พัฒนาการสินค้าด้วยแนวคิด Zero Waste มักจะเน้นไปที่สินค้าระดับอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน โซลาร์ฟาร์ม หรือการใช้น้ำแบบหมุนเวียนเป็นหลัก ไม่ค่อยได้เห็นสินค้าแปลกใหม่ในระดับอุปโภคบริโภคมากนัก จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตที่เป็นเอสเอ็มอีในอินเดียได้ผลิตแท่งช็อกโกแลตที่สร้างประวัติศาสตร์ First Zero Waste Chocolate ขึ้นเป็นการปรับแบรนด์สินค้าครั้งใหญ่
ช็อกโกแลตแท่งที่ว่านี้ผลิตในอินเดียโดยบริษัท Cocoatrait จึงตั้งชื่อสินค้านี้ว่า “Kocoatrait” หน้าตาเหมือนกับช็อกโกแลตแท่งทั่วไป และผ่านการรับรองรสชาติจาก the International Institute of Chocolate and Cacao Tasting ในอังกฤษแล้วด้วย
แต่ความแตกต่างคือ หีบห่อมีความเป็นงานศิลป์มากกว่าหีบห่อทั่วไป เพราะใช้เทคโนโลยีและวัสดุจากธรรมชาติในการผลิตแท่งช็อกโกแลตที่ใช้ซ้ำได้ (Reusable) 100% ที่อ้างว่ามีผลกระทบน้อยมากต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ณ จุดผลิต ไปจนถึงการใช้ของผู้บริโภค และถึงจุดที่ทิ้งหีบห่อหลังบริโภคแล้ว
ความท้าทายสำคัญคือ การผลิตสินค้าประเภทแท่งช็อกโกแลตนี้จะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเป็นธุรกิจที่สนองรับต่อแนวคิดความยั่งยืนได้จริงหรือไม่ เพราะจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในปี 2018 พบว่าแท่งช็อกโกแลต 1 แท่ง ต้องใช้น้ำในการผลิตถึง 1,000 ลิตร และในอังกฤษ อุตสาหกรรมผลิตช็อกโกแลตสร้างมลภาวะในอากาศรวมกันราว 2.1 ตันต่อปี
การดำเนินการของบริษัท Cocoatrait คือ หานวัตกรรมที่ไม่มีกระดาษ หรือพลาสติกเกี่ยวข้องในหีบห่อเลย ด้วยการริเริ่มไอเดียในการใช้ฝ้ายและเปลือกถั่วโกโก้แทน ที่มีข้อดีคือ
ประการแรก นอกจากจะเป็นวัสดุประเภท biodegradable แล้วยังทำให้หีบห่อบางลงจากเดิมมาก สิ้นเปลืองพื้นที่วางหีบห่อบนชั้นวางสินค้าน้อยลง น้ำหนักเบาในการขนส่ง และลดการผลิตคาร์บอนฟูตพรินต์ด้วย
ประการที่สอง สีสันบนหีบห่อยังทำให้เป็นงานศิลปะ รูปทรงแบบเรขาคณิตที่ซับซ้อนตามความเชื่อทางศาสนาของภาคพื้นเอเชีย อย่างเช่นที่ปรากฏในศาสนาฮินดู พุทธ เชนและชินโด แสดงความงดงาม เป็นการแสดงจิตวิญญาณของความเชื่อทางศาสนา
ประการที่สาม สามารถคลี่หีบห่อสินค้าออก เอาด้านในของหีบห่อมาใช้เป็นการจดโน้ตเพื่อเตือนกิจกรรมประจำวันได้ โดยทำหน้าที่เหมือนปฏิทิน หรือสามารถนำไปใช้เป็นการ์ดแสดงความยินดี เพราะศิลปะที่ปรากฏอยู่บนหีบห่อ ทำให้มันมีคุณค่าเกินกว่าจะทิ้งไปเมื่อกินช็อกโกแลตหมดแล้ว
ประการที่สี่ ตัวช็อกโกแลตเองก็ผลิตด้วยการใช้น้ำตาลทรายแดงที่ไม่ผ่านการฟอกสี และใช้การปลูกแบบธรรมชาติหรือออร์แกนิก และใน 11 รสชาติ ก็ทำให้มีรสชาติแบบอินเดีย ได้วัตถุดิบการผลิตรสชาดิมาจากฟาร์มในท้องถิ่นเอง ช็อกโกแลตแท่งนี้ จำหน่ายในราคาประมาณ 3-4 ดอลลาร์ และมีแนวโน้มความต้องการจากลูกค้าเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกเหนือจากแบรนด์ช็อกโกแลต Kocoatrait แล้ว ผู้ผลิตสินค้าประเภทช็อกโกแลตน้อยรายมากที่มีความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอสินค้าที่สะท้อนแนวคิดของความยั่งยืน หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น เมล็ดและถั่วช็อกโกแลตในอังกฤษเอง ที่มีเป้าหมายและโปรโมตการใช้หีบห่อตัวช็อกโกแลตแบบ zero-waste โดยทำมาจากวัสดุประเภท เซลลูโลส ฟิล์ม ที่ผลิตจากเยื่อไม้ยูคาลิปตัส โดยตัวช็อกโกแลตเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากสาธารณรัฐโมมินิกัน ไม่เหมือนกับช็อกโกแลต Kocoatrait ที่ผลิตจากวัสดุในท้องถิ่นเอง
เมื่อมองจากตัวสินค้าเล็กๆ ผู้ประกอบการหรือแม้แต่ผู้บริโภคอาจจะมองว่าช็อกโกแลตเป็นสินค้าราคาถูก แต่ภายในส่วนผลมของสินค้านี้มีหลายอย่างที่อยู่ในข่ายที่สวนทางกับแนวคิดเรื่องกรีน โดยเฉพาะน้ำตาลที่ผ่านระบวนการฟอกสี ไปจนถึงน้ำมันปาล์ม ที่การผลิตมากเกินไปมีส่วนในการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ดังนั้น ในวันนี้ แนวโน้มของผู้ประกอบการที่ผลิตช็อกโกแลต ส่วนหนึ่งมีความชัดเจน มีปณิธานที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจของตนสู่การเป็น 'ethical chocolate'
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในกลุ่ม 'ethical chocolate' นี้ มุ่งไปที่ธีมของการพัฒนาสินค้าช็อกโกแลตของตนจากของหวานไปสู่การเป็นแบรนด์ที่เป็นมิตรกับพืชผักมากขึ้น (Vegan friendly) เพื่อให้สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ในทางลบของช็อกโกแลต จากที่เป็นสินค้าที่ทำให้อ้วน เสียสุขภาพ สู่การเป็นสินค้าที่ส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น
สินค้าช็อกโกแลตประเภท Vegan-friendly จึงมีมากขึ้น ได้แก่ แบรนด์ Divine chocolate หรือแบรนด์ Booja Booja แบรนด์ Original Beans แบรนด์ Eat Your Hat แบรนด์ Raw Halo หรือแบรนด์ Seed&Bean ที่ได้ผ่านการรับรองด้าน 100% ethical accreditation in the Ethical Company Index
ด้วยข้อมูลของการพัฒนาที่ล้ำไปข้างหน้าหลายประการเหล่านี้ ทำให้ ช็อกโกแลต Kocoatrait ยังคงเป็นสินค้าที่บุกเบิกสู่การเป็น zero-waste chocolate รายแรกของโลกในวันนี้ ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าแบรนด์ช็อกโกแลตของอินเดียรายนี้ น่าจะมีอิทธิพลไม่มากก็น้อยให้กับผู้ผลิตช็อกโกแลตรายอื่นสนใจการพัฒนาจาก 'ethical chocolate' สู่ความเป็น zero-waste chocolate ในไม่ช้า
นอกเหนือจาก zero-waste chocolate ผู้บริโภคในตลาดโลกยังพยายามแสวงหาสินค้าที่ราคาถูกๆ อื่นๆ ที่เป็น zero-waste อีกอย่างเช่น Zero waste butter หรือ Zero waste ice cream หรือแม้แต่ Zero waste chips และ Zero waste pasta