xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ‘อินแปง’ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน สร้างป่า สร้างรากฐานชีวิตที่ยั่งยืนรอบป่าภูพาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตั้งแต่ปี 2530 วิถีการดำรงชีพของชาวบ้านบัว หมู่ 5 ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร ที่เรียกตนเองว่าชาวกะเลิง ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ที่นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นและการก่อเกิดของ “เครือข่ายอินแปง”

แต่เดิมนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกร มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ต่อมาถูกพลิกฟื้นสร้างเป็นป่าที่ช่วยให้ชุมชนอินแปง จ.สกลนคร หลุดพ้นจากความยากจน และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง แม้ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

อินแปง มีความหมายว่าสถานที่อันอุดมเหมือนพระอินทร์แปง (สร้าง)เมื่อ 33 ปีที่แล้ว มูลนิธิหมู่บ้านและวิทยาลัยครูสกลนคร ซึ่งปัจจุบันยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร เมื่อปี 2538 ได้ร่วมกันทำโครงการศึกษาวิจัยวิถีชีวิตชาวกะเลิงบนเทือกเขาภูพาน โดยมี ธวัชชัย กุณวงษ์ นักศึกษาในฐานะของนักวิจัยในขณะนั้นได้ฝังตัวใช้ชีวิตร่วมคลุกคลีกับชาวบ้านบัว หมู่ ๕ ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ในการดำรงชีวิตของชาวกะเลิง นี่เองนับเป็นจุดเริ่มต้นและการก่อเกิดของ “เครือข่ายอินแปง”

จากการค่อยๆ เกาะกลุ่มรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน การบุกรุกทำลายป่าที่เกิดจากการทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยว โดยการชักชวนจากโครงการฯ ผ่านธวัชชัย ทำให้เกิดกลุ่มกองทุนพันธุ์ไม้พื้นบ้าน เพื่อการฟื้นฟูอนุรักษ์ และส่งเสริมการปลูกพืชพื้นบ้านขึ้น จนสามารถปลูกหวายแลกกับข้าวแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวได้ในระดับหนึ่ง และด้วยความหลากหลายของพันธุ์พืชพรรณไม้ต่างๆ ในป่าภูพาน ที่มีระบบนิเวศซึ่งมีความสำคัญต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชุมชนรอบภูพานเป็นอย่างมาก ความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำสำคัญในเขตพื้นที่อีสานเหนือ เช่น น้ำอูน น้ำสงคราม น้ำพุง เป็นต้น เหมือนกับมีพระอินทร์ได้สร้างไว้ กลุ่มฯ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มอินแปง” เมื่อปี 2535 ให้สมกับอินแปงสถานที่อันอุดมเหมือนพระอินทร์แปง(สร้าง)

จวบกระทั่งปัจจุบัน จากกลุ่มพันธุ์ไม้พื้นบ้านที่เกิดจากกลุ่มเล็กๆ ของชาวบ้านจำนวน 13 คน ที่เริ่มจากเพาะพันธุ์หวาย กลายมาเป็นเครือข่ายอินแปง องค์กรชาวบ้านที่ทำงานรอบเขาภูพาน โดยมีภารกิจอินแปงที่มุ่งสร้างสังคมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในชุมชนรอบเทือกเขาภูพาน เป็นภารกิจสำคัญ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และอุดรธานี โดยมีทั้งแกนนำที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ของชาวบ้าน มีผู้นำจากแต่ละเครือข่าย มีครอบครัวต้นแบบ กลายเป็นเครือข่ายฯ ที่มีศูนย์ประสานงานหลักตั้งอยู่ที่บ้านบัว ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร

การสื่อสารเรียนรู้ที่มุ่งสืบทอดคุณค่าความดีงามที่ยั่งยืนของเครือข่ายอินแปง
ถามว่า อะไรเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของชุมชนในเครือข่ายอินแปง 
ตอบได้เลยว่า “สื่อ” เพราะนำไปสู่การเรียนรู้ จากรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ ที่นี่มีโครงการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม : การศึกษาเพื่อกำหนดพื้นที่ทางอากาศของวิทยุชุมชน และ การศึกษาเพื่อพัฒนาต้นแบบศูนย์สื่อผสมผสานของชุมชน ที่ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เปิดเวทีนำเสนอผลงานสื่อของเหล่านักเรียนสื่ออินแปง คืนผลงานจากการลงมือผลิตสื่อ โดยมีผู้อาวุโสของเครือข่ายอินแปง นักวิชาการในโครงการฯ ร่วมสะท้อนให้ความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะ ซึ่งเห็นพ้องร่วมกันว่าสื่อผสมผสานของชุมชนกับเยาวชน คือการสื่อสารเรียนรู้ที่มุ่งสืบทอดคุณค่าความดีงามที่ยั่งยืนที่ว่า “ภูพานคือชีวิต มวลมิตรคือพลัง พึ่งตนเองคือความหวัง อินแปงยังเพื่อปวงชน”

ขวัญ-เศรษฐา ดอกรัง นักเรียนสื่ออินแปงจาก ต.บ้านถ่อน อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร บอกว่า “การใช้สื่อเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาอินแปง เราสามารถที่จะนำเสนอความเป็นอินแปงในหลายๆ ด้าน ในรูปแบบสื่อต่างให้กับชุมชนหรือคนภายนอกได้รับรู้ว่าอินแปงกำลังทำอะไร มีดีอะไร เมื่อได้รับความรู้จากการอบรมในโครงการฯนี้ เราก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้แก่เครือข่ายของอินแปงอีกด้วย นอกจากนั้นในครอบครัวของเรามีผลิตภัณฑ์อะไร มีสินค้าอะไรเราก็ใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ มาเป็นตัวช่วยในการสื่อสารกับผู้อื่นได้รู้จักเรา มั่นใจในผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้น แม้โครงการฯ จะจบลง แต่พวกเรานักเรียนสื่ออินแปงก็นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการผลิตสื่อต่อไป เพราะความรู้ต่างๆ ของอินแปงมีอยู่อย่างมากมายให้เก็บเกี่ยว ต้องบันทึกไว้ให้ตัวเราและคนรุ่นต่อๆ ไปได้เรียนรู้”

เช่นเดียวกับ แก่น-ครองศักดิ์ ราชลองชัย นักเรียนสื่ออินแปงจาก ต.สุวรรณขาม อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร ที่ตั้งใจจะเป็นทายาทเกษตรกรอินแปง ทำการเกษตรอย่างยั่งยืนในผืนดินของตนเอง ที่ไม่ใช่แบบเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งแก่นตั้งใจจะยกป่าภูพานมาไว้บ้าน จะปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปลูกแบบสำมะปิ” ตามแบบอย่างแนวทางของปราชญ์อินแปง

แก่น เล่าให้ฟังว่า แม้ระยะเวลาในการอบรมให้ความรู้จะเพียงไม่นาน ทำให้ไม่สามารถลงลึกในการทำสื่อได้อย่างที่เขาต้องการเช่นเทคนิคการถ่ายภาพ เทคนิคการตัดต่อ แต่ต่อไปนี้เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ผมจะสั่งสมไปเรื่อยๆ และ ณ วันนี้การอบรมทุกอย่างจบกระบวนการผมว่าผมจบปริญญาตรีเลยนะ โครงการฯ นี้เป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยให้คนในชุมชนมีความสามารถที่จะผลิตสื่อเอง ซึ่งผมเองมองว่าคนในชุมชนจะรู้ข้อมูลเนื้อหาดีกว่าคนภายนอกแน่นอน เพียงแต่ว่าตอนนี้ทีมนักเรียนสื่อยังจัดรูปขบวนไม่ลงตัวเท่าใดนัก

การทำสื่อจะทำให้คนภายนอกได้รู้จักกับเรามากขึ้นว่าอินแปงมีดีอะไร มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าอะไร และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ของอินแปง ซึ่งต้องใช้กระบวนการรูปแบบสื่อให้เหมาะสม แต่การเรียบเรียงข้อมูลที่จะสื่อสาร ประสบการณ์และชั่วโมงบินยังต่ำ ทำให้งานที่นำเสนอต่อที่ประชุมยังไม่ดีพอ แต่ก็ดีที่มีการสะท้อนเพราะจะทำให้เราสามารถนำไปปรับปรุงงานให้ดีขึ้น

“ที่สำคัญการผลิตสื่อที่นักเรียนสื่ออินแปงจะทำต่อไป คือการเก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากผู้นำ 11 คน ที่เป็นปราชญ์ของอินแปง เพราะตอนนี้ก็เสียชีวิตไปแล้วผู้หนึ่งเราต้องรีบทำ ถ้าพวกผมไม่สืบต่อ เรื่องราวดีๆ เหล่านี้ก็จะหมดไป”

ข้อมูลอ้างอิงhttps://ref.codi.or.th/public-relations/news/ เพจเฟซบุ๊คบ้านอินแปง



เครดิตคลิป สื่อประการนำเสนอศูนย์การเรียนรู้อินแปง จังหวัดสกลนคร
โดย ปนัดดา ประเสริฐศรี