xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม ปตท.ระยอง “หนุนชุมชนเรียนรู้-ต่อยอด” ยกขบวนผู้นำชุมชน ดูวิถีชีวิตแบบไทย ที่สวนสามพราน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่ม ปตท.จ.ระยอง นำโดยคณะผู้บริหาร ทีมเจ้าหน้าที่งานชุมชนสัมพันธ์ (CSR) พาผู้นำชุมชน ในเขตเทศบาลมาบตาพุด และ บ้านฉาง จ.ระยอง ภายใต้โครงการสัมมนาผู้นำชุมชน กลุ่ม ปตท. ประจำปี 2562 ศึกษาดูงานวิถีชีวิตแบบไทย ผ่านการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล ของสวนสามพราน


ศรัญยา ชัชวาลพาณิชย์ หนึ่งในผู้บริหารกลุ่ม ปตท.จ.ระยอง นำทีมศึกษาดูงานภายใต้โครงการดังกล่าว มีทั้งหมด 5 รุ่นด้วยกัน จาก 88 ชุมชน รวมแล้วกว่า 900 คน ที่อยู่รอบๆ สถานประกอบการใน จ.ระยอง เข้าร่วมกิจกรรม โดยรุ่นแรก เป็นกลุ่มประมงเรือเล็ก (ประมงพื้นบ้าน) จำนวน 80 คน
ศรัญยา กล่าวว่า "กลุ่มปตท.พยายามรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่า และเรียนรู้วิธีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายในชุมชน ซึ่งมองว่าสวนสามพรานมีฐานความรู้ที่น่าสนใจแบบครบวงจร ทั้งในด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ ที่ทางผู้นำชุมชนเหล่านี้จะได้โอกาสเข้ามาศึกษาหาความรู้ เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และนำเอากลับไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ พร้อมกันนี้ทาง ทีมงานชุมชนสัมพันธ์ของกลุ่ม ปตท.เองก็ถือว่ามาเปิดโลกทัศน์ เพื่อที่จะเอาองค์ความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ในการทำงานของพวกเขาและส่งต่อคุณค่าไปยังไปยังชุมชน" 
สำหรับหนึ่งวันในพื้นที่ สวนสามพราน มีกิจกรรมให้เรียนรู้หลากหลาย เริ่มจากฟังบรรยายความรู้ และแชร์ประสบการณ์ 8 ปี การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ภายใต้ สามพรานโมเดล โดย คุณชฤทธิพร เม้งเกร็ด ผู้จัดการ สามพรานโมเดล จากนั้น ไปลงพื้นที่ ปฐมออร์แกนิกฟาร์ม เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ไปเรียนรู้ ระบบวงจรฟาร์มอินทรีย์ ทดลองทำปุ๋ย ศึกษาวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ ทดลองปลูกต้นกล้าในเปลือกไข่ รวมถึงการนำวัตถุดิบอินทรีย์มาปรุงอาหารเมนูง่ายๆ ให้ได้ลองชิม
ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน การแปรรูปสินค้าที่หมู่บ้านปฐมผ่าน กิจกรรมเวิร์คช็อป สนุกๆ กับ อาทิ เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากข้าว ทดลองทำสครับข้าว ทำขนมกล้วย และกิจกรรมสร้างสรรค์หัตถศิลป์ ปั้นดิน สานปลาตะเพียน เป็นต้น ทั้งนี้ ในทุกกิจกรรม ซ่อนแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ที่จุดประกายให้ทุกคนเกิดไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถนำกลับไปปรับใช้ได้จริง


คุณค่าที่ชาวคณะได้รับจากการดูงานครั้งนี้ ศรัญยา บอกว่า “ได้ตัวอย่างของวิธีการ กระบวนการ หรือแนวคิดที่จุดประกายให้ชุมชนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ แล้วนำกลับไปปรับประยุกต์พัฒนาต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแปรรูปในหมู่บ้านปฐม หรือ กระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ในฟาร์มปฐม แม้บริบทของสังคมสภาพพื้นที่ หรือปัจจัยที่อยู่แวดล้อมอาจจะต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วแก่นของมัน เรื่องของการแปรรูป มันไม่ได้หนีกันมาก อาจจะเอาความรู้ กระบวนการ หรือ วิธีการที่ได้จากสวนสามพราน ไปลองใช้กับที่บ้าน /-ที่นี่อาจจะไม่ได้โชว์เรื่องแปรรูปอาหารทะเล แต่สิ่งที่เขาได้เห็นได้สัมผัส จุดประกายความคิด รู้ว่าทำอย่างไรจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารทะเล ได้”
ศรัญยา บอกอีกว่า คุณค่าที่คณะได้รับจากการดูงานครั้งนี้เป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อน แต่เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ และนำกลับไปปรับให้เกิดประโยชน์ในมิติต่างๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สู่การมีชีวิตที่สมดุล"