สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและเร่งหามาตรการในการลดปัญหามลพิษอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ที่เป็นวิกฤตในขณะนี้ เพื่อลดความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคมตามนโยบายของรัฐบาล โดยให้มีการตรวจสอบและติดตามโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงปล่อยฝุ่น PM2.5 ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 5,480 โรงงาน รวมทั้งได้ส่งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว กองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป
ด้าน ประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ได้จัดรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 จุด ได้แก่จุดที่ 1 บริเวณพื้นที่วัดม่วง แขวงหลักสอง เขตบางแค จุดที่ 2 บริเวณบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด แขวงยานนาวา เขตสาธร และจุดที่ 3 บริเวณฝ่ายโรงงานและอะไหล่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานหนองจอก แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป พบฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยค่าที่วัดได้ไม่เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
กรอ.ได้วางมาตรการระยะสั้น ด้วยการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องระบายอย่างต่อเนื่องอัตโนมัติ (Continuous Emission Monitoring System : CEMS) ซึ่งรายงานผลแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์มาที่ กรอ. ในเขตกรุงเทพมหานครมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ติดตั้งเครื่องดังกล่าว จำนวน 4 โรงงาน 15 ปล่อง ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง และเตาเผาขยะหนองแขม ใช้ขยะชุมชนเป็นเชื้อเพลิง ผลการตรวจวัดฝุ่นรวม (TSP) อยู่ในช่วง 7.3 - 13.1 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไม่เกินมาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 320 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) โดยวางมาตรการระยะยาวมีแผนปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องในการตรวจวัดมลพิษทางอากาศระยะไกล ซึ่งเดิมกำหนดให้ติดตั้งและส่งข้อมูลเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดระยองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าประกาศใช้ได้ภายในปี 2564
ทั้งนี้ได้มีมาตรการบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างเร่งด่วน ดังนี้ 1) ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองลง 2) ควบคุมการระบายมลพิษอากาศให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2549 3) ขอความร่วมมือโรงงานติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษเพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ และเชื่อมต่อข้อมูลแบบออนไลน์รายงานคุณภาพอากาศมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม 4) ตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงานที่มีเคยมีปัญหาร้องเรียนซ้ำซากด้านฝุ่นละออง โดยกำหนดเป็นแผนดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2564 5) กำกับดูแลให้โรงงานตรวจสอบระบบบำบัดอากาศให้มีประสิทธิภาพ 6) ส่งเสริมให้โรงงานใช้เทคโนโลยีสะอาด ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด)
ประกอบ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรอ.ได้มีการจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้สำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและลดฝุ่นละออง PM2.5 ของโรงงานในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการปรับแต่งการเผาไหม้นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้วยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันได้กำชับให้โรงงานดำเนินการตรวจสอบและซ่อมบำรุงการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำให้เผาไหม้อย่างสมบูรณ์ และออกมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมลดการปล่อยมลพิษรวมถึงฝุ่น PM2.5 ให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่ร่วมกันกับโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน