xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้เกษตรกรส่วนใหญ่ หวังลูกหลานทำการเกษตร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 823 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2562 ในหัวข้อ “ความคาดหวังของเกษตรกรในการสืบทอดอาชีพของบุตรหลาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความต้องการของเกษตรกรในการให้บุตรหลานประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.68 มีความต้องการให้ลูกหลานสืบทอดอาชีพเกษตรกรรม โดยเหตุผลว่าต้องการให้สืบทอดอาชีพจากครอบครัวเป็นอาชีพที่เป็นนายตัวเอง และสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ส่วนร้อยละ 37.32 ไม่ต้องการให้ลูกหลานประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้เหตุผลว่าเป็นอาชีพที่รายได้ไม่มั่นคงเท่ากับอาชีพอื่นๆ และไม่ต้องการให้ลูกหลานลำบากในอนาคต

เมื่อสอบถามถึงความสำคัญของอาชีพเกษตรกรรมในอนาคต เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ82.24 ให้ความเห็นว่า อาชีพเกษตรกรรมยังมีความสำคัญต่อประเทศไทยในอนาคต มีเหตุผลว่า อาชีพเกษตรกรรมถือเป็นอาชีพของคนไทยมาช้านาน และเป็นผู้ผลิตอาหารให้คนในประเทศ รองลงมาร้อยละ 14.06 ไม่แน่ใจ ซึ่งส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเท่าที่ควร และสุดท้ายร้อยละ 3.70 เห็นว่าอาชีพเกษตรกรรมไม่มีความสำคัญต่อประเทศในอนาคต โดยให้เหตุผลว่าผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความลำบาก เกษตรกรส่วนใหญ่มีภาระหนี้สิน

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับรายได้ของเกษตรกรในปัจจุบัน พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 32.09) คือ มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย อันดับ 2 (ร้อยละ 24.75) มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บ อันดับ 3 (ร้อยละ 24.38) รายได้ไม่เพียงพอ ต้องหาอาชีพเสริมเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย

ด้านการวางแผนสืบทอดพื้นที่ทำการเกษตร พบว่า ร้อยละ 69.37 มีการวางแผนในการวางแผนสืบทอดพื้นที่ทำการเกษตร อันดับ 1 (ร้อยละ 69.24) คือ วางแผนเก็บไว้ให้บุตรหลานจัดการตามความต้องการ อันดับ 2 (ร้อยละ 12.64) วางแผนให้ผู้ที่ต้องการทำเกษตรกรรมเข้ามาจัดการแล้วแบ่งผลประโยชน์ให้บุตรหลาน อันดับ 3 (ร้อยละ 10.76) วางแผนปล่อยให้เช่าพื้นที่ทางการเกษตรหากบุตรหลานไม่สนใจทำเกษตรกรรม ในขณะอีกร้อยละ 30.61 ไม่ได้วางแผน

ส่วนข้อเสนอแนะที่จะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมให้มากขึ้น เกษตรกรร้อยละ 26.14 เห็นว่า ควรยกระดับราคาสินค้าการเกษตรให้สูงขึ้นเพื่อจูงใจคนรุ่นใหม่ ร้อยละ 25.00 ควรส่งเสริมหรือพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้มีความอยู่ดีกินดีเพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 24.43 ควรปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังสนใจอาชีพเกษตรกรรมให้มากขึ้น ร้อยละ 10.8 ควรให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลืออาชีพเกษตรกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ร้อยละ 9.09 ควรนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเกษตรให้มากขึ้นเพื่อคนรุ่นใหม่จะสนใจ และสุดท้ายร้อยละ 4.54 นำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ทั้งนี้ จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงต้องการให้ลูกหลานของตนประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อสืบทอดอาชีพของครอบครัว และเห็นว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่เป็นนายตัวเองสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่เห็นว่าในอนาคตอาชีพเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อประเทศไทย

อย่างไรก็ตามกลับพบว่า รายได้ของเกษตรกรไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย แสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายของเกษตรกรสูงเมื่อเทียบกับรายได้ที่มี จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องช่วยเหลือเรื่องราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นเพื่อจูงใจคนรุ่นใหม่มาสนใจอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น และพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของอาชีพเกษตรกรรม

ปัญหาเหล่านี้จะต้องร่วมมือช่วยกันในทุกฝ่าย เพื่อจะสามารถช่วยเกษตรกรที่มีปัญหาด้านรายจ่ายและทำให้คนรุ่นใหม่มาสนใจอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น ในปัจจุบันภาครัฐก็ได้มุ่งเน้นและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มาเป็น Young Smart Farmer โดยการจัดอบรมให้ความรู้ในการบูรณาการเทคโนโลยีกับการเกษตรให้ทันยุคทันสมัยในการทำเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับโลกในปัจจุบันซึ่งสามารถลดต้นทุน แรงงาน และประหยัดเวลามากขึ้น เหมาะสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น