ยกระดับโครงการสู่วาระแห่งชาติ “เอไอเอส” ผนึก “กระทรวงทรัพย์ฯ” สร้างเครือข่าย “คนไทยไร้ E-Waste” ทั่วประเทศ ชวนคนไทยทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อย่างถูกวิธี พร้อมขยายจุดรับทิ้งทั่วประเทศ
ในโลกยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สิ่งของเครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตประจำวันพัฒนาอย่างรวดเร็วพร้อมเทคโนโลยี การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่ถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีมีมากขึ้นจะก่อให้เกิดสารตกค้าง ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สังคม และส่งผลเสียในระยะยาวต่อระบบนิเวศ และสุขภาพของมนุษย์
เอไอเอส ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลที่มีเป้าหมายดำเนินธุรกิจรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศให้พัฒนา และเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน จึงร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังสร้างเครือข่าย “คนไทยไร้ E-Waste” ทั่วประเทศ สร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่าน 2 ความร่วมมือหลัก คือ 1) ขยายจุดวางถังรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ณ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือ ทสจ. ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ต้องการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี และ2) ร่วมกับอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. เพื่อเป็นตัวแทนสื่อสาร สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บและทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง พร้อมยกระดับโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” สู่วาระแห่งชาติ
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “ที่ผ่านมา เอไอเอสให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะทุกประเภท รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นขยะอีกหนึ่งประเภทที่จะต้องมีการคัดแยกและนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน จึงได้อาสาเข้ามาเป็นศูนย์กลางและจัดทำโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ขึ้น โดยมีเป้าหมายปลูกจิตสำนึกคนไทยให้เข้าใจและตระหนักถึงการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมในการกำจัด
โดยจัดทำถังรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้สามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ซึ่งประกอบไปด้วย โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, พาวเวอร์แบงก์, สายชาร์จ, หูฟัง มาทิ้ง ได้ ณ จุดบริการของ เอไอเอส และจุดบริการของภาคีเครือข่าย ซึ่งมีมากกว่า 2,300 จุดทั่วประเทศ และปัจจุบันสามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้จำนวนกว่า 6.3 ตัน โดยทางเอไอเอส ได้นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ที่เก็บรวบรวมได้จากจุดรับทิ้ง นำส่งให้กับ บริษัท เทส จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธีด้วยกระบวนการ Zero Landfill
แต่เอไอเอสเพียงองค์กรเดียวไม่สามารถสร้างอิมแพคให้โครงการนี้ใหญ่ได้ จำเป็นต้องมีเครือข่ายภาคีจากหน่วยงาน องค์กร และบริษัทต่างๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการ โดยล่าสุดได้รับเกียรติจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การสนับสนุนเป็นอีก 1 ภาคีเครือข่ายหลักในการยกระดับภารกิจคนไทยไร้ E-Waste สู่วาระแห่งชาติ ในการขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) พร้อมร่วมบูรณาการส่งต่อองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึกคนไทย ผ่านการทำงานของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. ที่มีอยู่ทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงชุมชนต่างๆ ได้ เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับโทษภัยของขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) รวมถึงให้ข้อมูลการจัดเก็บและทิ้งอย่างถูกวิธี ตลอดจนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในชุมชนอย่างยั่งยืน
ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) เป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วทั้งโลก ตัวเลขจาก The global E-Waste 2020 ของ มหาวิทยาลัยสหประชาชาติ, สถาบันเพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ, สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และสมาคมขยะมูลฝอยสากล (ISWA) รายงานเมื่อปี 2562 ว่า ทั่วโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน และมีการใช้งานต่อคนถึงคนละ 7.3 กิโลกรัม ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกได้รับการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเพียง 17.4% หรือคิดเป็น 9.3 ล้านเมตริกตันเท่านั้น
ในขณะที่ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ของเสียอันตรายจากชุมชน โดยกรมควบคุมมลพิษ ปี 2562 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) อยู่ที่ 400,000 ตัน แต่มีการเก็บรวบรวมและนำไปจัดการอย่างถูกต้องเพียง 500 ตัน ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บไว้ตามบ้านเรือน ขายเป็นสินค้ามือสอง ขายให้รถเร่ ซาเล้ง นอกจากนี้ ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณเกือบ 900 ตัน และในปี 2560 พบปริมาณนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีมากกว่า 50,000 ตัน ทั้งยังมีการตรวจพบโรงงานและสถานประกอบกิจการถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ดำเนินการอย่างไม่ถูกหลักวิชาการ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญและบริหารจัดการร่วมกันอย่างถูกวิธีก่อนจะสายเกินไป”
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะมาตรการ แนวทาง และติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคีเครือข่าย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า “TBCSD เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของบริษัทต่างๆ มีนโยบายในการช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถเป็นธุรกิจต้นแบบที่สามารถผลักดันให้เกิดการขยายผลเพื่อมีส่วนทำให้เศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและประเทศไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกกว่า 40 บริษัท เอไอเอสคือหนึ่งบริษัทที่เป็นสมาชิก TBCSD การร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างเครือข่ายคนไทยไร้ E-Waste ทั่วประเทศ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ ในฐานะพันธมิตร เรายินดีช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ด้วยการช่วยรณรงค์สร้างจิตสำนึกและสร้างความตระหนัก รวมถึงเชิญชวนให้ทุกคนนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งในจุดที่จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อจัดเก็บและนำไปทำลายอย่างถูกวิธี”
นายสมศักดิ์ สันธินาค ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน(ทสม.) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า “ภารกิจทั่วไปของ ทสม.ทั้ง 76 จังหวัด คือการทำงานตามภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องน้ำ เรื่องป่าชุมชน เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องขยะ รวมถึงมลพิษต่างๆ ทสม.มีหน้าที่เข้าไปช่วยให้คำแนะนำ ให้ความคิดเห็นชาวบ้าน ในกรณีที่ต้องการจะทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ให้ทิ้งถูกที่ กรณีที่ไม่ใช้แล้วหรือถ้าจะแยกขยะก็จะมีอาสาสมัครรวบรวมไว้ก่อนนำไปมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกำจัดต่อ ในฐานะ ทสม.รู้สึกว่าโครงการ คนไทยไร้ E-Waste เป็นโครงการที่ดีที่ทางภาคเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ เราคิดมาตลอดว่าถ้าสิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตดี ชุมชนก็ดีขึ้น”