เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการ CHULA Zero Waste เผยข้อมูลปริมาณขยะสะสมที่แยกและจัดการได้ 493 ตัน ตามไปดูกันว่าขยะที่ลดได้มาจากอะไรบ้าง
CHULA Zero Waste รายงานถึงขยะที่ลดลงได้จากโครงการที่เกี่ยวกับการลดขยะทั้งหมด 264 ตัน โดยมาจากการลดขยะเศษอาหาร การใช้แก้ว Zero-Waste Cup การติดตั้งตู้กดน้ำในโครงการ My Bottle ซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 101 ตู้ และการรณรงค์ให้พกถุงผ้าและแก้วน้ำส่วนตัวในโครงการ My Bag และ My Cup เพื่อลดขยะพลาสติก
อีกส่วนจากโครงการที่เกี่ยวกับการแยกขยะ มีขยะที่แยกและจัดการได้ 221 ตัน มีทั้งการนำเศษอาหารหลังครัวจากโรงอาหารไปทำเป็นปุ๋ยด้วยเครื่อง Bio-Digester มีจุดรับบริจาคกล่องนม UHT การเก็บกากกาแฟจากร้านค้าไปแปรรูป และการแยกขยะรีไซเคิลพลัสในสำนักงานต่างๆ ไปส่งเผาเป็นพลังงานทดแทน
ในบรรดาขยะทั้งหมด การลดขยะเศษอาหารและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งช่วยลดขยะไปได้มาก ขณะที่เศษอาหารก็ลดขยะได้กว่า 100 ตัน (ข้อมูลปริมาณขยะที่แยกและจัดการตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงเดือนตุลาคม 2563)
CHULA Zero Waste ระบุว่า “ความสำเร็จดังกล่าวคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวจุฬาฯ ทุกคน ทุกภาคส่วน ทีม Chula Zero Waste ขอขอบคุณทุกท่าน ทั้งผู้บริหาร อาจารย์ นิสิต เจ้าหน้าที่ ร้านค้าต่างๆ ในจุฬาฯ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดและแยกขยะ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปีหน้าจะได้รับความร่วมมือจากทุกคนในการลดและแยกขยะไปด้วยกันเพื่อสร้างวัฒนธรรม Zero Waste ให้เกิดขึ้นในจุฬาฯ”