“แม่ชีเทเรซา” หรือ “คุณแม่เทเรซา” นักบวชหญิงในคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก เกิดเมื่อ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2453 มีชื่อเสียงก้องโลกในฐานะผู้อุทิศตนช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อคนยากไร้ทั้งในประเทศยากจนและร่ำรวย จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี พ.ศ.2522 (ค.ศ.1979) แม้จะเสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 5 กันยายน พ.ศ. 2540 แต่ทว่าเรื่องราว ชีวิต ผลงาน ความคิด และคำสอน ยังตราตรึงและส่งทอดสู่คนรุ่นหลัง
๐ มูลนิธิการกุศลเทียนจิ่ว
“เจนนิเฟอร์ ลู” เป็นจิตอาสารุ่นใหม่ และมีแม่ชีเทเรซาเป็นไอดอลหรือบุคคลในดวงใจ งานการกุศลที่เธอทำโดยหลักๆ แล้วอยู่ภายใต้ “มูลนิธิการกุศลเทียนจิ่ว” หรือ “Tojoy Charity Foundation” ซึ่งทำกิจกรรมสาธารณกุศลหลายด้าน ทั้งการส่งเสริมการศึกษา การรักษาพยาบาล การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขความยากจน ในประเทศจีนและประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ตัวอย่างกิจกรรมสาธารณกุศลต่างๆ ด้าน“การศึกษา”ได้ให้การช่วยเหลือประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น การสร้างโรงเรียนในแทนซาเนีย แซมเบีย เคนยา รวันดา บูรันดิ และนามีเบีย รวมทั้ง ในชนบทของจีน ด้าน“การรักษาพยาบาล” มีการจัดทำสถานพยาบาลที่ให้บริการฟรี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรักษา การจ่ายยา การพยาบาลฉุกเฉิน และการส่งแพทย์ไปตรวจรักษาชาวบ้านในพื้นที่ขาดแคลน นอกจากนี้ ยังดูแลด้าน“สาธารณูปโภค” เช่น สร้างฝายเพื่อชลประทานการเกษตร และสร้างถนน ตลอดจนการให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อ“การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” เช่น การปลูกป่าในประเทศจีน การอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในไทย การช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวที่เนปาล สึนามิที่อินโดนีเซีย ฯลฯ
นอกจากนี้ “กลุ่มวิสาหกิจเทียนจิ่ว” หรือ “Tojoy Business Group” ซึ่งมีนักธุรกิจระดับ 100 ล้านหยวน จำนวนกว่า 500,000 ราย อยู่ทั่วทุกมณฑลในประเทศจีน มีกิจกรรมสาธารณกุศลช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด และจากนโยบายของประธาน “สีจิ้นผิง” ที่ต้องการยกระดับรายได้ประชาชนให้พ้นขีดความยากจนภายในปีค.ศ.2020 ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีค.ศ.2016 จนถึงปัจจุบัน “กลุ่มเทียนจิ่ว”มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาล และร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือการประกอบอาชีพของคนรายได้ต่ำทั่วทุกมณฑลของจีน มณฑลละ 1 ล้านหยวน เพื่อช่วยให้ปัญหาความยากจนหมดไปจากประเทศจีน
๐ คำสอนชี้ทาง
แม้จะได้รับคำชื่นชมและการยอมรับมากมาย เช่น สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ CCTV นำเสนอข่าวเกี่ยวกับเธอในฐานะนักสังคมสงเคราะห์มืออาชีพคนแรกของจีน แต่ก็มีคนที่มองเชิงลบ มีกระแสกล่าวหาว่าร้ายและถูกโจมตี และแม้ครอบครัวจะสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้อย่างมาก แต่ในช่วงที่เผชิญกับอุปสรรคเช่นนี้ ทำให้เธอรู้สึกหดหู่อย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่คิดเสมอว่า การทำสาธารณกุศลเป็นเรื่องความรักที่มีต่อผู้คน เป็นเรื่องของความดีงาม เป็นสิ่งถูกต้อง ไม่ใช่ความผิด ไม่ควรยอมแพ้ จนเมื่อได้เรียนรู้คำสอนบทหนึ่งของ “แม่ชีเทเรซา” ที่กล่าวไว้ว่า “Love until it hurts.” จึงช่วยให้เธอสามารถผ่านพ้นและก้าวต่อไปได้อย่างมุ่งมั่น
คำสอนดังกล่าวพูดถึงผู้คนที่มักไม่ใช้เหตุผล และยึดถือความคิดตนเองเป็นใหญ่ แต่ไม่ว่าอย่างไร ต้องให้อภัย แม้การทำดีทำการกุศล แต่กลับถูกกล่าวหาว่าแอบแฝง ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง อย่างไรก็ตาม ความดีที่ทำ แม้ข้ามวันถูกลืมไปแล้ว ยังควรทำดีสร้างกุศลต่อไป สำหรับ “แม่ชีเทเรซา” ใช้ทั้งชีวิตเพื่อช่วยเหลือคนยากจน ตอนจากโลกนี้ไปก็ไม่ได้นำสมบัติติดตัวไปเลย บริจาคไปทั้งหมด และยังทิ้งมรดกอันยิ่งใหญ่ไว้ให้โลกคือความดีงามและจิตใจอันสูงส่ง
๐ พิพิธภัณฑ์ (เพื่อจิตวิญญาณ) แม่
เมื่อเร็วๆ นี้ “เจนนิเฟอร์ ลู” เดินทางมาประเทศไทย ตามคำเชิญของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ เพื่อร่วมกิจกรรมของโครงการ “พิพิธภัณฑ์แม่” ซึ่งกำลังจัดสร้างอยู่ที่จังหวัดราชบุรี และกล่าวว่า “ความเป็นแม่” คือการให้ความรัก ดังนั้น “พิพิธภัณฑ์ (เพื่อจิตวิญญาณ) แม่” จะเป็นสถานที่ที่เตือนให้ระลึกถึงจิตวิญญาณที่เป็นพื้นฐานแห่งความรักอันบริสุทธิ์ของความเป็นแม่
เธอคิดว่าแม่ทุกคนนั้นยิ่งใหญ่ การบำเพ็ญประโยชน์โดยพลังสตรีเพศ และพลังของสตรีเพศที่เข้มแข็งขึ้น จะทำให้โลกนี้มีความงดงามมากขึ้น หนึ่งในกิจกรรมที่น่าจะเกิดขึ้นคือ การระดมผู้คนที่มีศรัทธาในความเป็นแม่จากทั่วโลกมารวมกัน เพื่อจัดสัมมนาความเป็นไปได้ในการใช้พลังแห่งความเป็นแม่ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมมนุษยชาติ และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการชุมนุมของบรรดาผู้เป็นแม่ทั้งหลาย
อนาคตสตรีเพศน่าจะมีบทบาทมากขึ้น ความเสมอภาคทางเพศระหว่างหญิงและชาย จะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะเราต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นอิสระจากกัน มนุษย์เราต่างมีความถนัดแตกต่างกัน ถ้าเราต่างแสดงความถนัดที่ต่างกัน เราก็จะสามารถร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น
๐ ครอบครัวสาธารณกุศล
“สาธารณกุศล” เป็นชีวิตจิตใจของ “เจนนิเฟอร์ ลู” จุดเริ่มต้นจาก “แม่” เป็นคนแรกที่สอนให้เธอรู้จักการทำงานการกุศลตั้งแต่เด็ก และ “พ่อ” ไม่เพียงสนับสนุนให้เธอทำการกุศล แต่ยังเป็นนักธุรกิจที่เสนอแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสร้างสุขและสร้างบุญให้กับสังคมโลก โดยมองว่าการหาเงินไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเพียงวิธีการ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือการสร้างให้ทั่วทั้งโลกมีความสุขร่วมกัน
“ครอบครัวเราผูกพันกับการทำสาธารณประโยชน์ เพราะคุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มต้นจากมือเปล่าเหมือนคนจีนทั้งหลาย และเติบโตขึ้นมาจากความขยัน สติปัญญา และคุณธรรม พร้อมกับความรักอันเปี่ยมล้น พวกเรายึดมั่นคติธรรมที่ว่า รักที่ยิ่งใหญ่ต้องไร้พรมแดน ดังนั้น การทำการกุศลต้องเป็นไปอย่างไร้พรมแดนเช่นกัน”
“การทำการกุศล” เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ และควรเป็นอุปนิสัยอย่างหนึ่งของผู้คน เพราะแม้เพียงรอยยิ้มเล็กๆ คำพูดปรารถนาดี เงินจำนวนน้อยนิด หรือความเอื้อเฟื้ออันเล็กน้อย ทั้งหมดก็คือความดี เป็นกุศล เพราะการทำสาธารณกุศลไม่มีการแบ่งแยกว่ามากหรือน้อย ขอให้จุดเริ่มต้นคือความบริสุทธิ์ใจ
นอกจากการอุทิศตัวเพื่อทำสาธารณประโยชน์อย่างจริงจัง เธอยังปลูกฝังให้ลูกๆ เรียนรู้และซึมซับเรื่องนี้ตั้งแต่เล็กๆ เช่นกัน อย่างการไปเยี่ยมชาวบ้านที่ยากจน ลูกๆ จะไม่ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ แต่จะเล่นหรือกินเหมือนกับเด็กชาวบ้าน เพื่อให้เข้าใจว่าคนเรานั้นเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยกว่า แต่ก็ไม่รู้สึกว่าตนเองสูงส่งกว่า และสามารถใช้การกระทำที่ดีงามเล็กๆ น้อยๆ การมีจิตใจเอื้อเฟื้อ ความรัก ความสุข เป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามในการรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น เพราะ ”การทำความดี” เป็นด้านที่ดีที่สุดของมนุษยชาติ ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก
ท้ายที่สุด “เจนนิเฟอร์ ลู” มองว่า “การยืนหยัด”ทำความดีให้ถึงที่สุด คือความท้าทายที่สุดเพราะการทำดีครั้งเดียวนั้นง่าย แต่การทำดีตลอดชีวิตนั้นไม่ง่าย จะต้องมีจิตใจที่แน่วแน่มั่นคง จึงจะสามารถทำกุศลกิจได้ถึงที่สุด