เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) โพสต์ลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” นับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 จนถึงวันที่ 13 กันยายน 2562
ลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมดมาจากข้อมูลที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ดังนี้
5 เมษายน 2560 คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้ดำเนินการออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” โดยยุติการนำเข้าภายในเดือนธันวาคม 2561 และยุติการใช้ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2562 และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด โดยห้ามใช้ในพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ พื้นที่สาธารณะและชุมชน โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนและโรงพยาบาล
11 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 เพื่อลดการนำเข้าและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
21 เมษายน 2560 สภาเกษตรกรแห่งชาติ (ซึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกรตามกฎหมาย) มีมติเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยกเลิกการนำเข้าและการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต พร้อมทั้งให้เร่งดำเนินการหาวิธีการทดแทน เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค
25 เมษายน 2560 กรมวิชาการเกษตรจัดประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาควบคุมวัตถุอันตราย
22 สิงหาคม 2560 ผู้ตรวจการพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมของวัตถุอันตราย องค์การสหประชาชาติประณามประเทศสหราชอาณาจักรที่ส่งออกพาราควอต ซึ่งถูกแบนในสหภาพยุโรปเพราะเหตุผลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่กลับส่งออกไปยังประเทศที่มีกฎหมายและการบังคับใช้ที่อ่อนแอกว่า
11 กันยายน 2560 ภาคประชาชนรวมตัวกันในนาม “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง” เพื่อเคลื่อนไหวสนับสนุนมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และกระทรวงสาธารณสุข
12 กันยายน 2560 กรมวิชาการเกษตรแถลงข่าวเห็นด้วยกับการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต แต่สำหรับสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส กรมฯไม่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัยจึงเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้คำปรึกษาด้านข้อกังวลสุขภาพของมนุษย์
18 กันยายน 2560 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการยกเลิกการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส
19 กันยายน 2560 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชน เกษตรกร และเอกชนกว่า 369 องค์กร ใน 50 จังหวัด ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรไม่ต่อทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส และให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาแบนสารพิษทั้งสองชนิดนี้โดยเร็ว
16 ตุลาคม 2560 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง เดินทางไปมอบกระเช้าผักผลไม้ที่ผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ต่อบริษัทซินเจนทาและเจียไต๋เนื่องในวันอาหารโลก พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองบริษัทไม่ขอต่อทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเพื่อร่วมกันสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัย
19 พฤศจิกายน 2560 ปรากฎข่าวกรมวิชาการเกษตรต่อทะเบียนพาราควอตให้กับบริษัทซินเจนทา เอเลฟองเต้ ดาว อโกรไซแอนส์ไปอีก 6 ปีตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม โดยอ้างว่าหากล่าช้าจะทำให้ภาคเอกชนเสียหายและรัฐอาจถูกฟ้องได้
23 พฤศจิกายน 2560 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแถลงข่าวไม่เห็นด้วยและประณามการต่อทะเบียนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสของกรมวิชาการเกษตร
24 พฤศจิกายน 2560 Thai-PAN พบพาราควอตตกค้างเกินค่า MRL ในผักผลไม้หลายชนิดที่สุ่มเก็บจากห้างสรรพสินค้า 50% ของกลุ่มตัวอย่าง
4 ธันวาคม 2560 สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคทำจดหมายถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีการต่อทะเบียนพาราควอตโดยไม่รอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
6 ธันวาคม 2560 เครือข่ายนักวิชาการร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนจัดเวทีวิชาการเพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการแก่สาธารณะ พร้อมทั้งแถลงข่าวสนับสนุนมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายใช้ข้อมูลทางวิชาการที่ทันสมัยประกอบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบในประเทศไทย
7 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต
7 ธันวาคม 2560 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงยื่นจดหมายเรียกร้องให้กรรมการวัตถุอันตรายใช้ข้อมูลทางวิชาการที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเป็นงานวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทสารเคมี และป้องกันไม่ให้กรรมการที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา และเปิดเผยรายงานการประชุมต่อสาธารณะ
7 ธันวาคม 2560 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงยื่นจดหมายขอเอกสารการพิจารณาต่อทะเบียนพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสของกรมวิชาการเกษตรต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3 มกราคม 2561 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลและผลกระทบของพาราควอต และรายงานโดยเร็ว
4 มกราคม 2561 เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ให้สัมภาษณ์พร้อมยกเลิกการขายหากพบพาราควอต คลอร์ไพริฟอสตกค้างในดิน
14 มกราคม 2561 กลุ่มบริษัทมิตรผลขึ้นป้ายไม่สนับสนุนการใช้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไพริฟอสและไกลโฟเซตในนาข้าวและไร่อ้อย
25 มกราคม 2561 องค์กรบังหน้าของสมาคมผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในนามสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยแถลงข่าวคัดค้านการแบนพาราควอต และคุกคามนักวิชาการจากม.นเรศวรผู้เปิดเผยข้อมูลพบพาราควอตตกค้างในสิ่งแวดล้อมให้ลาออกจากการเป็นอาจารย์
30 มกราคม 2561 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพาราควอตและผลกระทบของการใช้สารดังกล่าวให้ชัดเจน
15 กุมภาพันธ์ 2561 กระทรวงสาธารณสุขประชุมหารือเรื่องพาราควอตและผลกระทบจากการใช้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ประชุมยืนยันตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชทีมีความเสี่ยงสูง ให้ยกเลิกการใช้ภายในเดือนธันวาคม 2562
22 กุมภาพันธ์ 2561 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงข่าวผลการศึกษาและมีมติให้ดำเนินการตามคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงทุกข้อ และขอให้พิจารณากำหนดมาตรการเร่งด่วนยกเลิกการนำเข้าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 เป็นต้นไป
30 มีนาคม 2561 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT) จัดเวทีเสวนา “คอร์รัปชั่นในภาคเกษตร ภาค1: พาราควอต?”
6 เมษายน 2561 แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในประเด็นย่อยที่ ๑.๙ ลด/เลิกการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้มีการห้ามใช้หรือจำกัดการใช้สารเคมี โดยเฉพาะสารพาราควอต โดยใช้ หลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งบอกถึงอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งพัฒนาสารทดแทนต่างๆ และทางเลือกในการใช้สารชีวภาพ
16 พฤษภาคม 2561 ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาเภสัชกรรม ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.) แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ(FHP) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดเวทีวิชาการเพื่อให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน และประชาชน เรื่อง “ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย : พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)” และเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเพื่อควบคุมสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิดนี้ โดยใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และคณะผู้จัดการประชุมในครั้งนี้จะส่งหลักฐานทางวิชาการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตตามมติของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ต่อไป
20 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) จัดเวทีความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เพื่อหยุดการใช้พาราควอต โดยบริษัทมิตรผล จำกัด บริษัทเกษตรไทยอินเตอร์เนชันแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) และบริษัทน้ำตาลไทยเอกลักกษณ์จำกัดมีนโยบายไม่สนับสนุนการใช้สารพาราควอต
23 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 รายการ โดยให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการยกร่างแผนการจำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิด
23 พฤษภาคม 2561 รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกแถลงการณ์ส่วนบุคคล ระบุชัดเจนถึงกระบวนการลงมติว่า “ก่อนลงมติดิฉันได้กล่าวถึง มาตรา ๑๒ วรรค ๒ ของ พรบ.วัตถุอันตราย ที่ระบุว่า “การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ... กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด กรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น” ปรากฏว่าไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสีย และไม่มีกรรมการท่านใดสละสิทธิ์ในการลงคะแนน”
5 มิถุนายน 2561 ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล และยื่นจดหมายถึงนายกรัฐนตรีผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ดังนี้ 1)การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ เลือกตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯถึง 4 คน และอีก 4 คนเลือกจากผู้ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ จากคณะกรรมการที่มีจำนวน 12 คน ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบต่อสุขภาพ 2)อนุกรรมการเฉพาะกิจฯดังกล่าวใช้ข้อมูลเก่าล้าสมัย เพื่อโน้มน้าวให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงดังกล่าวต่อไป โดยเพิกเฉยต่อข้อมูลเชิงประจักษ์และรายงานใหม่ๆเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเครือข่ายนักวิชาการจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องจัดเวทีให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ 3) กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 มีกรรมการอย่างน้อย 3 คนมีส่วนได้เสียกับสมาคมค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่กลับไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสียและไม่มีการสละสิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งอาจขัด พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 12 วรรค 2 พร้อมทั้งเรียกร้องให้ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในเดือนธันวาคม 2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ
16 กรกฎาคม 2561
นายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีหน้าที่หลักในการรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ เพื่อเสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดและติดตามการดำเนินการของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานผลต่อสำนักนายกรัฐมนตรี
17 กรกฎาคม 2561 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชออกประกาศห้ามนำสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นการคุ้มครอง ดูแล รักษาอุทยานแห่งชาติ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาแหล่งต้นน้ำลำธารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน
9 สิงหาคม 2561 ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐสั่งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ให้ห้ามขาย คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชซึ่งนิยมใช้ในผลไม้ประเภทซิตรัส แอปเปิล และผลไม้อื่นๆ ภายใน 60 วัน มีอัยการจากหลายรัฐที่เข้าร่วมฟ้องคดีนี้ร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและเกษตรกร โดยศาลกล่าวว่าพรูตต์ละเมิดกฎหมายของรัฐบาลกลางด้วยการเพิกเฉยต่อข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ของ EPA ที่บอกว่าคลอร์ไพริฟอสเป็นอันตราย นอกจากนี้อีเมลภายใน EPA ที่เปิดเผยออกมาเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า เมื่อปี 2017 การเมืองเข้าไปมีบทบาทต่อการตัดสินใจของสำนักงาน ช่วงขณะที่ยังอยู่ในการพิจารณา พรูตต์บอกกับตัวแทนของซีอีโอของดาวเคมิคอลในระหว่างการประชุมว่า “นี่เป็นวันใหม่ อนาคตใหม่ของแนวทางพื้นฐานในการปกป้องสิ่งแวดล้อม” ส่วน ดอน เบนตัน (Don Benton) เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งในรัฐบาลทรัมป์กล่าวว่า สำนักงานกำลังสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่กับอุตสาหกรรมซึ่ง “วางอยู่บนฐานของความร่วมมือกัน ไม่ใช่การควบคุมหรือบังคับด้วยกฎหมาย”
11 สิงหาคม 2561 ศาลมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ มีคำพิพากษาให้บริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่จ่ายเงินชดเชยจำนวน 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9,248 ล้านบาท แก่นายดิเวน จอห์นสัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยื่นฟ้องบริษัทมอนซานโตว่า ละเลยการใส่คำเตือนถึงอันตรายของสารไกลโฟเซตที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า จนทำให้เขาเป็นโรคมะเร็ง คณะลูกขุนของศาลมลรัฐแคลิฟอร์เนียพบว่า มอนซานโต รู้อยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้าที่บริษัทผลิตขึ้นทั้งสองยี่ห้อ คือ ราวน์อัพ และเรนเจอร์ โปร เป็นสารเคมีอันตราย แต่กลับไม่มีคำเตือนต่อผู้ใช้
27 สิงหาคม 2561 'รมช.ยักษ์'ประกาศเลิกใช้ 3 สารพิษ พาราควอต คอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซตทันที จุดยืนคือไม่มีคำว่าลด หรือควบคุมการใช้ ต้องเลิกใช้เท่านั้น การตัดสินใจแบนสารพิษภายในเวลาเท่าไหร่ อยู่ที่คณะกรรมการศึกษาผลกระทบ ที่นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯเป็นประธาน โดยนายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นให้มาศึกษา ภายใน 60 วันรวมทั้งผมได้ตั้งทำงานคณะกรรมการเฉพาะกิจหาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วน ภายใน 30 วันเพื่อเสนอคณะกรรมการฯที่นายกฯตั้งขึ้น
10 กันยายน 2561 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)พบ 3 ปี 'สารเคมีกำจัดศัตรูพืช' คร่าชีวิตคนไทย 1,715 ราย ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเฉลี่ย 5 พันราย/ปี เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 22 ล้านบาท/ปี พร้อมหนุนมติ สธ.ห้ามใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร่วมปกป้องสุขภาพของประชาชน
22 ตุลาคม 2561 ผู้พิพากษาศาลแคลิฟอร์เนียตัดสินให้มอนซานโตยังมีความผิดกรณียาฆ่าหญ้า 'ราวน์อัพ' ก่อมะเร็งต่ออดีตคนงานดูแลสนามหญ้า แต่ก็สั่งลดเงินค่าชดเชยและค่าเสียหาย 211 ล้านดอลลาร์ ทนายผู้เสียหายระบุ ถึงการปรับลดเงินค่าเสียหายจะไม่เป็นธรรม แต่ก็ยินดีที่ศาลไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของมอนซานโตให้มีการพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง
23 พฤศจิกายน 2561 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกการใช้พาราควอตภายใน 1 ปี ก่อนยกเลิกให้มีการจำกัดการใช้ สร้างการรับรู้กับประชาชน และพัฒนาวิธีการทดแทน และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันหลังจากได้รับหนังสือ และให้พัฒนาสารชีวภัณฑ์หรือหาวิธีการอื่นที่ปลอดภัยกว่าให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
8 ธันวาคม 2561 สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประชุมปรึกษาหารือแนวทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูในหลายอำเภอที่มีการปลูกอ้อย ยางพารา มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรในการบำรุงดิน ฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง มีการสะสมเป็นเวลาหลายปีส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลด้านต่างๆ เช่นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มีกุ้ง หอย ปู ปลา (เกิดโรคระบาด) เกษตรกรที่มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำเมื่อไปสัมผัสสารเคมีที่ตกค้างเข้าสู่ร่างกายเกิดตุ่มคันเป็นบาดแผลจนเนื้อเน่าลุกลามและใช้ระยะเวลารักายาวนาน บางคนต้องตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
25 ธันวาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสรุปข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เสนอให้ประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตภายใน 1 ปี
15 มกราคม 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติทบทวนการควบคุมพาราควอตจากข้อมูลคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยจะมีการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
6 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงพิจารณาหาข้อสรุปการควบคุมสารพาราควอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ให้ตั้งคณะทำงานชุดเล็ก 2 คณะ เพื่อพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ และวิธีการทดแทน
- คณะกรรมการที่มาจากนักวิชาการอิสระประกาศลาออก 3 ท่าน ได้แก่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ และ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิทยานุกูล เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้มี “การรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์” ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้
10 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอแนะรัฐบาลกำหนด"พาราควอต"เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้าส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง วางมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพ และควรจัดให้มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการควบคุมสารเคมีทางการเกษตร
11 กุมภาพันธ์ 2562 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ไปยังปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อหารือเกี่ยวกับการแบนพาราควอตแล้ว โดยเสนอให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงนี้ภายในไม่เกิน 3 ปี
12 กุมภาพันธ์ 2562 เวียดนามประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสภายใน 2 ปี ข้างหน้า
12 กุมภาพันธ์ 2562 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกประชุมข้าราชการระดับสูง และให้สัมภาษณ์ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเห็นพ้องว่าไม่ต้องการให้มีการใช้สารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และมีมาตรการของกระทรวงเกษตรฯในการลดการใช้พาราควอตแต่ต้องไปหารือในคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้เห็นชอบก่อน และได้กำชับให้อธิบดีทั้ง 5 คนที่เป็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายไปประชุมด้วยตัวเอง
13 กุมภาพันธ์ 2562 สภาเภสัชกรรมออกแถลงการณ์เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกระดับการควบคุมพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และยกเลิกการใช้สารพิษทั้งสามชนิดภายในปี 2562 เพื่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะทารกและเด็กในอนาคต
13 กุมภาพันธ์ 2562 แพทยสภาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าเห็นชอบกับมติยกเลิกการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยในสุขภาพและอนามัยอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
14 กุมภาพันธ์ 2562 ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานกรรมการวัตถุอันตราย ให้พิจารณาควบคุมพาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ภายในเดือนธันวาคม 2562 และให้เป็นการลงมติแบบเปิดเผย โดยไม่มีกรรมการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
14 กุมภาพันธ์ 2562 นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติ 16 ต่อ 5 เสียงสนับสนุนให้มีการใช้สารพาราควอต ส่วนที่เหลืออีก 5 เสียงงดออกเสียง โดยเสียงส่วนใหญ่ให้ยืนตามมติเดิมที่ระบุว่า ยังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตตามเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 โดยให้ใช้เฉพาะ 6 พืช ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ทั้งนี้ระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินตามมาตรการ 5 ข้อที่เสนอมา อาทิ ทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค จัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตรผู้พ่นสารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช คาดจะมีความชัดเจนภายใน 2 ปีว่าประเทศไทยจะเลิกหรือไม่เลิกใช้สารดังกล่าว
16 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมเชิญคณะกรรมการวัตถุอันตรายและผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้เเจง กรณีไม่ยกเลิกใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด (พาราควอต-ไกลโฟเซต-คอร์ไพริฟอส) ในภาคการเกษตร และยังให้ใช้ต่อไปอีก 2 ปี
18 กุมภาพันธ์ 2562 นายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลมุ่งหวังเลิกใช้สารเคมีพาราควอตโดยเร็วที่สุด กำชับคณะกรรมการฯ ชี้แจงทุกฝ่ายให้เข้าใจ
20 กุมภาพันธ์ 2562 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เกี่ยวกับ 3 สาร ดังนี้
1) เร่งรัดการดำเนินการตาม แผนจำกัดการใช้สารเคมี3สาร และต้องประกาศยกเลิกให้ได้ภายใน 2 ปี (สิ้นปี 2563) 2) สำรวจปริมาณสารเคมี3สาร จากผู้ประกอบการ 3) ไม่รับขึ้นทะเบียนใหม่ในสารเคมี 3 สารนี้ 4) ใครเจ็บป่วยจาก3สารนี้ ต้องมีการรับรองจากแพทย์และบันทึกแจ้งความจากตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานให้ กษ. ในการเพิกถอนใบอนุญาตสารเคมีจากผู้ประกอบการ 5) เร่งรัดให้มีแผนเกษตรอินทรีย์/เกษตรปลอดภัยที่ชัดเจน (ปี 63 ต้องมีแผนนี้ด้วย) 6) ปรับปรุงการให้บริการด้านทะเบียนสารเคมีของกรมวิชาการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ
18 มีนาคม 2562 มาเลเซียประกาศแบนพาราควอตในวันที่ 1 มกราคม 2020 โดยนาย Datuk Salahuddin Ayub รมว.เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยันไม่กระทบต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในประเทศ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับครั้งแรก RM10,000 ฝ่าฝืนครั้งที่สองปรับ RM50,000 ตามกฎหมาย the Poisons Act 1952
15 พฤษภาคม 2562 รัฐแคลิฟอร์เนียสั่งห้ามไม่ให้ใช้ยากำจัดศัตรูพืชคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) หลังผลวิจัยชี้ มีส่วนในการสร้างความเสียหายต่อสมองในเด็ก คำสั่งที่สวนทางนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สั่งปลดการแบนก่อนหน้านี้ถือเป็นหนึ่งในชัยชนะครั้งใหญ่อีกครั้งของผู้รณรงค์ด้านสาธารณสุขที่เรียกร้องให้ต่อต้านการใช้สารเคมีเป็นพิษในอุตสาหกรรมการเกษตรมานาน
กาวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียยังเสนองบประมาณ 5.7 ล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนจากสารคลอร์ไพริฟอสหันมาใช้สารทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าและมีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
12 มิถุนายน 2562 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหรณ์ เปิดเผยว่า เกษตรกรที่ปลูกพืช มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชไร่ ไม้ดอกที่มีความประสงค์ใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ตั้งแต่วันนี้ (12 มิ.ย. 2562) เป็นต้นไปจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าสู่ขั้นตอนการลงทะเบียนสมัครขอรับสิทธิ์ซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ผ่านทางเว็บไซต์ chem.doae.go.th หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน FARMBOOK
เพื่อให้เป็นไปตามประกาศเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตรที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ตุลาคมปีนี้ โดยเกษตรกรสามารถเลือกเรียนรู้วิธีการใช้ที่ถูกต้องได้ 3 ช่องทาง คือ เข้ารับการอบรมโดยวิทยากร, เรียนรู้ผ่านระบบ e-Learning หรือหากมีความรู้เพียงพอสามารถสมัครทดสอบทันที โดยเกษตรกรสามารถเลือกวันและวิธีการอบรมได้เองตามความสมัครใจ และเข้าทดสอบตามวันเวลาที่เลือกได้
20 มิถุนายน 2562 ไนจีเรียประกาศแบนพาราควอต และอะทราซีน โดยเร็วที่สุด
2 กรกฎาคม 2562 รัฐสภาออสเตรียโหวตแบนไกลโฟเซตโดยใช้หลัก “precautionary”
13 กรกฎาคม 2562 พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค "รุก" จัดกิจกรรม "ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน"กระชับพื้นที่และชี้ "พาราควอต ไกลโฟเชต และคลอร์ไพริฟอส"อันตรายและเอื้อกลุ่มทุน
16 กรกฎาคม 2562 นายยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว นักร้องเพลงเพื่อชีวิต ปล่อยเพลงใหม่ล่าสุดชื่อ “เอาไงดีครับพี่ตู่” ซึ่งเพลงนี้มีเนื้อหาเรียกร้องให้รัฐบาล ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ปัญหาสารเคมีอันตรายในการเกษตร
4 สิงหาคม 2562 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รอง
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากข้อมูลการเข้ารับบริการในระบบ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง” ในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (ข้อมูล 1 ต.ค. 61 - 17 ก.ค. 62) ได้รายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 3,067 คน เสียชีวิต 407 คน เบิกจ่ายค่ารักษากว่า 14.64 ล้านบาท
หากรวมผู้เสียชีวิตจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในช่วง 4 ปี มีจำนวน 2,193 คน และใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมผู้ป่วยในสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ สะท้อนให้เห็นผลกระทบของการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่เกิดขึ้น
9 สิงหาคม 2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ย้ำต้องยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชความเสี่ยงสูง 3 ชนิดให้ได้ก่อนสิ้นปี พร้อมสั่งกรมวิชาการเกษตรชะลอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอนุญาตหรือต่อทะเบียนทั้งหมด เพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ ลั่นเห็นพ้อง รมว.สธ.แล้ว ยกเลิกแน่
13 สิงหาคม 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งให้ทบทวนเรื่อง 3 สารเคมีอันตราย ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส และจะให้ยกเลิกการใช้ภายในสิ้นปี 2562 ว่า ตนได้รับรายงานเกี่ยวกับอันตรายจาก 3 สารพิษจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และไม่สนับสนุนการใช้สารพิษดังกล่าวไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ส่วนที่มีการอ้างว่า ยังยกเลิกสารข้างต้นไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่เพียงพอว่า สารดังกล่าวมีอันตรายต่อสุขภาพ ขอถามกลับว่า ต้องรอให้มีคนตายก่อนหรืออย่างไร ปัจจุบัน สธ.มีหน้าที่รักษาคนไข้ที่ได้รับอันตรายจากสารพิษ และพยายามให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับประชาชน ให้สามารถรับมือกับภัยที่มาจาการพิษอย่างถูกวิธี
30 สิงหาคม 2562 สตรีแรงงานภาคเกษตรกว่า 200 คนเรียกร้องให้รัฐบาลแอฟริกาแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 67 ชนิด รวมถึงพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้ใช้แรงงานภาคเกษตร
3 กันยายน 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความชัดเจนในแนวคิดที่จะยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิดในภาคเกษตร ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร แต่เราต้องหาทางในการทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกัน ตนเข้าใจถึงเหตุผล หลักการ และความจำเป็นที่จะต้องลดการใช้สารเคมีในภาคเกษตรให้ได้โดยเร็ว ทั้งสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอต โดยเรื่องนี้เกี่ยวโยง 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ตนได้รับรายงานจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าให้กระทรวงเกษตรฯไปหาสารเคมีที่จะนำมาใช้ทดแทนสารเคมี 3 ชนิดดังกล่าวให้ได้ก่อน โดยเราต้องมองในหลายมิติด้วย และต้องพิจารณาร่วมกันทั้งฝ่ายรัฐ ผู้บริโภค และเกษตรกรว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับด้านต่างๆ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ปัญหานี้โดยเร็ว
2 กันยายน 2562 นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักผลไม้จำนวนมาก หลังจากปรากฏข่าว พบการปนเปื้อนของสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในอัตราสูง ซึ่งพบว่า ร้อยละ 41 ของกลุ่มตัวอย่างมีสารพิษตกค้างเกินค่า MRL (Maximum Residue Limit)โดยสอบถามถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารพิษในผัก ผลไม้ ตามที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และปลอดภัย รวมถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้มีสารพิษตกค้าง ตลอดจนการจัดการสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตราย
3 กันยายน 2562 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุเนื้อหาว่า “พาราควอต”ยาฆ่าหญ้า ราคาถูก ออกฤทธิ์เร็ว อันตราย โดนผิวเป็นแผลพุพอง ตกค้างในพืช ผัก สะสมส่งผลต่อตับ ไต ทำลายสมอง ถ้าเข้าสู่ร่างกายตรง ถึงตาย แนะรัฐบาลควรจัดการปัญหานี้เป็นเรื่องจำเป็น เร่งด่วน ด้วยการใช้อำนาจตามรธน. มาตรา 172 ออก “พระราชกำหนด”เฉพาะเรื่องการยกเลิก พาราควอต เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ปกป้องประชาชน รักษาผลผลิตสินค้าเกษตรไม่ให้มีสารปนเปื้อน เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การออกพระราชกำหนด เป็นอำนาจตรงของคณะรัฐมนตรี ที่ทำได้ “ทันที”ไม่ต้องยื้อกันไปอีก 2 ปี ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย
4 กันยายน 2562 เยอรมนีประกาศแบนไกลโฟเซตภายในสิ้นปี 2023
13 กันยายน 2562 สภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียง 399 ต่อ 0 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาควบคุมการใช้สารเคมีการเกษตร โดยส.ส.จากทุกพรรคล้วนอภิปรายไปในแนวทางเดียวกันเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง
ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ก เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan)