xs
xsm
sm
md
lg

สศช. วิเคราะห์ปัญหาและกลไกการดำเนินงาน Smart Farming เพิ่มแต้มต่อให้เกษตรกรไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงปี 2562 – 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เลือกประเด็น“การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)” มาทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและผลักดันกลไกให้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรนั้น


ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เป็นประเด็นการพัฒนาที่มีลำดับความสำคัญสูงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2565) โดย สศช. ได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเบื้องต้น เพื่อจัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อนในระยะต่อไป ซึ่งพบว่า การขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในขณะนี้มีประเด็นท้าทายที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนี้

1)การกำหนดคำนิยามของคำว่า “เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)” ยังไม่ชัดเจน โดยแต่ละหน่วยงานได้ให้คำจำกัดความหรือนิยามที่แตกต่างกันไป เช่น บางหน่วยงานนิยามว่าเกษตรอัจฉริยะหมายถึงเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก หรือนิยามไปที่ตัวเกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางการเกษตรเท่านั้น ดังนั้น สศช. จึงได้ศึกษาวิเคราะห์และประมวลได้ว่า “เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)” จะหมายถึงวิธีทางการเกษตรที่มีการวิเคราะห์พื้นที่ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ใช้หลักการทำน้อยได้มาก ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเกษตรอัจฉริยะ ควบคุมกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ขนส่ง ตลอดจนการแปรรูป รวมถึงการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต 

ตัวอย่างเช่น การใช้ Agri-Map เพื่อตรวจสอบสภาพดินและการเลือกเมล็ดพันธุ์ การควบคุมปริมาณแสง ความชื้น และอุณหภูมิ การกำหนดปริมาณสารอาหารและน้ำที่เหมาะสม การใช้ระบบเซนเซอร์เพื่อการบริหารจัดการแปลงและโรงเรือน การกำจัดศัตรูพืช รวมถึงการสั่งการระยะไกล โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยสนับสนุน รวมทั้งการวางแผนและตัดสินใจทำการเกษตรบนฐานข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง โดยการพัฒนา Big Data Platform ด้านเกษตรอัจฉริยะเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการผลิต ทั้งนี้ การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะให้บรรลุเป้าหมาย จะต้องขับเคลื่อนองค์ประกอบสำคัญใน 5 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ ตัวเกษตรกร เทคโนโลยี กระบวนการผลิตและเก็บเกี่ยว ตลาด และเงินทุน

2)การขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะยังขาดการทำงานร่วมกันในเชิงบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรอัจฉริยะมีการขับเคลื่อนโดยหลายหน่วยงานแต่การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดการบูรณาการ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ของเกษตรกรให้รู้แนวคิดการเป็น Smart Farmer เท่านั้น ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาในด้านอื่นๆ ด้วย และหลายโครงการของกระทรวงเกษตรฯ มีความซ้ำซ้อนและคล้ายคลึงกัน 

ในขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสถาบันการศึกษาในพื้นที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัย แต่ไม่มีเงินทุนให้เกษตรกรซื้อเทคโนโลยีมาใช้งาน กระทรวงพาณิชย์ไม่มีการสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับสินค้าที่เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก Smart Farming อย่างชัดเจน 

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีโครงการสินเชื่อเพื่อการเกษตรแต่ไม่ได้สนับสนุนเป็นการเฉพาะสำหรับการทำเกษตรอัจฉริยะ หรือบางหน่วยงานแยกส่งเสริมเป็นรายผลผลิต เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรในภาคตะวันออก เน้นผลักดันให้นำเกษตรอัจฉริยะมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกผลไม้และการทำผลไม้แปรรูป ขณะที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติให้เงินทุนสนับสนุนภาคเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้น

3)ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลนโยบายเกษตรอัจฉริยะอย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเกษตรกรหนึ่งคนต้องการเข้าร่วมการทำเกษตรอัจฉริยะโดยการพัฒนาองค์ความรู้ของตน ต้องการใช้เทคโนโลยี แต่ขาดเงินทุน เกษตรกรคนดังกล่าวต้องติดต่อกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ ธ.ก.ส. ด้วยตนเอง 

ดังนั้น จึงควรกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจน โดยอาจเป็นกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน รวมถึงประสานให้เกิดการส่งไม้ต่อการดำเนินงานจากหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่งได้อย่างมีบูรณาการ



ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์
นอกจากนี้ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ข้อคิดเห็นว่า "เกษตรอัจฉริยะเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของการยกระดับเกษตรกรรมของประเทศไทย ดังนั้น นอกจากต้องสร้างการบูรณาการด้านความรู้ ข้อมูล และวิธีการต่างๆ จากหลายภาคส่วนแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการยกระดับการใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือหลังจากส่งเสริมให้เกษตรกรเริ่มนำเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนมากมาใช้ เช่น อากาศยานไร้คนขับระบบน้ำหยด การใช้พลังงานโซล่าเซลล์ ควรผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีที่สูงขึ้นมาใช้ เช่น หุ่นยนต์เพื่อการเกษตร หรือการใช้ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์"

ทั้งนี้ สศช. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อค้นพบจากการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้นกับหน่วยงานและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และระดมความเห็นในเชิงลึกเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ก่อนเสนอไปยังระดับนโยบายเพื่อพิจารณา ซึ่งผลการลงพื้นที่จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามต่อ และน่าคิดว่าหาก Smart Farming สามารถผลักดันในทางปฏิบัติได้จริง จะเปลี่ยนโฉมหน้าภาคการเกษตรไทยไปได้ขนาดไหน