แม่โจ้โพลล์เผยผลสำรวจ “ต้นยางนา” ถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน ชี้ชาวเชียงใหม่ต้องการให้อนุรักษ์ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์และชื่นชมความสวยงามของพื้นที่ แต่ขอให้มีหน่วยงานหลักดูแล
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ในหัวข้อ “ต้นยางนา ถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน เอกลักษณ์หรือปัญหา?” พบว่า ประชาชนชาวเชียงใหม่และผู้สัญจรผ่านเส้นทางถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.81 รู้จักหรือเคยเดินทางผ่านถนนสายต้นยาง มีเพียงร้อยละ 11.19 เท่านั้นที่ไม่รู้จัก และ/หรือไม่เคยเดินทางผ่านถนนสายเก่า เชียงใหม่-ลำพูน
อย่างไรก็ตาม กลับพบว่ามีเพียงร้อยละ 41.54 เท่านั้นที่ทราบถึงประวัติความเป็นมาของต้นยางนาบนถนนสายเก่า เชียงใหม่-ลำพูน ในขณะที่ร้อยละ 58.46 ไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมา
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนชาวเชียงใหม่ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นยางนาต่อผู้อยู่อาศัย/ผู้สัญจรผ่านถนนสายดังกล่าว พบว่าประชาชนร้อยละ 54.23 เห็นว่าต้นยางนาไม่ได้เป็นปัญหา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากต้นยางนาเป็นเอกลักษณ์ของถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน (ร้อยละ 68.81) เห็นว่าต้นยางนาสร้างความร่มรื่นให้กับบ้านเรือน/ร้านค้าบนถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน (ร้อยละ 38.53) เห็นว่าต้นยางนาทำให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์เรื่องราวที่ผ่านมาในอดีตตั้งแต่การก่อสร้างถนน (ร้อยละ 36.24) และเห็นว่าต้นยางนาจะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ (ร้อยละ 29.82)
ในขณะที่อีกร้อยละ 45.77 เห็นว่าต้นยางนาเป็นปัญหา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากกิ่งหรือต้นของต้นยางล้มทับถนนกีดขวางเส้นทางจราจร (ร้อยละ 58.70) เนื่องจากกิ่งหรือต้นของต้นยางล้มทับบ้านเรือน/ร้านค้าของชาวบ้าน (ร้อยละ 52.17) ต้นและรากของยางนากีดขวางเส้นทางจราจร อาจทำให้เกิดอุบัติได้ (ร้อยละ 52.17) และต้นและรากของต้นยางนาทำให้ไม่สามารถขยายช่องทางจราจร (ถนน) ได้ (ร้อยละ 22.83)
เมื่อถามถึงแนวทางในการจัดการต้นยางนาที่มีอายุและทรุดโทรมลงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 61.22 เห็นว่าควรมีการอนุรักษ์/ฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิมที่สมบูรณ์ ในขณะที่ ร้อยละ 34.44 เห็นว่าควรมีการตัดแต่งกิ่งต้นยางนาบางส่วนออก และมีเพียงร้อยละ 4.34 ที่เห็นว่าควรตัดต้นยางนาทิ้งทั้งหมด
เมื่อสอบถามถึงความต้องการและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการในการดูแลต้นยางนา รวมทั้งผู้อยู่อาศัย/ผู้สัญจรผ่านถนนสายดังกล่าวที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นยางนาของภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนมีข้อเสนอแนะ ประกอบด้วย 1) ควรดูแลให้ต้นยางนาไม่ให้กระทบกับความปลอดภัยของบ้านเรือนและสร้างปัญหาด้านการจราจร 2) ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยการชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ 3) ควรมีการตัดแต่งกิ่ง และรากออกบางส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย และ 4) ควรอนุรักษ์และฟื้นฟูให้มีความสวยงามและร่มรื่น
เส้นทางถนนสายเก่า เชียงใหม่-ลำพูน ถือเป็นเส้นทางที่มีเอกลักษณ์ ด้วยการที่ตลอดเส้นทางมีต้นยางนาจำนวนมาก ประกอบกับในช่วงฤดูแล้งจะมีดอกกล้วยไม้ที่ถูกติดไว้รอบต้นยางนาเบ่งบาน ทำให้เส้นทางดังกล่าวมีความสวยงาม สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่สัญจรผ่าน
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นยางนามีอายุและทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก อาจทำให้กิ่งก้านต้นยางนาบางส่วนหัก ส่งผลต่อผู้ที่อยู่อาศัยและสัญจรไปมา การจะอนุรักษ์ให้เส้นทางถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูนให้มีความสวยงามและเป็นประทับใจของผู้คนที่สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าว จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยในการสัญจร รวมถึงอาคารที่พักอาศัยและประชาชนในบริเวณดังกล่าว
จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่าประชาชนยังคงต้องการให้มีการอนุรักษ์ต้นยางนาไว้ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามของพื้นที่ เพียงแต่ประชาชนต้องการให้มีหน่วยงานหลักในการดูแล และบำรุงรักษาต้นยางนา เพื่อให้เกิดความสวยงามและมีความปลอดภัยแก่ผู้สัญจรไปมา และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ เพื่อให้คนและต้นไม้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 403 ราย ระหว่างวันที่ 7 – 14 ตุลาคม 2563 ในหัวข้อ “ต้นยางนา ถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน เอกลักษณ์หรือปัญหา?” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ถึงความคิดเห็นที่มีต่อต้นยางนาในบริเวณนั้น
๐ ที่มา “ยางนา” อายุกว่าร้อยปี
สำหรับประวัติของต้นยางนาอายุกว่าร้อยปี เริ่มมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (เจ้าอินทนนท์) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 โดยมหาอำมาตย์โท เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ ได้เป็นผู้ริเริ่มนำต้นยางนามาปลูกสองข้างทางตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ไปจนจดเขตจังหวัดลำพูน ปลูกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2425 จำนวนประมาณ 1,000 ต้น
โดยมีการกำหนดกฎระเบียบการดูแลรักษาอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเลี้ยงสัตว์บนเขตถนนและที่ทำการของทางราชการ หากสัตว์เลี้ยงของผู้ใดเหยียบย่ำต้นไม้ที่ปลูกไว้จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ถ้าต้นยางนาปลูกไว้ตรงกับหน้าบ้านผู้ใด ก็ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจใส่ทำรั้วล้อมรอบ เพื่อกันวัวควายมาเหยียบย่ำ และให้หมั่นรดน้ำพรวนดินดายหญ้า ใส่ปุ๋ย สำหรับต้นยางนาที่ไม่ตรงกับหน้าบ้านผู้ใดจะมอบหมายให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงรับผิดชอบโดยให้หัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้นำลูกบ้านมาช่วยกันดูแลรักษา
แต่ต่อมาเมื่อต้นยางนามีอายุมากทำให้เสียหายแห้งตาย บางส่วนมีกิ่งแห้งหรือโค่นล้มทับบ้านเรือนหรือตกใส่รถและประชาชนที่ใช้เส้นทางสายสัญจร ทำให้ประสบอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งที่มักมีพายุพัดลมแรงอยู่เสนอ ขณะเดียวกันก็มีประชาชนเห็นว่าควรอนุรักษ์ต้นยางดังกล่าวไว้ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
ทางจังหวัดเชียงใหม่ตระหนักถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของต้นยางนาสองข้างถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางปรับปรุงและแก้ไขปัญหาต้นยางนาบริเวณถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนตั้งแต่ปี 2546 และมีการดูแลโดยภาครัฐ แต่ไม่มีหน่วยงานหลักในการดูแล นอกจากนี้ มีการจัดตั้งกลุ่มในชื่อ“ชมรมคนฮักต้นยาง”เป็นการรวมตัวกันของผู้คนที่ต้องการอนุรักษ์เอกลักษณ์อันทรงคุณค่านี้
๐ รู้จักนิเวศวิทยาต้นยางนา
สำหรับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ “ต้นยางนา” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dipterocarpus alatus Roxb. อยู่ในวงศ์ DIPTEROCARPACEAE มีชื่อสามัญว่า Yang มีชื่ออื่นว่า “ชันนา ยางตัง ทองหลัก ยาง ยางแม่น้ำ ยางขาว ยางควาย” เป็นไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 30 - 40 เมตร “เปลือก” - หนาเรียบสีเทาปนขาว โคนมักเป็นพู ใบเดี่ยวเรียงสลับแผ่น “ใบ” - มีรูปไข่แกม รูปหอก กว้าง 8 - 15 เซนติเมตร ยาว 20 - 35 เซนติเมตร มีขนสีน้ำตาล “ดอก” - สีชมพู ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ ตอนปลายกิ่ง “ผล” - ผลกลม มีปีกยาว 2 ปีก ปีกสั้น 3 ปีก
ข้อมูลเกี่ยวกับ “นิเวศวิทยา” - ขึ้นเป็นหมู่ในป่าดงดิบ และตามที่ต่ำชุ่มชื้นใกล้แม่น้ำ ลำธาร ทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200 - 600 เมตร “ออกดอก” – เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม “เป็นผล” – เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน “ขยายพันธุ์” - โดยเมล็ด เด็ดปีกออกก่อนนำไปเพาะ “วิธีปฏิบัติต่อเมล็ดและการเพาะ” -ใช้เมล็ด เด็ดปีก ก่อนนำไปเพาะ “ข้อสังเกตและผลการทดลอง” คือ 1. เมล็ดจะงอกภายในเวลาประมาณ 12 วัน และ2. ภายในระยะเวลา 7 เดือน ต้นกล้าจะมีความสูงประมาณ 30-35 ซม. สามารถย้ายปลูกได้ “ประโยชน์” ไม้ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เมื่ออาบน้ำยาถูกต้องจะทนทานขึ้น น้ำมันใช้ทาไม้ ยาแนวเรือ ใช้เดินเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ ทำน้ำมันใส่แผล แก้โรคเรื้อน