เพจเฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โพสต์รายชื่อ 43 ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการเลิกแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ดังนี้
วันนี้ (23 ก.ย.2562) ผมรวบรวมรายชื่อ 43 ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการเลิกแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ที่จะถึงนี้ มาให้ทุกคนได้ทราบกันอีกครั้งครับ เตรียมตัวกันให้พร้อมนะครับ กับการ “ยืดอก พกถุงผ้า” ถ้าใครยังไม่เริ่ม ต้องรีบหน่อยแล้วนะครับ เหลือเวลาให้ปรับตัวอีกไม่แค่กี่เดือนแล้ว ลดความสะดวกสบายลงสักนิด ต่ออายุชีวิตให้สิ่งแวดล้อมกันนะครับ
อีกมุม โพสต์นี้เหมือนตอกย้ำให้ห้างร้านค้าที่ร่วมโครงการนี้จะต้องรีบเตรียมตัวรับมือ “งดแจกถุงก๊อบแก๊บ” ให้กับลูกค้าเพราะ ทส. เอาจริงแน่ ถึงแม้ยังเหลือเวลาอีกราวๆ 3 เดือนกว่า
ถ้าดูจากรายชื่อห้างร้านทั้ง 43 แห่ง รายใหญ่ๆ ห้างสรรพสินค้า มาร่วมพร้อมหน้า เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี เป็นต้น เช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อชั้นนำ 7-ELEVEN และ แฟมิลี่มาร์ท เป็นต้น
มีข้อสังเกตว่า ขณะนี้ห้างร้านที่เข้าร่วมดูเหมือนยังเงียบๆ จึงไม่รู้ว่าได้เตรียมแผนรองรับไว้อย่างไรหน้าเคาน์เตอร์ ในกรณีที่ลูกค้าไม่พกถุงมา ในเมื่อไม่มีถุงพลาสติกแจก แล้วจะมีถุงกระดาษรองรับหรือไม่ แจกฟรีหรือคิดเงิน หรือจะมีถุงผ้าจำหน่ายแทนในกรณีที่ลืมพกถุงมาด้วย
ข้อสังเกตเรื่องความพร้อมของห้างและผู้บริโภค พูดกันมากในโซเซียล เช่น เพจ ReReef โพสต์ฝากถึงท่านรัฐมนตรี TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ว่าควรชี้แจงข้อสงสัย Q/A ต่างๆให้ชัดเจนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันปัญหาหน้างาน โดยเดือนธันวาคมก่อนใช้จริงสัก 1 เดือนก็ควรจะเริ่มซ้อมเตรียมความพร้อมกันได้แล้ว
นอกจากถุงหูหิ้วแล้ว อยากให้ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมรายการ มีมาตรการต่างๆที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่พกพาภาชนะหรืออุปกรณ์ไปเองเพื่อลดการสร้างขยะ โดยเฉพาะการซื้อของสด เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นแอปเปิ้ลในภาพ หากไปซื้อซุเปอร์มาร์เก็ต ส่วนใหญ่จะบังคับให้ใส่ถุงพลาสติกบางๆเพื่อไปชั่งน้ำหนักติดสติ๊กเกอร์ก่อนนำไปคิดเงิน หากลูกค้านำถุงผ้าหรือถุงตาข่ายมาใส่เองจะสามารถทำได้หรือไม่
ถ้ากำหนดแนวทางที่เหมือนกันทั้งหมดเพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าเตรียมความพร้อม น่าจะทำให้สะดวกสำหรับผู้บริโภคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น
จากมาตรการดังกล่าวนี้หากประสบความสำเร็จ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างแท้จริง