เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เผยภาพจากกล้องดักถ่าย พบสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ตอกย้ำความสำเร็จงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อปกป้องผืนป่ามรดกโลกของไทย
วันนี้ (12 มกราคม 2564) นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยว่า จากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญกับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ กำหนดนโยบายให้เจ้าหน้าที่ต้องเดินป่าด้วยการเดินเท้าเข้าไปนอนในป่าคราวละ 4-7 คืน เพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้และสัตว์ป่า ประกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการปกป้องพื้นที่ป่า และการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้สัตว์ป่าอาศัยอยู่ในป่าได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ชนิดและจำนวนประชากรของสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น เป็นจริงตามผลที่ได้จากภาพที่ได้จากกล้องดักถ่ายดังกล่าว
ด้าน นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กล่าวว่า จากการใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ด้วยการติดตั้งกล้องซ่อนพรางไว้กับต้นไม้ภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งได้ทำจากติดตั้งกล้องไว้ประมาณ 30 วัน ก่อนที่จะนำข้อมูลที่กล้องบันทึกไว้มาตรวจสอบ
จากการตรวจสอบพบสัตว์ป่า ประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 12 ชนิด ได้แก่ กวางป่า กระทิง ช้างป่า เก้งธรรมดา วัวแดง สมเสร็จ เม่นใหญ่ หมูป่า และหมีควาย สัตว์ป่าประเภท นก พบนกที่เข้ามาใช้ประโยชน์ 3 ชนิด ได้แก่ นกยูง นกทึดทือพันธุ์เหนือ และ เหยี่ยวรุ้ง โดยมีสัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์บริเวณโป่ง ซึ่งแต่ละโป่ง แตกต่างกัน โดยโป่งแรกมีสัตว์เข้ามาใช้ประโยชน์ จำนวน 145 ครั้ง แห่งที่2 จำนวน 111 ครั้ง และแห่งที่ 3 จำนวน 76 ครั้ง
สำหรับสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์โป่ง มากที่สุด คือ กวางป่า เข้ามาใช้ประโยชน์ 131 ครั้ง (39.46%) รองลงมา คือ กระทิง 55 ครั้ง (16.57%) และช้างป่า 47 ครั้ง (14.16%) ช่วงเวลาที่สัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์บริเวณโป่ง มากที่สุด ในช่วงเวลา 12.00 น. -18.00 น.
ทั้งนี้สัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์โป่ง ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าประเภทที่กินพืชเป็นอาหาร โดยจะเข้ามากินดินจากโป่ง หรือไม่ก็เข้ามากินน้ำจากโป่งน้ำ รวมทั้งสัตว์ผู้ล่า เช่น เสือโคร่ง เสือดาว หมาใน ที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากโป่งในทางอ้อม คือ ใช้โป่งเป็นพื้นที่ในการซุ่มโจมตีเหยื่อ
ข้อมูลอ้างอิง ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ,ฝ่ายวิชาการ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สบอ. 12 (นครสวรรค์)
[ชมคลิป] ปฐมบทก่อเกิดระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในประเทศไทย ทำความรู้จักกับระบบสมาร์ทพาโทลจากอดีตสู่อนาคต(Smart Patrol From the past to the future) ระบบการตระเวนในระดับสากลแบบนี้มีใช้ใน 600 พื้นที่ทั่วโลก โดยที่ประเทศไทยนำมาใช้เป็นครั้งแรก 2 แห่ง คือเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าสลักพระ และเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาคนกับช้างป่ามากรวมถึงมีเสือโคร่งอาศัยอยู่
ต่อมาปี 2549 นำมาใช้ในผืนป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นมรดกโลก และขณะนั้นพบปัญหาการล่าเสือโคร่งมาก
เครดิตคลิป กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช