ไบโอไทยโพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิชีววิถี”เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 เกี่ยวกับสารเคมีทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงว่า บริษัทสารพิษอ้างว่าพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวิธีการกำจัดศัตรูพืชที่มีต้นทุนต่ำกว่าการใช้เครื่องมือกล เครื่องจักรกลการเกษตร วิธีชีวภาพ การปลูกพืชคลุมดิน และการจัดการระบบการปลูกพืช เป็นต้น เพราะพวกเขาไม่คิดต้นทุนผลกระทบต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และทารกในครรภ์มารดา ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษร้ายแรงเหล่านั้น
งานศึกษาของ รศ.สุวรรณา ประณีตวตกุล ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง "ต้นทุนผลกระทบภายนอกทางเศรษฐศาสตร์ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย" ประมาณการผลกระทบภายนอกของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยวิธี PEA (Pesticide Environmental Accounting) จากข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาในประเทศไทย นำมาพิจารณาหาต้นทุน พบว่าต้นทุนผลกระทบภายนอก โดยจำแนกตามผู้ปฏิบัติงานในฟาร์ม (ผู้ฉีดพ่นและผู้เก็บเกี่ยวผลผลิต) ผู้บริโภค และระบบนิเวศในฟาร์มพบว่า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.76 เท่าของมูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และแนวโน้มดังกล่าวสูงขึ้นทุกปี
ไบโอไทยคำนวณผลกระทบจากมูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชล่าสุดในปี 2561 พบว่า ต้นทุนผลกระทบภายนอกที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้นมีมูลค่าสูงถึง 27,440 ล้านบาทโดยประมาณ
อย่างน้อยวิธีการทางเศรษฐศาสตร์จะทำให้เราเห็นปัญหาและผลกระทบที่เป็นตัวเงินได้มากขึ้น เห็นปัญหาของวิธีคิดเกี่ยวกับต้นทุนของสารเคมีเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการจัดการศัตรูพืชที่ดีกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเราไม่อาจประเมิน หรือไม่ควรวัดคุณค่าชีวิตของคนที่สูญเสียเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ก็ตาม
ต่อจากนั้น ไบโอไทยโพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “มูลนิธิชีววิถี” ในวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2562 ว่า การเผยแพร่เอกสารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามโดยนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอแนะต่อข้าราชการระดับสูงของกระทรวงเกษตรเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ให้กระทรวงเกษตร "ดําเนินการตามมติ คณะกรรมการวัตถุอันตรายในการให้จํากัดการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส" ซึ่งหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และเลขาพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงตามข้อเสนอของรมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ อีกทั้งยังสวนทางมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เรียกร้องให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงภายในสิ้นปี 2562 นั้น เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ได้ดำเนินการเพื่อขอพบพรรคประชาธิปัตย์เพื่อขอทราบจุดยืนของพรรคดังกล่าวแล้ว
โดยเครือข่ายได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสอบถามว่าพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องการแบนสารพิษร้ายแรงอย่างไร บทบาทของนายเฉลิมชัย สอดคล้องกับจุดยืนของพรรคหรือไม่ และพรรคประชาธิปัตย์จะมีดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากผลกระทบของการใช้สารพิษร้ายแรงทั้งสามสาร
เครือข่ายเพิ่งได้รับแจ้งจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อบ่ายวันนี้ (2 ตุลาคม 2562 )ว่า ได้มอบหมายให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคเป็นผู้มาพบปะกับเครือข่ายในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 นี้
เว็บไซต์ change.org
นอกจาก “ไบโอไทย” หรือ “มูลนิธิชีววิถี” องค์กรแกนนำสนับสนุนการแบบสารเคมีทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงมากอย่างต่อเนื่องยาวนาน ล่าสุด เว็บไซต์ change.org ซึ่งมีการรณรงค์ “สนับสนุนให้ประเทศไทยยกเลิกการใช้สารฆ่าหญ้าพาราควอต สารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” ในวันนี้มีผู้สนับสนุนแล้วกว่า 5 หมื่นคน นอกจากนี้ “ยืนยง โอภากุล” หรือ “แอ๊ด คาราบาว” ยังแต่งเพลงใหม่ “ยุบเถอะ เลิกเถอะ” เพื่อร่วมรณรงค์ต่อต้านสารเคมีทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง