้านการจัดการของรัฐบาล

ทั้งนี้ BF (TI) จะมีการเผยแพร่ผลทุก 2 ปีและข้อมูลที่เผยแพร่ครั้งล่าสุดช่วงต้นปี 2563 ถึงแม้ว่าการประเมินจะประกอบด้วยชุดคำถามหลายข้อ แต่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ใช้คะแนนจากคำถามของ BF (TI) เพียง 2 ข้อ ในการประเมินคะแนน CPI คือ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริตและความสำเร็จของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญของ BF (TI) ในประเทศไทย จำนวน 2 คน

2.2 แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU)ได้ 37 คะแนน (ปี 2562 ได้ 37 คะแนน) EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับ ความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ/ส่วนรวม การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้น ๆ มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรม ตรวจสอบผู้บริหาร/ผู้ใช้อำนาจ ธรรมเนียมการให้สินบน เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้ EIU มีการสำรวจเก็บข้อมูลประมาณเดือนกันยายนของทุกปี โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญของ EIU จำนวน 2 – 3 คน


คะแนนคงที่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญของ EIU เห็นว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาไม่แตกต่างกับปี 2562 ในเรื่องความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง การตรวจสอบการจัดการงบประมาณ ตลอดจนปัญหาเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติในการให้สินบนเพื่อให้ได้สัญญา หรือสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ

2.3 แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้35 คะแนน (ปี 2562 ได้ 35 คะแนน) โดย GI มีประเด็นที่องค์การ เพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต คือ “ความเสี่ยงของการที่บุคคลหรือบริษัทจะต้องเผชิญกับการติดสินบนหรือการคอร์รัปชันในรูปแบบอื่นเพื่อที่จะทำให้ การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น เพื่อให้ได้รับสัญญาเพื่อการส่งออก นำเข้า หรือ เพื่อความสะดวกสบายเกี่ยวกับงานด้านเอกสารต่าง ๆ มีมากน้อย เพียงใด” ซึ่งถูกประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศ ซึ่งได้รับข้อมูลจากกลุ่มลูกค้า ผู้ทำสัญญากับภาครัฐ นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้รับงานอิสระ เครือข่ายนักข่าว

คะแนนคงที่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศซึ่งได้รับข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง (กลุ่มลูกค้า ผู้ทำสัญญากับภาครัฐ นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้รับงานอิสระ และเครือข่ายนักข่าว) เห็นว่าการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการการติดสินบนหรือการคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น

2.4 แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 38 คะแนน (ปี 2562 ได้ 38 คะแนน)
ทั้งนี้ PERC มีหลักเกณฑ์ในการสำรวจโดยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นการถาม คำถามที่แสดงให้เห็นถึงระดับการรับรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน โดยมีคำถามที่ใช้ในการสำรวจที่สำคัญ คือ ท่านจะให้คะแนนปัญหาการทุจริตในประเทศที่ท่านทำงานหรือประกอบธุรกิจเท่าใด

คะแนนคงที่ เนื่องจากสถานการณ์การทุจริตของประเทศไทยในมุมมองการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีบุคคลบางกลุ่มที่กระทำการทุจริตและทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่กลุ่มบุคคลส่วนใหญ่มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

2.5 แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน (ปี 2562 ได้ 32 คะแนน) โดย ICRG เป็นการจัดอันดับความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ทั้งความเสี่ยงด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและด้านการเงิน
วิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีการรายงานผลทุกเดือน ครอบคลุม 140 ประเทศทั่วโลก

“การคอร์รัปชัน” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง PRS จึงมุ่งประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง โดยรูปแบบการทุจริตที่พบมากที่สุด คือ การเรียกรับสินบน หรือการเรียกรับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า/ส่งออก การประเมินภาษีรวมถึงระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง การให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองแบบลับๆ และความสัมพันธ์ใกล้ชิดของนักการเมืองกับนักธุรกิจ

คะแนนคงที่ เนื่องจากส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่แหล่งข้อมูลนี้มีการรายงานผลทุกเดือน และในรอบปีที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ใดที่ทำให้คะแนนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดหรือลดลงแบบรุนแรง ดังนั้น คะแนนจึงยังคงที่

2.6 แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF)ได้ 43 คะแนน (ปี 2562 ได้ 43 คะแนน) WEF สำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุด ในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ 1) การคอร์รัปชัน 2) ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ 3) ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 4) ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5) โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอว่า แต่ละปัจจัยเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลง

2.7 แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) ได้ 38 คะแนน (ปี 2562 ได้ 38 คะแนน) โดย WJP ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้ 8 หลักเกณฑ์ เน้นเรื่องหลักนิติธรรม แต่ปีที่ผ่านมา TI นำเกณฑ์ด้านการปราศจากคอร์รัปชันและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนมาเป็นตัวให้คะแนน

คะแนนคงที่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชนมองว่ากลุ่มข้าราชการ (สายบริหารสายตุลาการ สายตำรวจและทหาร รวมทั้งในสภานิติบัญญัติ) ยังคงใช้ทรัพย์สินของทางราชการ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

2.8 แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (VDEM)ได้ 20 คะแนน (ปี 2562 ได้ 20 คะแนน) V-DEM วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ

โดยดัชนีแสดงความแพร่หลายของการทุจริตนี้ ถูกคำนวณจากค่าเฉลี่ยของดัชนี 4 ด้านคือ
-ดัชนีการคอร์รัปชันในภาครัฐ (Public sector corruption index)
-ดัชนีการคอร์รัปชันของผู้บริหารระดับสูง (Executive corruption index)
-ดัชนีการคอร์รัปชันของฝ่ายนิติบัญญัติ(The indicator for legislative corruption)
-ดัชนีการคอร์รัปชันของฝ่ายตุลาการ (The indicator for judicial corruption)

คะแนนคงที่ เนื่องจากภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านความพยายามของหน่วยงานตรวจสอบในการดำเนินการเชิงป้องปรามการทุจริตในระดับพื้นที่และในระดับนโยบาย

แต่ปัญหาเกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้บริหารระดับสูงมีพฤติการณ์การเรียกรับผลประโยชน์ หรือสินบน หรือเบียดบังเงินงบประมาณ หรือทรัพยากรภาครัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ยังคงเป็นปัญหาอยู่และยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ จากผลคะแนนการรับรู้การทุจริต ในปี 2563 เป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญถึงสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทย

ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ

นอกจากนี้ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริต และไม่ยอมทนต่อการทุจริต ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่สุจริตส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 64)
https://www.infoquest.co.th/2021/62561