การเปลี่ยนยุคและสมัยในลักษณะที่เป็นการปฏิวัติแบบการปฏิบัติทางอุตสาหกรรมมีให้เห็นในศตวรรษที่ 21 ส่วนหนึ่งจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่ทยอยเกิดจนครบทั่วทั้งโลก
ตอนนี้ได้เกิดคำศัพท์ใหม่ที่เรียกผู้ประกอบการว่า social intrapreneurs ที่เป็นการปฏิบัติกิจการโดยคนภายในกิจการเอง ไม่ใช่จากสภาพแวดล้อมภายนอก
คำว่า intrapreneur เป็นคำที่ใช้เรียกผู้คนที่เป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาขับเคลื่อนภายในองค์กรและกิจการขนาดใหญ่ ที่มุ่งเน้นไปที่ผลทางบวกต่อผลประกอบการของกิจการผ่านการทำงานของคนคนนั้นเอง และยังคำนึงถึงผลดีต่อสังคมภายนอกไปพร้อมกันด้วย จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจทั้งใบได้
คนกลุ่มนี้เอาสถานการณ์ที่เกิดในสังคมมาเป็นปัจจัยตั้งต้น และหาทางสร้างนวัตกรรมของงานของตน เพื่อให้องค์กรสามารถผลิตสินค้าที่รองรับเป้าหมายความสามารถในการทำกำไร และความสามารถในการดูแลสังคมได้ รวมทั้งปรับการผลิตสินค้าจากเดิมเป็นการทำการผลิตอย่างอื่น ให้สายพานการผลิตสามารถผลิตหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์แทนได้
การสร้างนวัตกรรมของการผลิตสินค้าและบริการนี้ คำนึงถึงเป้าหมายของกิจการและเป้าหมายทางสังคมเป็นองค์ประกอบที่ผสมผสานกัน ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกเรียกขานกันว่าเป็น “Social intrapreneur”
ประการแรก Social intrapreneurs คือพนักงานที่สร้างสรรค์ ริเริ่มสร้างนวัตกรรมภายในองค์กรของตนเอง โดยยังคงรองรับพันธกิจ กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ และค่าเป้าหมายผลประกอบการของกิจการ เพื่อหวังปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของกิจการและยกระดับโลกนี้ให้ดีขึ้นแบบสุดขั้ว
ประการที่สอง Social intrapreneurs มุ่งความเป็นอยู่ที่ดี คุณภาพชีวิตของสังคมในด้านการศึกษา สภาพแวดล้อม หรือแม้แต่สถานะทางการเงิน และใหญ่ขนาดโลกทั้งใบ
ประการที่สาม บทบาทของ Social intrapreneurs ไม่ใช่กลุ่มที่ทำงานแบบ Work-from-Home เพื่อป้องกันตนเองจากความเสี่ยงของเชื้อโรคติดต่อร้ายแรง หากแต่ยังทำงานในกิจการ และพยายามสร้างสรรค์สายพานการผลิตใหม่ และทำให้สามารถผลิตผลใหม่ๆ บริการรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ที่จะเป็นบวกต่อสังคม และยังออกไปช่วยทำกิจกรรมทางการตลาดให้สังคมเกิดความเข้าใจดีขึ้นด้วย
ตัวอย่างของ Social intrapreneurs ที่เกิดขึ้น-กรณีของ BP ที่ออกแคมเปญส่งเสริมให้คนขับรถลดการใช้น้ำมันลง-กรณีของไมโครซอฟท์ ที่ปรับโปรแกรม Office TEAM เป็น Microsoft TEAM เพื่อรองรับการทำงาน การประชุม การเรียนการสอนทางไกล -โคคา-โคลาออกแคมเปญการช้ำแบบยั่งยืนและแนวทางใหม่ในการท้าทายปัญหาทางสังคม-ฟอร์ด มอเตอร์ พัฒนาโครงการที่ออกแบบรถให้รองรับความต้องการขนส่งในชนบท-บริษัท Dow Chemical คิดค้นเทคโนโลยีที่หันมาใช้เคมีภัณฑ์กรีนแทนสารอันตรายได้-ยีนลีวายสร้างสายพานการผลิตที่ใช้น้ำน้อยลงจนเกือบไม่ใช้เลย
ไม่ว่าแนวทางจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม Social intrapreneurs เป็นกลุ่มคนทำงานระดับปฏิบัติการที่กล้าหาญในการกล้าเปลี่ยนแปลงงานของตนเอง จากที่คุ้นเคย เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรจากล่างขึ้นบน (Bottom-up) ไม่ใช่บนลงล่างตามปกติ (Top-down) จนเกิดไอเดียใหม่ๆ โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และประโยชน์ทางสังคมพร้อมกัน
คุณสมบัติสำคัญของ Social intrapreneurs ในองค์กร เป็นสิ่งที่องค์กรจะต้องให้ความสำคัญ และถือเป็นน้ำหนักในการสรรหา คัดเลือก ปลูกฝัง และพัฒนาบุคลากรตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแบบเฉียบพลันได้ทันทีที่สังคมเกิดความเดือดร้อนแบบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ โดยในระดับโลกตอนนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งวิชาชีพของบุคลากร เรียกว่า “corporate social intrapreneurs” วิชาชีพในการสร้างผลกำไรทางการเงินและมูลค่าเพิ่มทางสังคมผ่านการทำงานในลักษณะโครงการวิจัยและพัฒนาในระหว่างการปฏิบัติงานประจำ
การปลดล็อกไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากรที่มีความเป็น Social intrapreneurs อยู่ในตัว มาจากการตั้งกองทุนให้การสนับสนุนด้านการเงินและทรัพยากรสำหรับการขอทำโครงการเชิงนวัตกรรมที่ตอบโจทย์และปัญหาทางสังคมแบบเร่งด่วน เพื่อให้ได้ผลงานที่สามารถใช้ได้ทันกาลและทันท่วงทีในจังหวะที่มีความต้องการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางสังคมได้จริง
ความท้าทายคือ บุคลากรกลุ่มใดบ้างที่ควรจะยกระดับขึ้นมาเป็น Social intrapreneurs ให้มี Role Model ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน และธีมของการดำเนินการควรจะเป็นเรื่องใด ในสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ทั้งปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว
กิจการอาจจะต้องพัฒนาแบบแผนหรือ Social intrapreneurs Platform ให้ชัดเจน ให้บุคลากรที่ได้รับการตั้งเป็น Social intrapreneurs นำไปตอบคำถามหลักๆ ให้ได้ เพื่อทำโครงการเสนอขอเงินทุนใช้ในโครงการที่ต้องเป็น Fast-tract แบบรวดเดียวเสร็จ แล้วค่อยๆ ปรับปรุงจนเป็นระดับพรีเมียมในระยะต่อไป
ท้ายที่สุด อาจจะมองว่า Social intrapreneurs เป็นแนวทางใหม่ของ CSR แทนที่ผู้บริหารองค์กรจะคอยบอกว่ากิจการต้องมีโปรแกรมการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร หรือออกไปตั้ง Social Enterprise แยกต่างหาก ซึ่งไม่ได้จำเป็น หากกิจการมีบุคลากรที่มีความเป็น Social intrapreneurs มากมายในสายวิชาชีพ ไม่ใช่สายบริหารตามปกติ