งานวิจัยชิ้นล่าสุดจาก Senckenberg Research Institute & Natural History Museum โดย เซเลน่า มาร์ติน่า เอเบล และ ดร. แองเจลิก้า แบรนด์ จากการสุ่มเก็บตัวอย่างของเศษทรายบริเวณคูริล – คัมชัตกา (Kuril-Kamchatka) ซึ่งเป็นร่องลึกของมหาสมุทรแปซิฟิก พบไมโครพลาสติกปะปน 14-209 ชิ้น ในพื้นผิวของเม็ดทราย 1 กิโลกรัม
งานวิจัยนี้เพื่อค้นหาปริมาณไมโครพลาสติกที่จมดิ่งลงและปนเปื้อนอยู่ในทะเล ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Pollution ระบุว่า ปริมาณเม็ดทรายพื้นผิวทุกๆ 1 กิโลกรัมจะมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ตั้งแต่ 14 ถึง 209 ชิ้น และในจำนวนดังกล่าวมีพลาสติกจำนวน 15 ชนิดที่แตกต่างกัน
“โลกผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันต่อปี และเราปฏิเสธไม่ได้ว่า มีปริมาณขยะพลาสติกจำนวนไม่น้อยที่หลุดลอยลงสู่ทะเล หรือเป็นพลาสติกที่สะสมอยู่ในพื้นที่ป่า ในรูปแบบของขยะ” จากข้อมูลของเอเบล มีเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในทุกที่ของมหาสมุทร ไม่เว้นกระทั่งก้นทะเลที่อยู่ลึกที่สุด
ทีมนักวิจัยต้องการสุ่มสำรวจว่าบริเวณร่องมหาสมุทรแปซิฟิก Kuril-Kamchatka ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของภูมิภาค ว่ามีปริมาณพลาสติกตกค้างมากแค่ไหน โดยตั้งจุดสำรวจบริเวณที่คาดว่าจะเป็นจุดลึกที่สุด และตั้งสมมติฐานว่าจุดนี้จะเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสพบไมโครพลาสติกในปริมาณมาก เนื่องจากอนุภาคเล็กๆที่ถูกคลื่นและน้ำทะเลพัดพามักจะตกตะกอนในบริเวณนี้ ดังนั้นจึงไม่ผิดที่จะบอกว่า บริเวณพื้นที่ร่องมหาสมุทรนี้เองที่เป็นหลุมดักพลาสติกขนาดยักษ์
ในจำนวนพลาสติก 15 ชนิดที่พบในบริเวณนี้นั้น มีพลาสติกจำพวก โพลีพริพโพลีน (PP) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของภาชนะบรรจุอาหาร และโพลีแอทธีลีน (PE) ที่พบมากกว่า 75% ของตัวอย่างที่สำรวจทั้งหมด และพบเส้นใยพลาสติกจำพวกโพลีเอสเตอร์ประมาณ 63% นอกจากนั้นนักวิจัยยังพบ อนุภาคของพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 375 ไมโครมิเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดไม่เกิน 125 ไมโครมิเตอร์ ซึ่งเป็นหน่วยที่มีความเล็กประมาณ 1/8 ของ 1 มิลลิเมตร
งานวิจัยจากสถาบันการศึกษา และองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับไมโครพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทะเล ระบุตรงกันว่า เศษพลาสติกเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ และระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง ซึ่งสิ่งมีชีวิตอาจจะบริโภคไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไปอย่างไม่รู้ตัวหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้มีอนุภาคพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบจากการปนเปื้อนของพลาสติกในระดับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาจเกิดความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ระบบย่อยอาหาร รวมถึงสารประกอบของพลาสติกบางตัว ยังส่งผลถึงระบบสืบพันธุ์ในสิ่งมีชีวิตได้ด้วยเช่นกัน
แม้ทั่วโลกมีการรณรงค์เรื่องการลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง แต่การสะสมของปัญหาที่กินระยะเวลาหลายทศวรรษไม่อาจสร้างสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดีขึ้นได้ทันท่วงที ดังนั้นวิธีการแยกขยะ และลดการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นทางเลือกที่หลายประเทศเลือกใช้เพื่อให้สิ่งแวดล้อมของโลกเราไม่แย่ลงไปกว่านี้
ข้อมูลอ้างอิง https://www.natureworldnews.com/articles/44866/20201219/pacific-oceans-kuril-kamchatka-trench-microplastics-