xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบ “อดอาหาร” ช่วยลดโรค “มจร วัดไร่ขิง”นำ“ไอเอฟ” บูรณาการหลักพุทธศาสนา ผุด“THEEB โมเดล”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มจร.วัดไร่ขิง” โชว์งานวิจัยดีเด่น “การอดอาหารตามแนวคิด Intermittent fasting หรือ IF” พร้อมนำเสนอ “THEEB โมเดล” องค์ความรู้ใหม่เชิงพุทธที่บูรณาการมุ่งเน้นการมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพที่ดี

วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี หรือ มจร.วัดไร่ขิง ได้คัดเลือกวิทยานิพนธ์ดีเด่น ในปี 2563 คืองานวิทยานิพนธ์ผลของโปรแกรมการอดอาหาร ตามแนวคิด “Intermittent fasting” หรือ IF ของ น.ส.ธีระวรรณ สุขสันต์ไพศาล นิสิตพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา

น.ส.ธีระวรรณ  สุขสันต์ไพศาล นิสิตพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา  (บนขวา) และน.ส.วิภาวี เกสรบุญนาค นักโภชนาการ ให้ความรู้ แนะนำหลักการโภชนาการที่เหมาะสม (ล่าง))
ผลงานวิจัยดังกล่าว ได้ศึกษาหลักพระพุทธศาสนาเถรวาทที่กล่าวถึงการอดอาหารให้เป็นไปเพื่อการรักษาสมดุลในการดำรงอยู่อย่างปกติสุขทั้งร่างกายและจิตใจ มาใช้เป็นพุทธวิธีในการฝึกปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธศาสดา ร่วมกับโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคตามแนวคิด “อินเทอมิเท็นฟาส์ตติ้ง “หรือ Intermittent Fasting (ไอเอฟ) 

โดยได้วิจัยกับกลุ่มตัวอย่างพระนิสิต และประชาชนทั่วไป จำนวน 15 รูป/คน อายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต โดยให้กลุ่มตัวอย่างเข้าโปรแกรมไอเอฟ จัดเวลาการบริโภคอาหารใน 1 วัน แบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงบริโภคอาหาร และช่วงอดอาหาร ด้วยการกำหนดเวลาในการอดอาหารเป็นเวลา 16 ชั่วโมง จำนวน 14 วัน ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่า มีผลทำให้ไขมันที่สะสมอยู่ที่หน้าท้องลดลงและระบบเผาผลาญพลังงานดีขึ้นทำให้น้ำหนักลดลง

ภาพ - พระสงฆ์เข้าร่วมโปรแกรม
ผลจากการวิจัยพบว่า ในทุกด้านมีค่าเฉลี่ยก่อนการทดลองสูงกว่าหลังการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ ค่าดัชนีมวลกายลดลง ค่าน้ำหนักตัว เส้นรอบเอวลดลง ระดับไขมันในช่องท้องลดลง เปอร์เซ็นไขมันในร่างกายลดลง ระดับไขมันในเลือดลดลง และระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และจากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการสวดมนต์ไหว้พระ ทำบุญ เข้าร่วมปฏิบัติธรรมเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ มีการดำเนินชีวิตประจำวันตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีผลสอดคล้องและช่วยส่งเสริมให้งานวิจัยครั้งนี้เห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น

น.ส.ธีระวรรณ เจ้าของวิทยานิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลงานวิจัยครั้งนี้ยังได้นำเสนอองค์ความรู้ใหม่เชิงพุทธบูรณาการมุ่งเน้นการมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพที่ดี คือ “THEEB โมเดล” ประกอบด้วย Though คือ ความคิดดำริชอบทบทวนรอบด้าน ตามหลักพระพุทธศาสนา ความคิดสำคัญที่สุด ความคิดที่ถูกต้องทำให้เราเข้าใจ และจะกำหนดทิศทางกระทำที่ถูกได้ Harmony กลมกลืนกับสรรพสิ่ง สุขภาพจะดีอย่างยั่งยืนได้ คือการปรับพฤติกรรม และวิถีชีวิตให้สอดคล้องกัน Exercise ออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ Eating การบริโภคอาหารเพื่อประโยชน์ในการดำรงอยู่ของขันธ์ห้า มิใช่เพื่อสนองกิเลส บริโภคแต่พอดี ตามหลักโภชเนมัตตัญญุตา Balancing รักษาสมดุลในการบริโภค เว้นช่วงเวลาในแต่ละวันจากการบริโภคอย่างน้อย 16 ชั่วโมง