ตัวอย่างที่เห็นจริงในการสร้างชุมชนรู้จักช่วยตัวเองด้วย “เกษตรทฤษฎีใหม่” และร่วมกันแก้ปัญหาแล้งซ้ำซาก โดยไม่รอให้ใครช่วยเหลือ เกิดผลลัพธ์ได้ทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ป่าเขียวชอุ่ม รายได้เพิ่ม คนที่หนีวิกฤตโควิดกลับถิ่นฐานก็อยู่ได้
เมื่อเร็วๆ นี้ เอสซีจีร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และสยามคูโบต้า ได้เปิดตัวโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 108 ปี ในปี 2564
วัตถุประสงค์ ก็คือ การสนับสนุนให้ชุมชนตื่นตัวร่วมกันแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยตัวเองตามแนวพระราชดำริที่ใช้ “ความรู้ร่วมกับคุณธรรม” ทั้ง “ความรู้” ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตรวจสอบแหล่งน้ำ วางแผนจัดทำผังน้ำและการใช้น้ำที่เหมาะสม
ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริม “คุณธรรม” ให้คนในชุมชน “รู้ รัก สามัคคี มีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเอง” มีการจัดสรรแบ่งปันน้ำอย่างเป็นธรรม โดยมีชุมชนแกนนำของอุทกพัฒน์และเอสซีจีร่วมเป็นพี่เลี้ยง
โครงการนี้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนา 108 ชุมชน ภายใน 2 ปี ให้เป็นต้นแบบในการแบ่งปันความรู้สู่ชุมชนอื่นต่อไป
ขณะที่ตอนนี้กระแสโลกต่างทุกข์ร้อนจากโรคโควิด แต่ผลวิจัยซูเปอร์โพล สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เกี่ยวกับผลกระทบภัยแล้งกับโควิด-19ปรากฏว่า เกษตรกรร้อยละ 90.4กลัวภัยแล้งมากกว่าโควิด-19
ทำไม “เสียงเกษตรกร” ที่สะท้อนผ่านโพลจึงสวนทางกับกระแสความตื่นตระหนกต่อโรคระบาดของเชื้อไวรัสขณะนี้
เพราะความรุนแรงของภัยแล้งที่เจอประจำและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยมากกว่าพิษโควิด-19 อีกทั้งความเสียหายทางการเกษตรยังเป็นปัญหาลูกโซ่ที่จะส่งผลกระทบต่อวงจรการผลิตของภาคการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งอาหาร เป็นรายได้และเป็นความมั่นคงในชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ เกษตรกรจึงต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งให้ครบเครื่อง ให้เกิดผลยั่งยืน
เมื่อท้องถิ่นมีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร แรงงานที่ว่างงาน เนื่องจากธุรกิจหรือโรงงานหยุดชะงัก จากมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมเพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อ เมื่อกลับสู่ภูมิลำเนา จะมีทางเลือก มีอาหาร มีอาชีพทดแทน มีความอบอุ่นจากครอบครัว แล้วความสุขตามวิถีชีวิตพอเพียงก็จะเกิดขึ้นกับชุมชน
น่าจะเป็นการดีหากมีแนวทางรอดของเกษตรกรไทยที่สามารถช่วยแก้ได้ทั้ง “ปัญหาภัยแล้ง” และรอดจากพิษ “โควิด-19”
เรามาดูกรณีศึกษาด้านการจัดการน้ำของ “ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น” ซึ่งเป็นต้นแบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ที่หลังจากได้เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำจากพื้นที่สูง จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เป็นผลให้ชุมชนนี้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ พร้อมทั้งสามารถฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่ากว่า 2,800 ไร่ ให้กลายเป็นป่าเขียว ที่เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงตัวเองในชุมชนได้ด้วย
พิชาญ ทิพวงษ์ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต เล่าถึงวิถีชีวิตที่เติบโตมาในสภาพพื้นที่มีฝนดี 2 ปี และแล้ง 4 ปี ชุมชนต้องเผชิญทั้งภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมซ้ำซากวนเวียนมากว่า 40 ปี ช่วงแล้งที่สุดจะเห็นคนในหมู่บ้านกว่า 300 คน ต้องยืนต่อคิวอาบน้ำจากบ่อน้ำเดียวกัน ส่วนการได้น้ำดื่มก็ต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 ตี 3 ไปตักน้ำในบ่อน้ำตื้นใกล้ป่าภูถ้ำ
เมื่อสิ้นฤดูเพาะปลูก ไม่มีน้ำ คนหนุ่มสาวต่างก็อพยพไปรับจ้างขายแรงงานในต่างถิ่น บางคนไปเป็นชาวประมงหาปลาในทะเล บางคนทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ โอกาสที่จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว ก็เฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษาและออกพรรษาเท่านั้น”
ชุมชนลุกขึ้นจัดการน้ำ
“เมื่อก่อนชาวบ้านเป็นนักร้อง เรียกร้องขอความช่วยเหลือหรือคัดค้านโครงการ เมื่อได้มีโอกาสเจอดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ท่านตั้งคำถามที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า เกิดความมั่นคงทางน้ำ อาหาร เศรษฐกิจ
พิชาญเล่าถึงผลสำเร็จว่า เมื่อเริ่มต้นจัดการน้ำ ทำให้ชุมชนมีแหล่งกักเก็บน้ำถึง 1 แสนลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้พอเพียงได้อีก 4-5 ปี โดยไม่เดือดร้อนแม้จะเจอกับภัยแล้ง ชุมชนมีความมั่นคงทางน้ำ อาหาร เศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้คนในท้องถิ่นไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปหางานในเมืองหลวงหรือต่างจังหวัด เกษตรกรใน ต.แวงน้อย หันมาปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้ 68 ครัวเรือน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า หรือปีละไม่น้อยกว่า 12 ล้านบาท
“พี่น้องชุมชนต้องรู้จักจัดการตัวเอง อย่ารอให้คนอื่นมาแก้ปัญหา เมื่อน้ำคือชีวิต ทุกคนต้องการน้ำ เราต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อที่จะรอดแล้งในปี 2563 ด้วยการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม จึงมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง และมีรายได้เพิ่มขึ้น คนไม่อพยพแรงงานไปในเมือง ป่าต้นน้ำก็มีความเขียวชอุ่ม แม้ในฤดูแล้ง”
ข้อคิด...
มีข้อมูลชัดเจนว่า "ภัยแล้ง" ปีนี้จะเป็นปัญหารุนแรงที่สุดในรอบ40ปี ซึ่งจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนชุมชนต่างๆอย่างมาก
โครงการ"เอสซีจีร้อยใจ 108ชุมชน รอดภัยแล้ง" ที่ทำขณะนี้ถึงปี2564 นับว่ามีความหมายและถูกจังหวะ ด้วยวัตถุประสงค์และผลลัพธ์สำคัญที่วัดผลได้
กรณีศึกษาข้างต้น ที่ชุมชนป่าภูถ้ำ จังหวัดขอนแก่น จึงเป็นตัวอย่างที่ยืนยันผลสำเร็จของแนวทางการพัฒนาชุมชนที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ช่วยตัวเองได้ เป็นความยั่งยืน เรียกว่า "ไม่ใช่เอาปลาไปแจก แต่สร้างการเรียนรู้วิธีเพาะเลี้ยงปลา แจกพันธุ์ปลาและอุปกรณ์จับปลา"
ในการนี้จึงมีการกระตุ้นให้คนในชุมชนตื่นตัว เปลี่ยนวิธีคิด หันมาใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ และยึดแนว"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน จะดีกว่าการรอคอยความช่วยเหลือ ด้วยวิธีทำงานที่อิงความรู้ทางเทคโนโลยีด้านข้อมูล เพื่อการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้เกิด แหล่งน้ำ แหล่งอาหารเลี้ยงชีพ และเพิ่มรายได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ในวิถีพอเพียง
ดังนั้นแม้ต้องเผชิญ "ภัยแล้ง" ที่สุดโหด ซ้ำเติมด้วย "ภัยโควิด" ที่ร้ายเกินคาด ส่งผลให้มีการอพยพแรงงานกลับคืนถิ่นในภูมิภาค ที่หนีความอดอยากจากการตกงาน เพราะกิจการงานหยุดชะงักอย่างไม่แน่นอน
แต่เพราะความช่วยเหลือจากโครงการที่สร้างผลิตภาพและผลผลิตดังกล่าว ช่วยใหัเกิดความอยู่รอดปลอดภัยได้ ทั้ง การเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพชีวิต
suwatmgr@gmail.com