xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเคาะห้าง “แบนถุงก๊อบแก๊บ" เล็งเก็บค่าถุง! เป็นทางเลือกแรก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


•ถึงจะมีโรดแมปจัดการขยะพลาสติก ตั้งเป้าลดขยะในทะเลมาก่อนหน้า แต่การรอเวลาแก้ปัญหาที่ปลายทางอย่างเดียวนั้นไม่พอที่จะช่วยชีวิตสัตว์บก สัตว์ทะเลที่มองพลาสติกเป็นอาหาร
•ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยข้อตกลงที่จะร่วมมือกับห้างร้าน 43 แห่งที่มีเครือข่าย หยุดจ่ายถุงพลาสติกใส่ของแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastic) เริ่ม 1 มกราคม 2563
•อย่างไรก็ตาม มาตรการ “เก็บเงินค่าถุง” อาจนำมาใช้เป็นทางเลือกแรก ก่อนยกระดับความเข้มข้นให้ห้างร้านงดจ่าย-จำหน่ายถุงเด็ดขาด

เหตุการณ์เสียชีวิตของพะยูนน้อย “มาเรียม” ที่พบว่ากินขยะพลาสติกเข้าไปเพราะคิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร (17 ส.ค.ที่ผ่านมา) กลายเป็นไฮไลต์กระตุ้นกระแสสังคมให้ตระหนักและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จนนำไปสู่แผนอนุรักษ์พะยูนของไทย เกิดกระแสกดดัน “ลดใช้พลาสติกเพื่อลดขยะพลาสติกในทะเลอย่างกว้างขวาง” และช่วงเวลาที่ใกล้เคียงยังพบกวางในเขตอุทยานตายจากกินขยะพลาสติกเข้าไปด้วย
ก่อนหน้านี้ พบว่าสัตว์ทะเล โลมา วาฬ เต่ามะเฟือง หรือสัตว์บก กวาง นกชนิดต่างๆ ประสบเหตุบาดเจ็บล้มตายจากการกินขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ หรือไม่ก็พบบรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่นหลอดพลาสติกเมื่อถูกทิ้งเป็นขยะทะเลไปทำร้ายเต่ามะเฟืองจนบาดเจ็บ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศต่างแสดงความตระหนกว่าอาจเป็นสาเหตุให้สัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศในอนาคตอันใกล้
ประเทศไทย ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นถุงพลาสติกประมาณ 2 แสนล้านใบ
ทส.ฉุดกระแสมาเรียม เร่งเวลา “ลด-งดถุง”
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หน่วยงานเกี่ยวข้องโดยตรงไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำซาก อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเป็นอันดับที่ 6 ของโลก หนึ่งในแหล่งที่มาของพลาสติกเหล่านั้น คือถุงพลาสติกใส่สินค้าที่มีขนาดต่างๆ ที่ถูกใช้เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดการขยะพลาสติกว่า “ทส.จะเดินหน้าให้หยุดจ่ายและจำหน่ายถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อ โดยได้หารือกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทยกว่า 43 บริษัท ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่ เพื่อขอความร่วมมือหยุดจ่ายและจำหน่ายถุงพลาสติกในประเทศ คาดว่าจะเริ่มได้ทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2563 ยกเว้นถุงใส่ของร้อนที่ยังผ่อนผันให้อยู่ คาดว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศลงได้จำนวนมาก พร้อมตั้งเป้าให้ประเทศไทยปลอดถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวหมดภายในปี 2564”
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ทส.เสนอร่าง Roadmap การจัดการพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ให้คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่ผ่านมารับทราบ สรุปเป้าหมายหลักเพื่อลดและเลิกการใช้พลาสติก รวมถึงการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ดังนี้
ในปี 2562 จะเลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ 1) พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 2) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทออกโซ่ (Oxo) และ 3) ไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead)

ในปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single use Plastic) ได้แก่ 1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว 2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3) แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) 4) หลอดพลาสติก
ส่วนในปี 2570 มีเป้าหมายนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติก กลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้ง 100%
ดังนั้น การที่รมว.ทส.เตรียมประกาศให้มีการหยุดจ่ายและจำหน่ายถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อ โดยเริ่มดีเดย์ วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือน จึงเป็นการเร่งเวลาให้เร็วขึ้น 2-3 ปี จากโรดแมป
ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาขยะพลาสติกของไทยเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุดไม่ใช่แก้ต้นเหตุ ดังนั้น การแก้ไขที่ดีที่สุดต้องผลักดันกฎหมาย กำหนดเป็นนโยบายให้ภาคส่วนต่างๆ ปฏิบัติตาม ในขณะที่ความพยายามรณรงค์เปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะ แยกขยะของคนไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จ และเป็นสาเหตุสำคัญของขยะพลาสติกที่ส่วนมากเกิดจากขยะบก ก่อนจะไปสู่ปลายทางเป็นขยะทะเล โดยมีสัดส่วนเป็นขยะพลาสติกถึงร้อยละ 80
ในการเตรียมออกประกาศบังคับให้ห้างร้านหยุดจ่าย-จำหน่ายถุง จึงเป็นอีกแนวทางที่มีความเข้มข้นสูงสุดในการลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้นทาง และยังลดการซ้ำเติมปริมาณขยะพลาสติกที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อตกเป็นขยะพลาสติกในทะเลมักจะยุ่งยากต่อการเก็บกู้และสิ้นเปลืองงบประมาณ
โมเดิร์นเทรด เป็นธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในการสร้างขยะรายใหญ่ ตกเป็นเป้าหมายแรก หวังให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าโดยการเตรียมถุงไว้ใส่ของเอง
เริ่มเห็นด้วย “เก็บค่าถุง” ถึงได้ผล
การลดพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ด้วยวิธี “คิดเงินค่าถุง” พูดกันมานาน แต่ที่ไม่สำเร็จเสียที เพราะห้างร้านค้ายังหวั่นผลกระทบต่อยอดจำหน่าย เนื่องจากไปสร้างความยุ่งยากให้ผู้บริโภคต้องเตรียมถุงผ้า ภาชนะมาใส่ของ จนอาจทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนสถานที่ซื้อของ อย่างไรก็ตาม เวลาต่อมาเห็นได้ชัดว่าการรณรงค์หรือขอความร่วมมือจากผู้บริโภคไม่สำเร็จ ในที่สุดห้างร้านค้าอย่างเดอะมอลล์ กรุ๊ป และเครือเซ็นทรัลไม่อาจปฏิเสธแนวทางนี้ แถมกลายเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะเป็นห้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน
มีตัวอย่างแล้วทั้งในและต่างประเทศ เมื่อใช้วิธีการคิดเงินค่าถุงพลาสติกเพียงเล็กน้อย สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมและลดปริมาณการใช้ถุงได้มหาศาล เพราะผู้บริโภคเคยได้รับถุงฟรีๆ ใส่ของจึงไม่ต้องการจ่ายเงินค่าถุง ต่อมานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของโดยนำถุงเก่ามาใช้ซ้ำ หรือไม่ก็เตรียมถุงผ้า เป้ ภาชนะสำหรับใส่สินค้ามาด้วย
ต่างประเทศมีกรณีศึกษาหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่อาเซียน ที่อินโดนีเซีย โดยเฉพาะประเทศในยุโรปใช้วิธีการนี้มานานแล้ว ผลที่ได้คือผู้บริโภคเตรียมถุงผ้าหรือถุงพลาสติกเก่าๆ กลับมาใช้ หากผู้บริโภคไม่ได้เตรียมถุงไป หลายคนก็จะเลือกซื้อถุงผ้าเพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ซึ่งในอังกฤษสามารถลดประมาณถุงพลาสติกได้ถึง 83% ใน 1 ปี จากการคิดค่าถุงพลาสติกในราคาเพียง 5 เพนซ์ (ประมาณ 2 บาท) อย่างไรก็ดี หลายประเทศเริ่มขยับมาตรการที่เข้มงวดกว่า คือการแบนถุงพลาสติกโดยเด็ดขาดอีกด้วย
ในประเทศไทยก็มีกรณีศึกษาที่ได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน ปัจจุบันร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย “คิดเงินค่าถุง” หากต้องการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ไม่แจกถุงพลาสติก หากลูกค้าต้องการก็จะคิดเงินค่าถุงพลาสติก 2 บาทต่อถุง สามารถลดจำนวนถุงจากเดือนละ 102,465 ใบ เหลือเพียง 4,795 ใบต่อเดือนภายใน 3 เดือนแรกที่เริ่มโครงการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับโครงการ Chula Zero Waste ลดการใช้ถุงพลาสติก หากใครจะใช้ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 2 บาทต่อถุง ส่งผลให้มีการใช้ถุงพลาสติกลดลงเกือบ 90 % มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีนโยบายคล้ายๆ กันในการลดปริมาณขยะพลาสติกและได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน
จากนโยบายนี้แสดงให้เห็นว่า การตั้งราคาถุงสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้รวดเร็วและชัดเจนกว่าการรณรงค์อื่นๆ ขณะที่ภาพใหญ่ของภาคเอกชนในช่วงประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามรณรงค์ให้คนทั่วไปลดการใช้ถุงพลาสติกในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป จนถึงวันปลอดถุงพลาสติกสากล (เมื่อ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา) โมเดิร์นเทรดแทบทุกรายต่างสร้างแคมเปญให้ลูกค้าร่วมลดใช้ถุงพลาสติก เช่น เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี ชวนงดการแจกถุงทุกวันที่ 4 ของเดือน และถ้าไม่รับถุงก็ให้แต้มเพิ่ม เดอะมอลล์เป็นห้างแรกที่ประกาศงดแจกถุง หากต้องการคิดเงินค่าถุง 1 บาทต่อถุง แล้วนำไปบริจาค ส่วนห้างเซ็นทรัลงดแจกถุงพลาสติกโดยใช้ถุงกระดาษใส่แทน พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 เทสโก้ โลตัส และเซเว่นอีเลฟเว่น ไม่แจกถุงบางสาขาเริ่มจากสาขาในแหล่งท่องเที่ยวติดทะเลก่อน เซเว่นฯ เมื่อลูกค้าไม่รับถุงก็จะนำเงินค่าถุง 20 สตางค์ไปสมทบทุนบริจาค 77 โรงพยาบาลทั่วไทย เป็นต้น
ข้อสังเกต ในช่วงเวลาราว 3 ปีที่มีการรณรงค์ลดใช้พลาสติกโดยไม่มีข้อบังคับนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตระหนักเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง คนซื้อคงเลือกใช้ถุงพลาสติก เพราะได้รับความสะดวกสบาย แถมได้ถุงฟรี ไม่ต้องลำบากเตรียมถุง หรือภาชนะไปใส่
ดังนั้น การเก็บค่าถุงพลาสติกจากจุดซื้อให้เบ็ดเสร็จ หากห้างร้านค้าทำกันทุกรายไม่ใช่ความสมัครใจ ย่อมจะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการซื้อสินค้าที่ว่าใครอยากทำก็ทำ ไม่ทำก็ไม่ว่าอะไร กรณีนี้แบรนด์ห้างดังที่ทำอยู่แล้วอย่างแม็คโคร (Makro) และอิเกีย (IKEA) เป็นข้อพิสูจน์แล้วเช่นกันว่า ผู้บริโภคสามารถปรับตัวตามได้โดยไม่มีผลกระทบต่อยอดขายแต่อย่างใด
ปีที่ผ่านมา แนวคิดนี้ทางสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยประชุมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือถึงการออกมาตรการจูงใจการลดหรือเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก กล่องโฟมหรือวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ และช่วยลดปัญหาโลกร้อน ซึ่งนำมาสู่โรดแมปของทส.ในปีนี้
แนวทางที่กระทรวงการคลังได้เสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ พิจารณานั้น คือ ให้ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกรายใหญ่ เรียกเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากลูกค้าใบละ 1-2 บาท ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปหรือญี่ปุ่น ที่ลูกค้าจะต้องเสียเงินซื้อถุงพลาสติกเพิ่ม โดยมีจุดประสงค์กระตุ้นให้ประชาชนลดถุงพลาสติก ด้วยการเตรียมตะกร้า กระเป๋า หรือถุงผ้า ไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าแทน
แต่เรื่องนี้กลับซาลงไป คาดว่าขณะนั้นบรรดาผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนใหญ่เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของตัวเอง เพราะคนไทยจะเคยชินกับการใช้ถุงพลาสติกฟรี หากมีการเรียกเก็บเงินเพิ่มอาจทำให้ลูกค้าไม่พอใจ และเลือกไปซื้อสินค้าในร้านค้าอื่นที่ให้ถุงพลาสติกฟรีแทนได้ และนำไปสู่หลายๆ มาตรการของแต่ละห้างที่กระตุ้นผู้บริโภคให้ร่วมกันลดใช้ถุงพลาสติกแบบค่อยเป็นค่อยไป
เดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นห้างสรรพสินค้าแรก ที่กล้าตัดสินใจ ใช้วิธีเก็บเงินค่าถุงพลาสติกใส่ของ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายโดยเตรียมถุงมาเอง
เซ็นทรัลงดแจกถุงพลาสติกโดยใช้ถุงกระดาษใส่แทน พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562
ผู้บริโภคเสียงเปลี่ยน เห็นดีลดพลาสติก
ที่ผ่านมา เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง เช่น กรีนพีซ เครือข่ายกลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทะเลและแก้ปัญหาขยะพลาสติก อย่าง Thai Whales Mahasamut Patrol และ ReReef มีความเห็นตรงกันว่า เก็บค่าถุง! ถึงลดได้จริง
นอกจากนี้ พยายามนำเสนอแนวทาง “เก็บเงินค่าถุง” ผนวกไปกับเก็บภาษีที่สูงขึ้นกับผู้ผลิตถุงพลาสติก ให้เหมือนกับภาษีสินค้าที่มีผลกระทบทางลบต่อสังคมอื่นๆ เช่น เหล้า บุหรี่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว พลาสติกมีต้นทุนในการจัดการสูง และภาระส่วนใหญ่ก็ตกอยู่กับรัฐบาล ซึ่งก็มาจากเงินภาษีของประชาชน โดยเงินภาษีที่ได้จากการเก็บจากผู้ผลิตพลาสติก เสนอให้นำมาใช้ในภาคส่วนที่รับผิดชอบด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อได้อีกด้วย
หรือแม้แต่แคมเปญเรียกร้องให้ห้างร้านต่างๆ เก็บเงินค่าถุงพลาสติกบน Change.org ที่เริ่มรณรงค์ในปีที่ผ่านมา ที่มีทั้งเสียงเห็นด้วยและคัดค้านครึ่งต่อครึ่ง แต่มาปีนี้กระแสตอบรับที่เห็นด้วยแล้วร่วม 1 แสนราย
อีกทั้งปัจจุบันนี้ภาคอุตสาหกรรมหันมาทำเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคบรรจุภัณฑ์มากขึ้น เริ่มตั้งแต่การออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมให้รีไซเคิลอย่างครบวงจร ใช้สินค้าจากการรีไซเคิล ให้คัดแยกและรวบรวมวัสดุรีไซเคิล
จากการสำรวจของสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าภาคอุตสาหกรรมไทยผลิตเม็ดพลาสติก 5.5 ล้านตันต่อปี เพื่อนำไปผลิตพลาสติกบรรจุภัณฑ์ (packaging) โดยปี 2561 พบผลิตพลาสติกบรรจุภัณฑ์ (packaging) ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี เป็นผลิตถุงพลาสติกทุกชนิดประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี ข้อสำคัญที่สอดคล้องกับแนวทางลดถุงพลาสติกดังกล่าว ก็คือการนำกลับมารีไซเคิลได้เพียงร้อยละ 5 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังแยกขยะไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะถุงพลาสติก

สาเหตุสำคัญของขยะพลาสติกที่ส่วนมากเกิดจากขยะบก ก่อนจะไปสู่ปลายทางเป็นขยะทะเล โดยมีสัดส่วนเป็นขยะพลาสติกถึงร้อยละ 80


กำลังโหลดความคิดเห็น