xs
xsm
sm
md
lg

เปิดต้นแบบ “จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ” สู้โควิด-19 รอบใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มจธ.เปิดต้นแบบ “จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ” ส่งมอบ TOT ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารและผลิตเพิ่ม เผยยึดข้อมูลจาก WHO เป็นแนวทางการออกแบบ พร้อมวางแผนส่งต่อให้กับโรงพยาบาลปทุมธานีใช้งานจริง และเตรียมผลิตเพิ่มเพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ หวังลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้กับแพทย์และผู้รับบริการ แนะติดตั้งบริเวณทางเข้า-ออกตามแนวชายแดน เพื่อคัดกรองตั้งแต่ต้นทางและช่วยลดภาระการติดตาม เชื่อโครงการนี้จะให้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อสังคมไทย


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่พบว่ามีการกระจายตัวของเชื้อที่ค่อนข้างรวดเร็วและจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มารับการตรวจ จุดตรวจคัดกรองจึงถือเป็นด่านแรกที่สำคัญอย่างยิ่ง


รศ. ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวถึงความร่วมมือในการนำตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ใช้งานแล้วของ TOT มาพัฒนาเป็นจุดตรวจโควิด-19 ว่า เนื่องจากตู้โทรศัพท์สาธารณะของ TOT เคยใช้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เปรียบเป็นสัญลักษณ์ที่คนในสังคมพึ่งพา เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปคนไม่ได้ใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะแล้ว ทางผู้บริหาร TOT เห็นว่าแทนที่จะนำตู้ TOT ที่ไม่ใช้งานแล้วทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ประกอบกับขณะนั้นมีการแพร่ระบาดโควิดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จึงมีการประสานความร่วมมือกันระหว่าง TOT กับ มจธ. เพื่อใช้ความสามารถทางวิศวกรรมในการออกแบบเปลี่ยนตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ใช้งานแล้วเป็นจุดตรวจโควิด-19 โดยในส่วนของการออกแบบการใช้งานหรือฟังก์ชันต่างๆ เป็นส่วนที่ฟีโบ้ดำเนินการ ในด้านความสวยงามของตู้เป็นการออกแบบโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ.

“ทั้งนี้ หลังการส่งมอบ หากนำองค์ความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดและต้นแบบไปผลิตต่อ และมีการนำไปติดตั้งบริเวณทางเข้า-ออกตามแนวชายแดน จะช่วยลดภาระในการติดตาม เพราะเป็นการคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง เชื่อว่าโครงการนี้จะให้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อสังคมไทย”


อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ.ในฐานะหัวหน้าโครงการและผู้ออกแบบ กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ใช้งานแล้วของ TOT ว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ซึ่งเห็นได้ชัดจากการระบาดในระลอก 2 ที่เกิดขึ้นตามพื้นที่เขตชายแดนและในกลุ่มของผู้ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การออกแบบนอกจากคำนึงถึงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจเชื้อ จะต้องมีการพบแพทย์เพื่อซักประวัติก่อนจึงจะมีการเข้าตรวจหรือเก็บตัวอย่างเชื้อ

ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเอกสารของ WHO ระบุว่า พื้นที่ของแพทย์หรือผู้ใช้งานควรอยู่ในพื้นที่ที่มีแรงดันอากาศบวก หรือ positive ส่วนผู้ที่มาเข้ารับบริการ ควรจะอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติหรือที่อากาศถ่ายเทและลดผิวสัมผัสของพื้นที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการกระจายของโรค จึงนำมาสู่การออกแบบที่มีการนำตู้ 2 ตู้มาชนกัน และแบ่งเป็น 2 ชุด โดยใช้เบอร์ 1 และ เบอร์ 2 เป็นตัวกำหนดลำดับ เพื่อสื่อสารถึงผู้ใช้บริการว่าจะต้องไปตู้ไหนเป็นอันดับแรก


“เรื่องการสื่อสารก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากมีผู้ใช้หลากหลาย การออกแบบตู้จึงใช้เรื่องของตัวเลข ภาษา และสี มาเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสาร โดยใช้ภาษาอังกฤษ เพราะถือเป็นภาษาสากล และเลือกใช้สีส้มเพราะเป็นสีที่ทำให้เห็นได้ชัดเจน เวลาที่นำตู้ไปติดตั้งในชุมชนก็จะเห็นได้เด่นชัด ส่วนตัวเลขถือเป็นภาษาสากลเช่นกัน และเพื่อให้เข้าใจความแตกต่างการใช้งานของตู้เบอร์ 1 และตู้เบอร์ 2 เรายังได้ติดสัญลักษณ์แพทย์ไว้ที่ตู้เบอร์ 1 และสัญลักษณ์จุดตรวจไว้ที่ตู้เบอร์ 2 เพื่อต้องการสื่อสารให้รู้ว่าเมื่อพบแพทย์แล้วจะต้องไปตรวจหาเชื้อด้วย อีกทั้งตู้ได้ถูกออกแบบให้ตัดการสัญจรที่จะใช้ร่วมกัน โดยให้พื้นที่ของบุคลากรทางการแพทย์อยู่อีกฝั่งหนึ่งที่มีลักษณะเป็นระบบปรับอากาศแบบแรงดันบวก และมีที่จับสำหรับการเปิดประตู ส่วนในพื้นที่ของผู้เข้ารับบริการจะเข้าอีกด้านหนึ่งโดยเดินเข้าไปในตู้ได้เลย เป็นพื้นที่ที่อากาศถ่ายเท ลดการสัมผัส และสะดวกเวลาพ่นยาฆ่าเชื้อ ดังนั้น เห็นได้ว่าตู้ที่ออกแบบขึ้นนี้มีสัญลักษณ์และมีสิ่งที่ใช้ในการสื่อสารแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของการรับรู้และการใช้งานของพื้นที่” อาจารย์สุนารี กล่าว

นายทศพร บุญแท้ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) กล่าวเสริมว่า การออกแบบในเชิงวิศวกรรมนั้น ภายในตู้มีการติดตั้งเครื่องเติมอากาศเพื่อให้พื้นที่ทำงานของแพทย์มีแรงดันสูงกว่าภายนอกซึ่งจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยไม่ให้มีเชื้อโรคเข้าไปสู่ห้องของแพทย์ นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบปรับอากาศขนาดเล็กและอินเตอร์คอมเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกันระหว่างแพทย์และผู้เข้ารับบริการ ซึ่งการนำตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ใช้งานแล้วของ TOT มาประยุกต์นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขปรับปรุงสภาพให้ใช้งานได้ทั้งตัวโครงสร้างและการติดตั้งอุปกรณ์เป็นหลัก

นายทินกร นาทองลาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักบริหารโครงข่าย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้นแบบจุดตรวจโควิดนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจคัดกรองผู้เข้ามารับการตรวจหรือผู้มาขอรับบริการได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับต้นแบบที่ได้รับมอบมา ต่อจากนี้ทาง TOT จะนำไปติดตั้งเทเลคอนเฟอเรนซ์เพิ่มเติม เพื่อใช้ในกรณีที่แพทย์ไม่อยู่ เพื่อให้ผู้รับบริการก็ยังสามารถติดต่อกับแพทย์ได้ หรืออาจติดตั้ง IOT เซ็นเซอร์สำหรับวัดความดันเพิ่ม ก่อนที่จะนำจุดตรวจโควิด-19 ทั้ง 2 ชุดนี้ไปส่งมอบต่อให้กับโรงพยาบาลปทุมธานีเพื่อใช้งานจริง คาดว่าหลังการทดลองใช้จริง 3 - 4 เดือน จะเตรียมผลิตจุดตรวจโควิดตามต้นแบบดังกล่าวเพิ่มเพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ต้องการต่อไป

ทั้งนี้ การพัฒนาต้นแบบจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะดังกล่าว เป็นความร่วมมือกันระหว่าง 2 หน่วยงานภายใต้โครงการบริการวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งนอกจากเป็นจุดตรวจ โควิด-19 เป็นจุดคัดกรองคนไข้นอกอาคารแล้ว ในอนาคตยังพัฒนาเป็นจุดที่ใช้ฉีดวัคซีนได้ในอนาคต หรือใช้เป็นจุดจ่ายยาให้กับคนไข้ได้อีกด้วย


เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีพิธีส่งมอบต้นแบบจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ใช้งานแล้ว จำนวน 2 ชุด 4 ตู้ ให้กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ณ อาคารสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มจธ. เพื่อทางทีโอทีนำผลงานต้นแบบไปดำเนินการผลิตเพื่อการใช้งานจริง และสามารถส่งต่อเพื่อสนับสนุนให้แก่โรงพยาบาล สถานีอนามัย ในพื้นที่ห่างไกลความช่วยเหลือทางการแพทย์ และพื้นที่ชายแดนที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19

โดยได้รับเกียรติจากที่ปรึกษาโครงการ รศ. ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม และอาจารย์ไมเคิลปริพล ตั้งตรงจิตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ เป็นผู้ส่งมอบ และนายทินกร นาทองลาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักบริหารโครงข่าย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับมอบ โดยมีคณะทำงานทั้งจากทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มจธ. รวมทั้งคณะผู้บริหารและบุคลากรจากทั้งสองฝ่าย ร่วมเป็นสักขีพยาน


กำลังโหลดความคิดเห็น