xs
xsm
sm
md
lg

Green Fever กองทุนสีเขียวในจีนจะยั่งยืนจริงหรือ? / ธัญญรัศม์ ริลินเกอร์ Arabesque S-Ray

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รายแรกที่ขับเคลื่อนการลงทุนสีเขียวในจีนคือนักพัฒนาพลังงานหมุนเวียน กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมไฟฟ้าโซลาร์เซลล์แห่งแรกของจีนเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหารถึงหกเท่าในเดือนธันวาคม 2563 : เครดิตภาพ: Miguel Garces / Flickr  https://www.eco-business.com/
ผู้จัดการกองทุนของจีนเริ่มเปิดตัวกองทุนที่มีป้ายกำกับที่ยั่งยืน หรือกองทุน ESG เหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้ ฟองสบู่การลงทุนสีเขียวนี้จะสามารถเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในประเทศที่มีการปล่อยก๊าซสูงที่สุดในโลกอย่างจีนได้หรือไม่?

ในปี 2020 ประเทศจีนนั้นไม่ได้ติดเชื้อไวรัส COVID เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปีที่กระแสรักษ์โลกกำเนิดขึ้นอย่างมากมายเช่นกัน โดยในเดือนกันยายนปี 2020 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้มีการให้ปฏิญาณว่าจะทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ปลอดคาร์บอนภายในปี 2060 หลังจากการประกาศที่สร้างเซอร์ไพร์สอย่างมากดังกล่าว ทำให้ผู้จัดการกองทุนต่างๆ ของจีนได้เริ่มเปิดตัวกองทุนความยั่งยืนเป็นจำนวนมากอย่างกับจะไม่มีวันพรุ่งนี้อีกแล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายกับฝั่งของภาคธุรกิจ ที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกจำนวนมากต่างให้คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการทำให้ธุรกิจของตนปลอดคาร์บอนหรือทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ปัจจุบัน ผู้เล่นคนแรกในจีนที่เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ หรือ First Mover กำลังได้รับความได้เปรียบอย่างมาก จากการออกกองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์แห่งแรกของจีน โดยกองทุนนี้มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารในเดือนธันวาคม 2563 เพียงเดือนเดียวเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า อยู่ที่ 10,000 ล้านหยวน หรือ 1.55 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว ทั้งนี้ ยังมีกองทุนพลังงานทางเลือกอื่นๆ จำนวนมากกำลังเดินหน้าทยอยออกมาสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ผู้เล่นรายใหม่เหล่านี้จะนำทรัพย์สินเพิ่มเข้ามาสู่เซคเตอร์ที่ร้อนแรงอยู่แล้ว โดยดัชนีพลังงานทางเลือกใหม่ของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปีที่แล้ว ผลักดันให้สัดส่วนรายได้ต่อราคา (Earnings Multiples) ของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 90 เท่าเมื่อเทียบกับหุ้นจีนทั่วไปที่ 22 เท่า หากแนวโน้มของกลุ่มธุรกิจพลังงานทางเลือกนี้สดใส การประเมินมูลค่าที่แท้จริงก็จะมีความน่าสนใจน้อยลง การไหลเข้ามาของเงินทุนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมกันกับการเกิดขึ้นของบริษัทพลังงานทางเลือกที่มีจำนวนจำกัด จะทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นและทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดฟองสบู่

การเพิ่มขึ้นของมูลค่าธุรกิจพลังงานทางเลือกอย่างมากนั้น ทำให้เราสงสัยว่ามันจะยั่งยืนจริงหรือ เนื่องจากมีความแตกต่างที่น่าสนใจระหว่างมูลค่าตลาดหุ้นดังกล่าวและเศรษฐกิจที่แท้จริงของจีนซึ่งยังคงพึ่งพาถ่านหินเกือบ 60% ซึ่งยังไม่นับรวมโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เพิ่งได้รับการอนุมัติว่าจ้าง โดยมีถึง 17 โครงการที่ได้รับใบอนุญาตในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ซึ่งจะทำให้เป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์เป็นไปได้ยากขึ้นและการประเมินมูลค่าหุ้นกลุ่มพลังงานยากขึ้นเช่นกัน

จากบทความล่าสุดที่เราเผยแพร่ในในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นจำนวนกองทุน ESG ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างไรก็ตาม กองทุนเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มขนาดของกองทุนได้ ดังนั้นจีนจึงไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบกับ Green Fever หรือความคลั่งไคล้ในกระแสรักษ์โลก! อุปทานของกองทุน ESG เพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยได้แรงขับเคลื่อนมาจากความต้องการในผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนที่สูงขึ้น พร้อมกันกับข้อมูล ESG ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น และหลักฐานเพิ่มเติมที่พิสูจน์ได้ถึงความมีสาระสำคัญทางการเงินของปัจจัยด้านความยั่งยืนหรือกล่าวคือข้อมูลปัจจัยด้านความยั่งยืนสามารถช่วยเพิ่มผลประกอบการทางการเงินของบริษัทนั้นๆ ได้

ในส่วนของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการกองทุน ESG จากตัวอย่างข้อมูลแสดงให้เห็นว่า 57 เปอร์เซ็นต์มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการน้อยกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์มีสินทรัพย์น้อยกว่า 250 ล้านเหรียญ และมีเพียง 0.9 เปอร์เซ็นต์กองทุน ESG เท่านั้นที่มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จำนวนกองทุนที่มีจำนวนมากข้างต้นไม่ได้หมายถึงว่ามีมูลค่าสินทรัพย์จำนวนมากเสมอไป ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เราสามารถระบุตัวขับเคลื่อนหลักที่อยู่เบื้องหลังข้อโต้แย้งนี้ 4 ประการ: ประการแรกกองทุนดังกล่าวยังไม่มีประวัติย้อนหลัง ยกตัวอย่างของประเทศจีน ผู้จัดการสินทรัพย์จำนวนมากเพิ่งเริ่มต้นบริหารกองทุนหลังจากการประกาศของประธานาธิบดีเมื่อปลายปีที่แล้ว ประการที่สองมีปัญหาเรื่องไก่และไข่: บางกองทุนยังคงมีขนาดเล็กเนื่องจากมันมีขนาดเล็กจึงยังไม่สามารถสเกลอัพได้ ประการที่สาม ผู้เล่นหลายคนในธุรกิจ ESG เป็นผู้มาใหม่จึงยังไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการใช้ชื่อเสียงของแบรนด์ที่ต้องใช้เวลาในการสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้นักลงทุนยังมีความสงสัย ผู้เล่นใหม่นี้จึงต้องใช้เวลาที่มากขึ้นในการได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน และประการสุดท้ายคือประเด็นเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของกองทุน เนื่องจากการผนวกปัจจัยด้าน ESG เข้าไปไม่สามารถการันตีผลตอบแทนเสมอไป ทั้งนี้ เราต้องการทำให้โลกดีขึ้น แต่ก็ร่ำรวยขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน

หมายความว่าอย่างไร?

ประเทศจีนได้กระโดดเข้ามาในสนามแข่งขัน Net-zero Carbon ซึ่งได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันแต่หนทางข้างหน้านั้นสูงชันมาก เรายินดีและเข้าใจถึงความกระตือรือร้นในการประกาศที่ไม่คาดคิดนี้ของผู้นำจีน หาก จีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลกต้องการบรรลุเป้าหมายที่ทะเยอทะยานนี้ จีนต้องจัดทำแผนเชิงรุกและฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการกับการพึ่งพาแหล่งพลังงานที่ไม่หมุนเวียน การขาดประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในฐานะที่จีนเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมมาหลายปีแล้ว เช่น เป็นผู้นำด้านเซลล์แบตเตอรี่ และหากจีนวางกลยุทธได้อย่างชาญฉลาด จีนจะสามารถวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้นำในเทคโนโลยีด้าน Decarbonization ในการสลายก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้

เรามาช่วยกันหวังว่า Green Fever นี้จะกลายเป็นอาการที่อยู่ถาวร!

บทความโดย ธัญญรัศม์ ริลินเกอร์
Arabesque S-Ray ผู้ให้บริการข้อมูล คำปรึกษา และโซลูชั่นด้านความยั่งยืน (ESG) โดยมีการประเมินความยั่งยืนในมิติต่างๆของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ข้อมูลอัพเดททุกวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น