xs
xsm
sm
md
lg

‘ธนชาต’ เติมเต็มทักษะเยาวชน ปลูกฝังความเป็นไทย สู่การเติบใหญ่อย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรยากาศในการประกวดได้ต่อยอด เติมเต็ม สร้างเวทีให้แก่เยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินและการมองเห็น
เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษแล้วที่โครงการรณรงค์ส่งเสริมให้เยาวชนรักในความเป็นไทยก่อกำเนิดขึ้น และธนาคารธนชาตนำมาต่อยอดเป็นโครงการ “ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย” การประกวดอ่านฟังเสียงภาษาไทยและมารยาทไทยที่เปิดให้เยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
โครงการนี้ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ในนามธนาคารศรีนคร ส่งผ่านธนาคารนครหลวงไทย มาจนถึงธนาคารธนชาตในปัจจุบัน โดยเมื่อปี ๒๕๕๔ ธนาคารธนชาตได้เริ่มจัดแข่งขันในชื่อโครงการ “ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย” ภายใต้กิจกรรม “การแข่งขันอ่านฟังเสียง” และ “การประกวดมารยาทไทย” และได้ต่อยอด เติมเต็ม สร้างเวทีให้แก่เยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินและการมองเห็น
เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ธนาคารธนชาตสานต่อจัดการประกวดนี้มาอย่างยาวนานถึง 48 ปี คำตอบไม่ได้มีเพียงเจตนารมณ์อันหนักแน่นในการดำรงรักษาเอกลักษณ์อันดีงามของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นความมุ่งหวังที่จะสร้างทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับความก้าวหน้าให้กับเยาวชนไทย และเพาะเมล็ดพันธุ์ส่งต่อสำนึกรักความเป็นไทยออกไปสู่สังคมอย่างยั่งยืน
ครูศิริวรรณ อ่อนเกตุ นายศักดินันท์ โพธิ์ทอง และนางสาวพรรวษา ศรีกุณะ โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ  ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่
นางสาววชิราภรณ์ ทองจำนงค์และเพื่อนร่วมทีม  และคุณครูผู้ฝึกสอนจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร
เกรียงไกร ภูริวิทย์วัฒนา
เกรียงไกร ภูริวิทย์วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สามสิ่งสำคัญที่ธนาคารธนชาตคำนึงถึงอยู่เสมอ คือ ความเท่าเทียม ความก้าวหน้า และความยั่งยืนของสังคม ด้วยเหตุนี้เราจึงต่อยอดโครงการ ‘ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็มเอกลักษณ์ไทย’ ให้ครอบคลุมทั้งเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินและการมองเห็น เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนทุกคนได้มีความเท่าเทียมในการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในการสร้างความก้าวหน้าในชีวิต และเราเชื่อว่าเมื่อกำลังหลักของสังคมในภายภาคหน้ามีความพร้อมที่จะสร้างความก้าวหน้าในชีวิตแล้ว สังคมไทยก็จะก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”
วชิราภรณ์ ทองจำนงค์ และเพื่อนร่วมทีมจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร เยาวชนที่เข้าร่วมประกวดแข่งขันมารยาทไทยระดับมัธยมศึกษาสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน กล่าวผ่านล่ามภาษามือถึงเหตุผลที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ว่า “มารยาทไทยเป็นทักษะที่ช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้ดูดี สามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น ทั้งยังเป็นภาษากายที่มีเสียงดังและสำคัญไม่แพ้ภาษาพูด การฝึกบุคลิกและมารยาทจึงเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสื่อสารและการทำงานในชีวิตประจำวัน”
ด้านคุณครูอรอนงค์ นุเสนและคุณครูปานจรี เคนศรี ครูผู้ฝึกสอนจากโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯกล่าวเสริมถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นในโรงเรียนว่า “เราส่งนักเรียนเข้าประกวดมาตั้งแต่ปี 2558 ความสำเร็จที่เห็นชัดเจนคือสายสัมพันธ์อันดีงามระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง หลังจบการแข่งขัน เด็กที่เข้าแข่งขันจะมาสาธิตการไหว้อย่างถูกต้องที่หน้าเสาธง เกิดเป็นความรู้สึกชื่นชมและความสนใจในเรื่องมารยาทไทย รุ่นพี่ที่เคยแข่งขัน ซึ่งรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ได้ผันตัวมาเป็นผู้ช่วยครู เป็นแบบอย่าง และคอยสอนน้องที่จะแข่งขันในปีต่อไป ทุกคนตั้งใจที่จะส่งต่อความรักและความตั้งใจในการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชาติให้แก่รุ่นน้อง เรื่องเล็กๆ นี้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ครูเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองจากพฤติกรรมเด็กๆ ที่เปลี่ยนไป และไม่ใช่เฉพาะแต่เด็กที่เข้าร่วมการแข่งขันเท่านั้น เด็กๆ ยังนำการฝึกตรงนี้ไปใช้ต่อกับผู้ปกครอง ถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีของไทยสู่สังคมรอบข้างอีกทางหนึ่งด้วย”
เช่นเดียวกับ ศักดินันท์ โพธิ์ทอง และพรรวษา ศรีกุณะ เยาวชนผู้บกพร่องทางการมองเห็นจากโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันอ่านฟังเสียงอักษรเบลล์ในระดับมัธยมศึกษากล่าวว่า การประกวดครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้มีบ่อย และเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกการรับมือกับความตื่นเต้นและความกดดันในสถานการณ์จริง ได้เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง และยังได้พบมิตรภาพใหม่ๆ อีกทั้งผลลัพธ์จากการฝึกซ้อมเพื่อมาแข่งขัน ยังทำให้ได้ฝึกลับคมทักษะการสื่อสารที่จะเป็นประโยชน์ไปตลอดชีวิต
“ประสบการณ์ครั้งนี้จะนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ที่ช่วยให้ชีวิตก้าวหน้า เพราะทักษะการสื่อสารให้ชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต ผมสามารถนำทักษะที่ได้ฝึกฝนจากการเข้าแข่งขันไปใช้ได้ตั้งแต่ขั้นตอนการสัมภาษณ์ไปจนถึงในการทำงานจริง” ศักดินันท์กล่าว
คุณครูศิริวรรณ อ่อนเกตุ ครูผู้ฝึกสอนน้องๆ จากโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่ กล่าวสรุปว่า “สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหัวใจของครูในวันนี้คือการได้เห็นเด็กๆ มีความกล้าหาญที่จะมาร่วมการแข่งขัน ครูขอบคุณที่พวกเขากล้าที่จะออกจากพื้นที่เล็กๆ ของตัวเองมาพบเจอสิ่งใหม่ ครูบอกเด็กทุกคนว่าเราอาจไม่ได้เก่งที่สุด แต่เรากล้าหาญที่สุด การประกวดครั้งนี้เป็นสปิริตของทั้งตัวเด็ก ของคณะกรรมการ และของผู้จัดงาน ไม่ว่าพวกเขาจะได้รางวัลหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ประสบการณ์ที่เด็กๆ ได้ออกจากสังคมเล็กๆ ของตนเอง มาเจอประสบการณ์ใหม่ ได้พบปะผู้คนที่ให้เกียรติและปฏิบัติกับพวกเขาอย่างเท่าเทียม คือประสบการณ์ที่มีค่ามากที่สุดสำหรับพวกเขา และครูเองจะใช้ประสบการณ์วันนี้ไปวางแผนนโยบายต่อยอดในโรงเรียน เพื่อเติมเต็มเมล็ดพันธุ์แห่งความก้าวหน้าที่ธนาคารธนชาตได้ริเริ่มให้กับเด็กของเรา เพื่อพาพวกเขาสู่ปลายทาง ซึ่งก็คือการมีทักษะชีวิตที่สมบูรณ์นั่นเอง”