xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดี!! สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นน้อยลง ปี’63เทียบปี’62 แต่ทำไม“โลมาอิรวดีฯ”ยังเสี่ยงเหมือนเดิม??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดสถิติจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เปรียบเทียบ “สัตว์ทะเลเกยตื้น” ปี’63 กับปี’62 ชี้“เต่า”มากที่สุด “พะยูน”น้อยที่สุด แต่ “โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา” น่าเป็นห่วงที่สุด

จากการรวบรวมสถิติสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เห็นว่า ในปี 2563 มีสัตว์ทะเลเกยตื้นจำนวน 801 ตัว น้อยกว่าปี 2562 ที่มีจำนวน 984 ตัว ลดลงเกือบ 20% เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงแล้วพบว่า ลดลงในทุกกลุ่มสัตว์ ในระดับใกล้เคียงกัน แสดงว่าสภาพทะเลโดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยสาเหตุสำคัญอาจมาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมต่างๆ ลดลงโดยเฉพาะการท่องเที่ยว หรือทะเลสงบ หรือสาเหตุอื่นๆ


สำหรับสัดส่วนการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากชนิดต่างๆ ยังคงคล้ายเดิม โดย “เต่า” มีจำนวนมากที่สุด “โลมาและวาฬ” รองลงมา และ“พะยูน”เกยตื้นน้อยที่สุด เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กับปริมาณสัตว์ที่มีอยู่ในทะเล

เมื่อพิจารณาเฉพาะ “วาฬบรูด้า” ในอ่าวไทยตอนบน พบว่ามีจำนวนอยู่ 53 ตัว โดยในปี 2563 มี “ลูกวาฬ” เกิดใหม่ 4 ตัว มีการตั้งชื่อให้ว่า “วันหยุด พรชัย ขวัญข้าว และสีสัน” เมื่อดูสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าแต่ละปีมีวาฬเกิดใหม่ 4 ตัว และตาย 3 ตัว ส่วนสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ทั้งโลมาและวาฬเกยตื้นมีทั้งจากธรรมชาติ เช่น ป่วยหรือแก่ ภัยธรรมชาติ (พายุ) และมนุษย์ซึ่งมักจะเป็นเครื่องมือประมง การสัญจร ฯลฯ แต่มีหลายตัวที่พิสูจน์ยากเพราะซากเน่ามาก


ด้านการอนุรักษ์ กลุ่มโลมาและวาฬ ทำได้ไม่ง่าย ต้องเริ่มจากลำดับความสำคัญตามปัจจัยต่างๆ ได้แก่ “ด้านกฎหมาย” วาฬบรูด้าและวาฬโอมูระ เป็นสัตว์สงวน ส่วนวาฬชนิดอื่นๆ เป็นสัตว์คุ้มครอง “ด้านพื้นที่” ดูจากขอบเขตการหากิน ประจำถิ่นและกระจายเป็นช่วงฤดู ฯลฯ “ด้านประชากร” ที่น่าเป็นห่วงที่สุดในกลุ่มนี้คือ โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นโลมาในน้ำจืดกลุ่มเดียวของไทย และนับตั้งแต่ปี 2560 ประชากรไม่เพิ่มเลย กลับลดลงด้วยซ้ำ โดยในปี 2563 เหลือไม่ถึง 20 ตัว


เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและการแก้ปัญหาโดยนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณา พบว่า “โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา” มีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะแม้การดูแลด้านการประมงจะดีขึ้น แต่จำนวนประชากรมีน้อยไป ส่งผลให้ลูกหลายอ่อนแอเพราะผสมเลือดชิด ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ยากที่สุด

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก และนับเป็นความท้าทายที่ต้องพยายามกันต่อไป

ที่มา – เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น