xs
xsm
sm
md
lg

กรมประมง-ซีพีเอฟ ผนึกชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก “ปล่อยปลาลงเขื่อน” ฟื้นฟูแหล่งอาหาร เพิ่มรายได้แก่ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมประมง และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ร่วมกับชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก สานต่อความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ เพิ่มความสมบูรณ์ให้กับแหล่งอาหารชุมชน และส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยถ่ายทอดองค์ความรู้การอนุบาลปลาแก่ชุมชน ก่อนร่วมปล่อยปลาลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงเยี่ยมชมโครงการสวนผักปลอดสาร


เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 สิงหาคม 2563) ถาวร จิระโภสณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออกจากกระชังอนุบาลลงสู่แหล่งน้ำ และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่กระชังอนุบาลเพื่ออนุบาลต่อ ร่วมด้วย จุมพล สงวนสิน อดีตอธิบดีกรมประมง ในฐานะที่ปรึกษากรมประมง, จรูญศักดิ์ เพชรศรี ผู้อำนวยการกองตรวจการประมง, เขมชาติ จิวประสาท หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมประมง, ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว นายอำเภอพัฒนานิคม ชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ผู้บริหารสายธุรกิจเป็ดเนื้อ CPF และพนักงาน ร่วมกิจกรรมโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ชุมชนพื้นที่เขาพระยาเดินธง ณ อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี

ความร่วมมือทั้ง 3 ภาคส่วนดังกล่าว คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาปริมาณปลาในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ลดลง และสร้างระบบนิเวศที่สมดุล ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ( ปี 2559-2562) ทั้ง 3 ภาคส่วนร่วมปล่อยปลาสู่แหล่งน้ำ จำนวนกว่า 2.6 ล้านตัว ส่วนในปี 2563-2566 มีแผนร่วมกันดำเนินโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ชุมชนพื้นที่เขาพระยาเดินธง ปล่อยปลาลงเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมาย คือการเพิ่มจำนวนปลาที่จับได้ในแหล่งน้ำ เพื่อจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานด้านการอนุบาลปลา ซึ่งซีพีเอฟได้ต่อยอดจากโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่

กิจกรรมครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือแบบสามประสานอย่างต่อเนื่องซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 5 เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยปล่อยพันธุ์ปลาที่อนุบาลแล้ว 1 แสนตัว เติมความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารชุมชน เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมา กรมประมง และซีพีเอฟ นำองค์ความรู้อนุบาลปลาถ่ายทอดให้แก่ชุมชน ก่อนปล่อยลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดของปลาที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ภายใต้การดำเนิน "โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ชุมชนพื้นที่เขาพระยาเดินธง ปล่อยปลาลงเขื่อน"


ถาวร จิระโภสณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงมีนโยบายสร้างผลผลิตเพิ่มในแหล่งน้ำธรรมชาติ เหมือนธนาคารผลิตสัตว์น้ำ หากที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นมีปลา ซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนด้านแหล่งอาหารให้กับชุมชน แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นมากน้อยขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากชุมชนด้วย ขณะเดียวกัน การได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการต่างๆ ถือว่าสร้างการมีส่วนร่วมในการบูรณาการที่จะส่งผลดีทั้งต่อชุมชน รวมถึงพื้นที่ป่า

ด้าน กีรติศักดิ์ สุวรรณธนะกรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 โคกสลุง ในฐานะประธานโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปล่อยปลาลงเขื่อน กล่าวว่า ในอดีตมีการปล่อยปลาลงเขื่อนเป็นจำนวนมาก แต่พบปัญหาลูกปลามีอัตราการรอดต่ำ ส่งผลต่อปริมาณปลาที่จับได้ที่หน้าท่าลดลงทุกปี กระทบชุมชนโดยรอบเขื่อนที่มีรายได้จากอาชีพจับปลา ความร่วมมือในครั้งนี้ นำแนวทางอนุบาลปลาเพิ่มอัตราการรอดของปลาที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำ ทำให้มีปริมาณปลาเพิ่มขึ้น เกษตรกรและชุมชนโดยรอบเขื่อน มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากการจับปลาและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ปลาส้ม ปลาย่าง และปลาร้า เป็นต้น ทำให้ชุมชนมั่นใจว่าจะสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปล่อยปลาลงเขื่อน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยซีพีเอฟต่อยอดจากโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่ หลังจากที่ขยายสู่โครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสาร เพื่อร่วมสร้างองค์ความรู้ ทำให้ชุมชนมีทรัพยากรในพื้นที่อย่างยั่งยืน

ส่วนความคืบหน้าโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสาร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในชุมชนปลูกผักตามวิถีเกษตรธรรมชาติ ปัจจุบันเกษตรกรที่นี่เข้าร่วมโครงการนี้ 40 ราย จึงมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกผักปลอดสาร และมีผักที่สะอาด ปลอดภัย ไว้บริโภค ในชุมชนที่เกษตรกรเข้าร่วมมีรายได้จากการปลูก รวมไปถึงการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักชนิดต่างๆ เพื่อจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ตามวิถีภูมิปัญญาชุมชน ทำให้ชุมชนมีธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ปลอดสารไว้สำหรับขยายพันธุ์ต่อไป