xs
xsm
sm
md
lg

อาจไม่คุ้นตา!! “หมอล็อต”เฉลย ทำไมช้างนอนตายท่านี้??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน” หรือ “หมอล็อต” สัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ในเฟซบุ๊ก “ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน” อธิบายถึงท่านอนตายของช้างป่าที่ตำบลชุมแสง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า “Sternal recumbency” ลักษณะท่านอนตาย อาจไม่คุ้นตา แต่สามารถคาดเดาได้ ว่าสาเหตุการตายเกิดจากอะไร
 
ท่านี้ในสัตว์ป่า เป็นท่าเตรียมพร้อม ซุ่ม ในสัตว์ที่หลบซ่อนพร้อมกระโจนเข้าใส่ แต่ถ้าร่างกายเกิดอาการป่วย หรือผิดปกติ ท่านี้คือท่าที่สบายที่สุด และบรรเทาอาการปวดที่ช่องท้องได้มาก ช้างป่าตัวผู้ ที่มีช้างป่าตัวอื่นที่เป็นคู่แข่งอยู่ใกล้ๆ เมื่อมีความผิดปกติ มักจะนอนท่านี้ เพราะลุกขึ้นได้ง่าย (ถ้านอนตะแคง ตัวอื่นมาแทงก็จะเสียเปรียบ)
 
แต่ถ้านอนไปนานๆ ด้วยน้ำหนักตัวที่มาก และช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่ไม่มีช่องว่างระหว่างปอดกับกระดูกซี่โครง (pleural cavity) เวลาหายใจช้างจะอาศัยการขยายตัวองช่องอก เมื่อนอนท่านี้นานๆ ก็จะกดการหายใจ ช้างก็จะเสียชีวิตได้
 
สรุปความหมายท่านอนแบบนี้ของช้างป่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น

1 เมื่อปวดท้อง หรือมีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร นอนเพื่อบรรเทาปวด
2 นอนพักในภาวะระวังภัย เมื่อในพื้นที่รอบๆ มีช้างป่าตัวผู้ตัวอื่นอยู่ ทำให้ลุกขึ้นได้ง่าย ปลอดภัยจากการถูกช้างตัวอื่นทำร้าย
3 เป็นท่านอนพักที่สบายในลูกช้าง แต่จะเกิดอันตรายในช้างโต เพราะอกจะเกิดน้ำหนักตัวกดทับ ทำให้หายใจลำบาก
4 เมื่อลงในน้ำ เป็นท่าที่นอนเล่นน้ำ ในกรณีที่ระดับน้ำไม่ลึกมาก ช้างจะนอนท่านี้ในน้ำ เพื่อให้น้ำท่วมหลัง ระบายความร้อน และไล่แมลง
5 กรณีที่ช้างป่วยโดยธรรมชาติ หรือบาดเจ็บหนัก ท่านี้คือท่าที่สบายที่สุด และเป็นท่าหยุดลมหายใจ เพื่อป้องกันการเกิดทุกขเวทนา
 
เป็นพฤติกรรมสุดท้ายที่แสดงออกก่อนเสียชีวิต รีบเก็บ stomach contents เก็บห้าจุด ตรวจได้เลยครับ และท้องป่องขนาดนั้น การอุดตันก็น่าจะเป็นสาเหตุ ให้กำลังใจทีมงานในการหาสาเหตุนะครับ


ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ รายงานว่า นายอนุชา กระจายศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2  เปิดเผยถึงกรณีพบซากช้างป่าว่า ระหว่างวันที่ 25 -26 ม.ค.64 เวลา 16.00 - 03.00 น. สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วยนายอำนาจ ม่วงปรางค์ ผอ.สสป.สบอ.2 (ศรีราชา) นายพิทักษ์ ยิ่งยง หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สสป. สบอ.2 (ศรีราชา) และหัวหน้า ขสป.เขาเขียว-เขาขมภู่ ทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล สสป.สบอ.2 ชุดเคลื่อนที่เร็ว เฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่า และแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ชุดที่ 7 และชุดที่ 3 เจ้าหน้าที่ขสป.เขาอ่างฤาไน เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าเขาสิบห้าชั้น และคณะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าพื้นที่ หมู่ที่ 4 ต.ชุมแสง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อตรวจสอบชันสูตรซากช้างป่า


จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบซากช้างป่า เพศผู้ มีงาทั้ง 2 ข้าง อายุประมาณ 10 -20 ปี ลักษณะภายนอกไม่พบร่องรอยเลือด หรือบาดแผล สภาพแวดล้อมภายนอกพบรอยเท้าช้างป่าตัวนี้รอบๆ พื้นที่ และพบร่องรอยของการเอางาทั้ง 2 ข้างงัดพื้นดิน เจ้าหน้าที่จึงเคลื่อนย้ายซากช้างป่าไปผ่าชันสูตร ณ หน่วยพิทักษ์ป่าสีระมัน

ผลการผ่าชันสูตรพบระบบทางเดินอาหาร (กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่) เกิดการอักเสบ แดง มีจุดเลือดออก พบก้อนอาหารอัดแน่นอยู่เต็มลำไส้และพบอุจจาระเต็มลำไส้ใหญ่ สภาพก้อนอาหารและอุจจาระส่งกลิ่นเหม็นและเน่า พบตัวหนอนที่ยังมีชีวิตภายในหลอดอาหาร ไม่พบก้อนอาหารภายในหลอดลม ภายในกระเพาะอาหารไม่พบก้อนอาหารแต่อย่างใด


สัตวแพทย์เก็บตัวอย่างอวัยวะภายในเพื่อส่งตรวจหาความผิดปกติทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมทั้งนี้ จากการผ่าชันสูตรไม่พบสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ภายในซากของช้างป่าตัวดังกล่าว เบื้องต้นคาดสาเหตุการตายเกิดจากการอักเสบอย่างรุนแรงของระบบทางเดินอาหาร ร่วมกับมีสภาวะก้อนอาหารอุดตันในระบบทางเดินอาหาร ไม่สามารถขับถ่ายได้ จนเกิดอาการท้องอืดและตายลงในเวลาต่อมา

จากนั้น เจ้าหน้าที่จึงทำการถอดงาทั้ง 2 ข้าง เพื่อดำเนินการตามระเบียบและฝังกลบซากตามหลักวิชาการ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าสีระมัน ขสป.เขาอ่างฤาไน และระหว่างนี้ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อประกอบผลการชันสูตรอย่างละเอียดต่อไป

ที่มา - กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น