ขยะหน้ากากอนามัยที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จัดอยู่ในประเภทขยะติดเชื้อ (Infectious waste) จำเป็นต้องแยกทิ้งต่างหาก เพื่อการนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่ให้เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ ซึ่งจากการที่พนักงานเก็บขยะขอความร่วมมือประชาชนให้ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ให้เป็นสัดส่วน แยกจากขยะทั่วไปนั้น
เพจพลังงานจากขยะ (Energy from Wastes) โพสต์ว่าได้มีผู้ที่มีความหวังดี กรุณาเสนอไอเดีย ให้ทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ขวด PET แบบนี้ (ตามภาพ) ไปตามสื่อโซเชียลต่างๆ ซึ่งต้องขอชื่นชมในน้ำใสใจจริง แต่ต้องขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่า “ไม่ควรทิ้งแบบนี้” เพราะ
1. การบรรจุขยะประเภทติดเชื้อแบบนี้ ในขวดพลาสติก จะไม่สามารถกำจัดได้โดยง่าย นอกจากการเผาตรง ซึ่งเป็นวิธีที่สร้างมลภาวะมากกว่าเดิม เพราะต้องเผาขวดไปด้วย
2. ถ้าไม่เผาตรง พนักงานเก็บขยะก็ต้องเปิดขวดออก แล้วดึงหน้ากากออกมาอยู่ดี โอกาสติดเชื้อก็เพิ่มมากขึ้น เป็นภาระกับพนักงานเก็บและทำลายขยะเข้าไปอีก
3. ขวด PET ใช้แล้ว ยังมีมูลค่าในตัวเอง และราคาค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับขยะพลาสติกอื่นๆ ถ้าคนเก็บของเก่ามาเจอก่อน มีความเป็นไปได้ว่า เค้าจะเปิดขวด เอาหน้ากากออก แล้วเอาขวดไปขาย แบบนี้ยิ่งเสี่ยงมากกว่าเดิม เพราะเชื้อจะแพร่ไปในหลายที่ แบบไม่มีใครทันระวังตัว 🥶🥶
4. ขวด PET แบบนี้สามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นเม็ด rPET ได้ใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งนำมาผ่านกระบวนการตามมาตรฐาน แล้วนำกลับมาทำเป็นขวดใหม่ใส่เครื่องดื่มอีกรอบ คิดดูสิว่าจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายแค่ไหน
5. โรงงาน recycle พลาสติกดังกล่าวตามข้อ 4 จะไม่ยอมรับขวดพลาสติกที่มีของแข็งหรือของเหลวใดๆ เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ขวดที่มีลักษณะแบบนี้จะถูกคัดทิ้ง กลับไปสู่จุดรวมขยะหรือกองขยะอีกที ในที่สุดก็จะวนกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่ (กรุณาอ่านข้อ 1 - 2 อีกรอบ)
วิธีการจัดการที่ถูกต้องคือ จัดการแบบขยะติดเชื้อ กล่าวคือ ให้คัดแยกจากขยะอื่น แล้วนำใส่ถุงแยก มัดปากถุง แล้วเขียนหน้าถุงว่า “ขยะติดเชื้อ” ซึ่งขยะประเภทนี้จะถูกนำไปกำจัดแบบประเภทขยะติดเชื้อ
ขอบคุณทุกท่านที่มีจิตสาธารณะ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ เราจะต้องผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันอย่างมีสติและด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ยั่งยืน
ปัจจุบันประเทศไทยมีการคัดแยกขยะ 4 ประเภทหลัก ได้แก่ ถังขยะสีแดง เป็นขยะอันตราย อาทิ แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉายต่างๆ ถ่านไฟฉาย กระป๋องยาฆ่าแมลง น้ำมันเครื่อง ถังขยะสีเขียว สำหรับขยะเปียก หรือขยะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ส่งกลิ่นเหม็นได้อย่างรวดเร็ว เช่น เศษผักผลไม้ เนื้อสัตว์ เศษอาหาร เศษไม้ ถังขยะสีน้ำเงิน สำหรับขยะทั่วไปจะถูกนำไปเข้ากระบวนการแปรรูป เนื่องจากเป็นขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ และไม่สามารถแยกเป็นประเภทต่างๆ เช่น เศษกระจกแตก เปลือกลูกอม ซองขนม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ฯลฯ ถังขยะสีเหลือง หรือขยะรีไซเคิล สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลาสติก แก้ว กระดาษ กระป๋องอะลูมิเนียม กระป๋องเหล็ก
และเมื่อไม่นานนี้ ทาง กทม.ได้เพิ่ม ถังขยะสีส้ม สำหรับทิ้งขยะหน้ากากอนามัย แต่ก็มีเพียงบางจุด ดังนั้น ความสะดวกของคนส่วนมาก คือ ทิ้งลงถังขยะหน้าบ้าน
ปีนี้ ประเทศไทยมีขยะติดเชื้อในจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ่จากหน้ากากอนามัย จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าการใช้หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง (Single use mask) โดยเฉลี่ยแล้วสามารถใช้ได้วันละ 1 แผ่นต่อวันเท่านั้น นอกเสียจากใช้น้อยมากถึงสามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยในสถานการณ์ปกติความต้องการใช้หน้ากากอนามัย 30 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่การแพร่ระบาดไรวัสโควิดส่งผลให้ความต้องการใช้หน้ากากอนามัย เพิ่มเป็น 40 ล้านชิ้นต่อเดือน
แม้ว่าตอนนี้มีถังขยะติดเชื้อรองรับอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้กระจายทั่วถึง ดังนั้น ข้อแนะนำให้ผู้สวมใส่หน้ากากทิ้งขยะโดยช่วยลดการแพร่เชื้อ คือ การคัดแยกขยะหน้ากากอนามัยใส่ถุงขยะ พร้อมกับการเขียนว่าหน้าถุง “ขยะติดเชื้อ” เพื่อให่เจ้าหน้าที่เก็บขยะไปจัดการได้รับความสะดวก ลดการติดเชื้อ โดยนำขยะติดเชื้อไปผ่านกระบวนการกำจัดในเตาเผาขยะติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น