xs
xsm
sm
md
lg

‘เอไอ’ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รู้ไหมว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอไอในอุตสาหกรรมการเกษตร ทรัพยากรน้ำ พลังงานและการขนส่ง สามารถช่วยจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แถมยังจะช่วยผลักดันให้จีดีพีโลกเพิ่มขึ้นได้ถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงานมากถึง 38 ล้านตำแหน่งทั่วโลกในปี 2573
เรื่องนี้ผมได้รับข้อมูลจาก วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย ซึ่งอ้างอิงรายงาน How AI can enable a sustainable future ที่จัดทำโดยทีมวิจัย PwC ประเทศสหราชอาณาจักรในการศึกษาโอกาสทางธุรกิจทั่วโลกจากการนำศักยภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอมาใช้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษในปัจจุบันจนถึงปี 2573 พบว่าจากการนำเอไอมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกริดหรือสายส่งพลังงานสะอาดแบบกระจายที่ขับเลื่อนด้วยเอไอ


การทำเกษตรอัจฉริยะ ขณะที่การจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบยั่งยืนที่มีการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการบังคับใช้ รวมไปถึงการพยากรณ์อากาศและภัยพิบัติ ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของการนำเอไอมาใช้
ทั้งนี้ การศึกษาครั้งนี้ได้จำลองเหตุการณ์ของการประยุกต์ใช้เอไอใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย การเกษตร การขนส่ง พลังงานและทรัพยากรน้ำ โดยได้คาดการณ์ว่า การประยุกต์ใช้เอไอเพื่อสิ่งแวดล้อมใน 4 อุตสาหกรรมนี้จะช่วยผลักดันให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก สูงขึ้นได้ถึง 5.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 159 ล้านล้านบาท1 ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติ
ขณะเดียวกัน ยังคาดว่าระบบเอไอจะเกิดผลช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั่วโลกได้ 4% ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับ 2.4 Gt CO2e (เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายปีของออสเตรเลีย แคนาดา และญี่ปุ่นรวมกัน ภายในปี 2573)
ยิ่งกว่านั้น ที่วิตกกันว่าเอไอจะมา “แย่งงาน” ทำให้คนตกงานนั้น แต่การศึกษาที่ว่านี้กลับคาดว่า ภายในปี 2573 เอไอช่วยสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลกได้ถึง 38.2 ล้านตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพงานที่ต้องใช้ทักษะทางด้านเทคโนโลยีมารองรับระบบการผลิตและบริการยุคดิจิทัลเป็นหลัก
ซีลีน เฮอร์วายเยอร์ หัวหน้าสายงาน Global Innovation&Sustainability ของ PwC ประเทศสหราชอาณาจักร จึงกล่าวว่า
“พูดง่ายๆ ก็คือว่า... เอไอจะเข้ามาช่วยให้ระบบเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเราให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต รายงานนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีเกิดใหม่ ที่สามารถช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรงจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระยะใกล้และระยะยาว”
ผลการศึกษาระบุว่า หากพิจารณาในระดับทวีปพบว่า ภายในปี 2573 เอไอจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทวีปอเมริกาเหนือได้มากที่สุด (-6.1%) ตามมาด้วยทวีปยุโรป (-4.9%) ขณะเดียวกัน เอไอจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นมากที่สุดในทวีปยุโรป (+5.4%) แต่ผลตรงกันข้ามจะเกิดที่ทวีปละตินอเมริกาและภูมิภาคในทวีปแอฟริกาและแถบใต้ทะเลทรายซาฮาราจะเป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากศักยภาพของเอไอน้อยที่สุด
อย่างไรก็ดี กลุ่มด้อยโอกาสเหล่านี้จะได้ประโยชน์มากขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการหลีกเลี่ยงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุด ผ่านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
รายงานยังระบุด้วยว่า การประยุกต์ใช้เอไอในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและขนส่ง จะส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยประโยชน์ของเอไอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยังรวมถึงการลดการใช้พลังงาน ระบบอัตโนมัติของงานที่ทำด้วยมือ หรืองานที่ทำเป็นประจำ และยังสามารถช่วยลดการปล่อยพลังงานต่อหน่วยจีดีพีได้ถึง 6-8% ภายในปี 2573 เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติ
รายงานนี้ ยังพบสัญญาณบ่งชี้ถึงศักยภาพของเอไอที่สามารถนำมาช่วยฟื้นฟูสุขภาพได้ เช่นเมื่อมีระบบเตือนภัยมลพิษทางอากาศที่แม่นยำและเป็นภาษาท้องถิ่น ก็จะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลกได้ถึง 2.4 พันล้านดอลลาร์หรือราว 7.3 หมื่นล้านบาท
ส่งผลให้สุขภาพของมนุษย์โดยรวมดีขึ้น
นอกจากนี้ ประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามและรายงานคุณภาพน้ำ มลพิษทางอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า การเสื่อมโทรมของที่ดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ ก็สามารถทำได้ผ่านการมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีฐานข้อมูลที่เจาะลึก เช่น การใช้ข้อมูลผ่านดาวเทียม และเซ็นเซอร์จากฐานปฏิบัติการภาคพื้นดิน เพื่อเฝ้าระวังสถานภาพของป่าแบบทันสถานการณ์และภาวะที่เป็นจริง ซึ่งจะช่วยให้ระบบสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยเมื่อมีเหตุการณ์ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยปกป้องป่าได้ถึง 32 ล้านเฮกเตอร์ ภายในปี 2573


ข้อคิด...
ข้อมูลชิ้นนี้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมาก และนี่เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรชั้นนำอย่าง PWC ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจที่มีเครือข่ายนานาชาติ ให้บริการในเมืองไทยมานานกว่า 60ปีแล้ว ในการลงทุนเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเผยแพร่
รายงานการวิเคราะห์ผลการวิจัยครั้งนี้ ทำในระดับโลกครอบคลุม 7 ทวีป แม้ไม่ได้สำรวจข้อมูลจากธุรกิจประเทศไทย แต่ผลที่ออกมาก็น่าจะช่วยจุดประกายความคิดในแนวทางใช้นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะการมองทะลุไปถึงผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง (Outcome) ผลโดยตรงต่อการจัดการผลกระทบจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) คือ มีประสิทธิภาพและคุณภาพ ก็จะส่งผลลัพธ์เป็นกำไรเพิ่มและเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP
ผมชอบความเห็นของซีลีน เฮอร์วายเยอร์ ที่ว่า...
“บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ต้องแสดงความเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ โดยพิจารณาถึงผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและการสร้างมูลค่าในระยะยาว สิ่งที่ชัดเจนคือ บริษัทและประเทศใดที่ทำได้ดีที่สุด จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและเสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับตนเองในยุคของเอไอ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน”
ทั้งนี้ วิไลพรได้กล่าวสรุป
“เป็นที่น่ายินดีว่า กระแสของนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง โดยหลายองค์กรทั่วโลกมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดและแก้ปัญหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของประเทศไทยเอง จะเห็นว่ามีบริษัทชั้นนำในหลากหลายอุตสาหกรรมที่นำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้กับสินค้าหรือบริการของตนเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารทะเล ที่มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยควบคุมปริมาณและชนิดของปลาที่ถูกจับ ป้องกันปัญหาปลาบางชนิดสูญพันธุ์ หรือบริษัทที่พัฒนาโถสุขภัณฑ์ที่มีระบบการบำบัดของเสียก่อนไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
นี่เป็นสัญญาณที่ดีในการดำเนินธุรกิจตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนับวันจะยิ่งมีผู้ประกอบการอีกมากที่หันมาใช้เอไอและเทคโนโลยีเกิดใหม่ประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนและดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น”
suwatmgr@gmail.com