xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวผู้พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไทย!! “โอโบดรอยด์” มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ - ‘ไข่ต้ม (KAITOMM)’ เป็นหุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot)
“โอโบดรอยด์” จัดงานเสวนา “Living with Robots เมื่อหุ่นยนต์มาอยู่ในชีวิตเรา” โชว์ 4 หุ่นยนต์ “ไข่ต้ม - เอสอาร์วัน- ปิ่นโต – กระจก” เพื่อเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการและแนะนำหุ่นยนต์ภายใต้การพัฒนาของบริษัท ซึ่งจะมีการนำไปใช้จริงภายในพื้นที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิต รวมถึงโครงการของ MQDC เพื่อยกระดับคุณภาพการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน เผยแนวโน้มปี 2564 “Service Robot” เป็นกลุ่มหุ่นยนต์ที่เติบโตมากที่สุด

นายพลณัฏฐ์ เฉลิมวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) ผู้พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไทยเปิดเผยว่า Obodroid บริษัทวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน จับมือกับพันธมิตร MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านอื่นๆ จนครอบคลุมถึงภาคการบริการทั่วไป หุ่นยนต์ดังกล่าวจะเข้ามาเติมเต็มประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัยและประชาชนทั่วไป

หุ่นยนต์สัญชาติไทยที่นำมาจัดแสดงในงาน ได้แก่ ‘ไข่ต้ม (KAITOMM)’ หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot) ‘เอสอาร์วัน (SR1)’ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์และเทคโนโลยีที่ทางบริษัทฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนามาจัดแสดงด้วย เช่น ‘ปิ่นโต (PINTO)’ หุ่นยนต์ส่งของเพื่อช่วยการส่งของระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาล รวมทั้ง ‘กระจก (MIRROR)’ แท็บเล็ตพร้อมแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้ในการสื่อสารทางไกล ที่สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วย และลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อไวรัส COVID – 19 สู่การนำไปใช้จริงในโรงพยาบาลต่างๆ ในเกือบทุกภาคส่วนของประเทศไทย

ภาพ - ภาพ - พลณัฏฐ์ เฉลิมวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ที่สามจากซ้าย) และดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ที่สองจากซ้าย) ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ  (ที่สี่จากซ้าย) กิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์ ผู้อำนวยการโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (ที่ห้าจากซ้าย) และสุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) (ที่หนึ่งจากซ้าย)
“Obodroid ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยคำนึงถึงการนำไปใช้งานและก่อให้เกิดประโยชน์ สร้างคุณค่าในการยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของคนไทยได้จริงอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้หุ่นยนต์สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันกับการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตของมนุษย์ได้อย่างกลมกลืน เช่น สามารถทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับโครงการที่พักอาศัยและสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีประสิทธิภาพ ซึ่ง Obodroid เป็นบริษัทที่รวบรวมวิศวกรชั้นนำของประเทศไทยที่มีความรู้ความชำนาญในด้านหุ่นยนต์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Robotics & AI) มารวมไว้ด้วยกัน บริษัทมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการ (Service Robots) เพื่อนำไปใช้งานจริงในการบริการด้านต่างๆ เช่น หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย, หุ่นยนต์ต้อนรับ, หุ่นยนต์โฆษณา, หุ่นยนต์ส่งของ, หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว เป็นต้น” นายพลณัฏฐ์ กล่าว

๐ 4 หุ่นยนต์ผู้ช่วยใกล้ตัว

ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) กล่าวว่า สำหรับ ‘ไข่ต้ม (KAITOMM)’ เป็นหุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot) ที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของคนทุกวัย ทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ทำให้การเชื่อมต่อกับทุกสิ่งบนโลกใบนี้เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยสามารถรับคำสั่งและพูดคุยกับผู้ใช้งานในภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ สามารถเชื่อมต่อกับระบบบ้านอัจฉริยะ (Home Automation) เพื่อสั่งการเปิด/ปิดไฟ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในที่พักอาศัยได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับวัดค่าสัญญาณชีพต่างๆ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพของเจ้าของผู้ใช้งาน และหุ่นยนต์มีกล้องภายในตัว สามารถใช้เป็นกล้องวงจรปิด หรือโทรวีดีโอคอลได้ และมีฟังก์ชั่นอื่นๆ ของหุ่นยนต์สามารถตั้งเตือน ตั้งปลุก เล่นเพลง สวดมนต์ เช็คสภาพอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย เหมาะสำหรับใช้ในที่พักอาศัยเพื่อเป็นผู้ช่วยผู้ดูแลให้กับผู้ใช้งานได้ในทุกเพศทุกวัย

ภาพ - ‘เอสอาร์วัน (SR1)’ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย มีระบบเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ได้อัตโนมัติ (Auto-Navigation System)
‘เอสอาร์วัน (SR1)’ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย มีระบบเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ได้อัตโนมัติ (Auto-Navigation System) ประกอบด้วยกล้องรอบตัว 360 องศา เพื่อเก็บข้อมูลภาพและเสียงที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในหุ่นยนต์ตัวนี้คือ เทคโนโลยีการตรวจจับวัตถุในซอร์ฟแวร์ของตัวหุ่นยนต์ ทำให้สามารถตั้งค่าโปรแกรมในการตรวจจับวัตถุต่างๆ ตามที่ต้องการ เช่น ใบหน้า สิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรืออาวุธ พร้อมทั้งส่งข้อมูลแจ้งเตือนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยรับทราบได้ทันที และยังมีฟังก์ชั่นการโทรฉุกเฉินที่ผู้อยู่อาศัยหรือผู้คนรอบๆสามารถกดปุ่มเพื่อโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากตัวหุ่นยนต์ได้ในทันที เหมาะสำหรับการใช้งานในโครงการที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ต้องดูแลรักษาด้านความปลอดภัย

นอกจากนี้ ทีมงาน Obodroid ยังรู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (MI Workspace) ในการผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบ ‘ปิ่นโต (PINTO)’ หุ่นยนต์รถเข็นส่งอาหารผู้ป่วย (Quarantine Delivery Robot) ที่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกลได้ และหุ่นยนต์ ‘กระจก (MIRROR)’ เป็นแท็บเลตใช้สำหรับสื่อสารทางไกล สามารถใช้พูดคุยระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทันที โดยไม่ต้องกดรับสาย และคนไข้สามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งช่วยลดทั้งความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส COVID – 19 จากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง รวมทั้งดูแลทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคได้ง่าย ไม่สะสมให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่อไปได้อีก ซึ่งสามารถตอบโจทย์คณะแพทย์และพยาบาลในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตนี้ได้เป็นอย่างดี โดยหุ่นยนต์ปิ่นโตและแท็บเล็ตกระจกนี้ เป็นการใช้งานแบบอิสระและเบ็ดเสร็จ ไม่จำเป็นต้องทำการติดตั้งเครื่องมือหรือโครงสร้างอื่นใดเพิ่มเติม จึงทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งในปัจจุบันหุ่นยนต์และอุปกรณ์แท็บเล็ตชุดนี้ได้ถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ถาพ - ‘ปิ่นโต (PINTO)’ หุ่นยนต์รถเข็นส่งอาหารผู้ป่วย (Quarantine Delivery Robot) และหุ่นยนต์ ‘กระจก (MIRROR)’ เป็นแท็บเลตใช้สำหรับสื่อสารทางไกล
๐ จับสัญญาณสำคัญหุ่นยนต์ในอนาคต

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กล่าวว่า FutureTales Lab by MQDC จับสัญญาณสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของหุ่นยนต์ (future of robotics) พบว่า การเติบโตของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่ง International Federation of Robotics (IFR) พบว่า ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 31% หรือ 48 ล้านตัว ภายในปี 2564 โดยกลุ่มหุ่นยนต์ที่เติบโตมากที่สุด คือกลุ่มหุ่นยนต์ใช้สำหรับงานบริการตามที่อยู่อาศัย (Service Robot) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นส่วนของกระบวนการดิสรัป (Disruption) ของหลากหลายวงการหากก้าวตามไม่ทัน

ทั้งนี้ ไทยจะเป็นผู้นำด้านหุ่นยนต์ในอาเซียนเพื่อต้อนรับ Robotic Economy ข้อมูลจากทาง IFR สะท้อนว่า ภูมิภาคเอเชียถือเป็นตลาดสำคัญอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของโลก โดยมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของตลาดโลก และคาดการณ์ว่าในปี 2564 ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 19% ซึ่งจะมีการขยายตัวเร็วที่สุดสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ในระดับโลก รองจากบราซิล 33% อินเดีย 26% และจีน 22%

“สังคมจะเปิดใจยอมรับการใช้งานหุ่นยนต์มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน มากกว่าจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความทันสมัย ถูกเร่งด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนเปิดใจกับการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เพราะความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องความสะอาด (Hygiene) และการรักษาระยะห่างทางสังคม กรณีศึกษาจากประเทศจีนที่ทางเครือโรงแรม Huazhu Hotels Group ที่มีสาขาโรงแรมกว่า 5,700 แห่งทั่วประเทศ จัดเตรียมบริการแบบไร้การสัมผัส (non-contact) โดยการติดตั้งหุ่นยนต์เสริมบริการด้านต่างๆ เช่น ให้ข้อมูล นำทาง เสิร์ฟอาหาร เป็นต้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าในระหว่างที่เกิดโรคระบาด สะท้อนภาพบวกของการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในชีวิตประจำวันในอนาคตที่ว่า หุ่นยนต์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก หรือกลายเป็นเรื่องปกติใหม่สำหรับภาพอนาคตของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ความกังวลว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน แต่ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์นี้จะสร้างงานแทนที่จะแย่งงาน รวมทั้งในระยะยาว ซึ่งหุ่นยนต์มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น จะสามารถมาทดแทนหุ่นยนต์ภาคบริการมากขึ้น เช่น หุ่นยนต์ดูแลรักษาสุขภาพ และผู้สูงอายุ เป็นต้น ผลที่ตามมาคือการบริการของมนุษย์จริง จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย”ดร.การดี กล่าว