ในปี พ.ศ.2556 โครงการพิพิธภัณฑ์แม่ อุทยานการเรียนรู้แห่งความรักและสันติภาพของทุกคน หรือ Mother’s Spiritual Museum Project ก่อเกิดขึ้นจากความคิดของ “ครองศักดิ์ จุฬามรกต” สถาปนิกหัวก้าวหน้า ประธานคนแรกของกลุ่มบริษัทแปลน ซึ่งคิดว่าการสร้างพิพิธภัณฑ์แม่จะช่วยให้เกิดการขยายวงของ“จิตสำนึกใหม่”คือจิตสำนึกของความรักและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับโลก ซึ่งเป็นทางรอดของมนุษยชาติ จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากมายมหาศาล
“พิพิธภัณฑ์คือสถาบันการเรียนรู้ประเภทหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อชุมชนต่อสังคม แต่ไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่ไหนในโลกพูดเรื่องความยิ่งใหญ่ของแม่บังเกิดเกล้า เรื่องคุณงามความดีของแม่ที่มีต่อการมีอยู่ของมวลมนุษยชาติ” ผู้ริเริ่มโครงการฯ ยืนยันถึงการเป็นพิพิธภัณฑ์แม่แห่งแรกของโลก
ช่วงที่ผ่านมา “โครงการพิพิธภัณฑ์แม่” ได้สื่อสารให้สังคมวงกว้างตระหนักถึงพลังของความรักบริสุทธิ์ดั่งความรักของแม่ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์และธรรมชาติ และปลูกฝังในหัวใจของทุกคน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในเพจ“อุทยานการเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์แม่” Mother’s Spiritual Museum และเพจ“พลังหัวใจแม่” รวมถึงการจัดกิจกรรมหลากหลาย นอกจากนี้ ยังเผยแพร่ผลงานของศิลปินแขนงต่างๆ ที่มอบให้พิพิธภัณฑ์แม่เพื่อใช้ในการระดมทุน
กระทั่ง เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด ผู้ผลิตผ้าม่านและเครื่องนอน “พาซาญ่า” (PASAYA) ที่มีชื่อเสียง ได้บริจาคที่ดิน 53 ไร่เศษ ติดโรงงานฯ ที่ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นสถานที่สร้างพิพิธภัณฑ์แม่ และมีการระดมอาสาสมัครจาก “มูลนิธิวทัญญู ณ ถลาง” เป็นกำลังหลักในการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เพื่อให้เป็นสวนป่าร่มรื่น อีกทั้ง ยังได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ “ปัญญา วิจินธนสาร” เป็นประธานจัดสร้างประติมากรรมชิ้นแรก โดยเฉพาะได้รับเกียรติอย่างสูงจากอดีตนายกรัฐมนตรี “อานันท์ ปันยารชุน” เป็นประธานจัดสร้างเจดีย์เจติยมาตา
จากภาพ - ชเล วุทธานันท์ (ที่สองจากซ้าย) เจนนิเฟอร์ ลู (ที่สามจากซ้าย) อานันท์ ปันยารชุน (ที่สี่จากซ้าย) รตยา จันทรเทียร (ที่ห้าจากซ้าย) ครองศักดิ์ จุฬามรกต (ที่หนึ่งจากขวา)
“ชเล วุทธานันท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด แสดงความคิดเห็นต่อ “โครงการพิพิธภัณฑ์แม่” ว่า “มี 2 ประเด็น ประเด็นแรก คิดว่าโครงการนี้ยิ่งใหญ่ เพราะในโลกนี้จนถึงวันนี้ยังไม่ปรากฎว่ามีพิพิธภัณฑ์แม่ในโลก โดยเฉพาะการนำเสนอคุณงามความดีของแม่ ความยิ่งใหญ่ของแม่ หรือแม้กระทั่งการเป็นศูนย์รวมจิตใจในการรำลึกถึงแม่ จึงคิดว่านี่เป็นโครงการที่ดีมาก
“ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องของความในใจ รู้สึกเหมือน “บาป” ที่ฝังอยู่ในใจ เพราะไม่มีโอกาสดูแลแม่ ด้วยความที่ตั้งใจจะทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างที่แม่ตั้งความหวังไว้ คิดว่าให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาดูแลแม่อย่างดี พาไปเที่ยว ทำให้แม่มีความสุข เพราะเรามีความพร้อมแล้ว”
“เป็นความรู้สึกเหมือน “ติดค้าง” ในใจเสมอมา ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จึงไปบวชในเดือนที่แม่เสียชีวิต ซึ่ง 4 ปีมีหนึ่งครั้งเท่านั้น เหตุว่าแม่เสียชีวิตในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ผมจึงตั้งปณิธานว่าทุก 4 ปี จะบวชให้แม่ เรื่องนี้คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่คิดถึงแม่ และไม่เคยลบเลือนไปได้เลย”
“คิดว่าการมีส่วนร่วมให้พิพิธภัณฑ์แม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เป็นโอกาสอันดียิ่ง เป็นสิ่งที่ดีมากและเป็นความฝันที่อยากทำ คิดอีกว่าทำอย่างไรให้พิพิธภัณฑ์แม่เป็นศูนย์รวมจิตใจให้กับคนที่มีความรู้สึกติดค้างในใจเหมือนกัน ตลอดจนคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความทรงจำที่ไม่ดีเช่นนี้ หวังให้การระลึกถึงแม่ของนั้นจะช่วยส่งเสริมและพัฒนา หากคิดแบบพุทธก็คือการมีและสร้างโอกาส “ส่งบุญ” ให้กับแม่ที่จากไป”
“เรื่องบุญกับชีวิต เอาเข้าจริงไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะการดำรงชีวิตของเรานั้นเป็นการทำดีอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้คิดหวังว่าทำบุญหรือทำอะไรดีๆ แล้วจะได้ผลลัพธ์อะไรกับตัวเอง เพียงว่าบุญมีอยู่จริง ขอให้กุศลบุญทั้งหมดส่งผลไปสู่แม่ของทุกคนบนโลกใบนี้”
เป็นที่น่ายินดีที่มีบุคคลสำคัญของไทยที่มีส่วนต่อการให้กำลังใจต่อพิพิธภัณฑ์แม่ อดีตนายกฯ “อานันท์ ปันยารชุน” ได้แสดงความรู้สึกส่วนลึกว่า “ในเมืองไทยมีอนุสาวรีย์ มีอนุสรณ์ มีสถาบันต่างๆ ที่เชิดชูพระมหากษัตริย์ เชิดชูนักรบ เชิดชูศิลปิน แต่ไม่มีที่ไหนเลยที่เชิดชูแม่ เป็นครั้งแรกที่รู้สึกซาบซึ้งมากว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะไม่คิดคำนึงถึงความสำเร็จของคนเพียงตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แต่อยากให้ใคร่ครวญคิดถึงคนธรรมดาๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสอนสั่งให้ลูกหลานเป็นคนดี ช่วยให้ลูกหลานเป็นคนเก่ง และจุดประกายอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตของลูกหลานประสบความสำเร็จ ด้วยชีวิตที่งดงาม”
“ขอบคุณและดีใจที่ได้รับเชิญให้มาร่วมครั้งนี้ ซึ่งว่าไปแล้วคณะกรรมการมูลนิธิครึ่งหนึ่งก็รู้จัก เป็นเพื่อนกันแทบทุกคน จึงไม่ปฏิเสธที่จะเข้ามารับตำแหน่งนี้ด้วยความเต็มใจ ด้วยความภาคภูมิใจ หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์แม่”
“ทั้งนี้ การสร้างเจดีย์เพื่อระลึกถึงแม่ทุกคน คิดเฉยๆ ไม่พอ ตอบแทนด้วยน้ำใจก็ไม่พอ แต่ควรสร้างอะไรบางอย่างเป็นการรวมพลัง สานความรักความเมตตากรุณา ความเผื่อแผ่ ที่ผ่านมาเมืองไทยประสบเหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียว ความเกลียดชัง ความขัดแย้ง ความโกรธเคือง ความอาฆาตพยาบาท ที่ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะแก้ได้”
“แต่...การที่จะร่วมใจกันรำลึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ การเมืองก็ปฏิเสธไม่ได้ ทหารก็ปฏิเสธไม่ได้ พ่อค้านักธุรกิจก็ปฏิเสธไม่ได้ มาช่วยกันให้พิพิธภัณฑ์แม่เกิดขึ้นเป็นศูนย์กลางของความรัก ความเอ็นดู ความช่วยเหลือ ความเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ก็เป็นการตอบแทนชาติบ้านเมืองได้เช่นกัน”
“เจนนิเฟอร์ ลู” นักสังคมสงเคราะห์ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศจีนในปัจจุบัน ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการพิพิธภัณฑ์แม่ เมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวด้วยความซาบซึ้งว่า “ความเป็นแม่คือการให้การอนุบาล คือการให้ความรัก ดังนั้น พิพิธภัณฑ์แม่จะเป็นสถานที่ที่จะเตือนให้เราระลึกถึงจิตวิญญาณที่เป็นพื้นฐานแห่งความรักอันบริสุทธิ์ของความเป็นแม่”
“แม่ทุกคนนั้นยิ่งใหญ่ แต่พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็ล้วนทำไว้ระลึกถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดที่สร้างขึ้นมาเพื่อระลึกถึงความเป็นแม่ของคนธรรมดาทั่วไป ตอนที่ได้รับเชิญ รู้สึกได้ว่า เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า มีความหมายอย่างมาก จึงอยากมาร่วมสนับสนุน”
“การมาร่วมกิจกรรมในประเทศไทยครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดียิ่ง เพราะประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่คนจีนรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี เป็นประเทศที่คนจีนชื่นชอบมาท่องเที่ยว ดังนั้น การมาทำกิจกรรมการกุศลในประเทศไทยก็น่าจะช่วยเชื่อมโยง “มิตรภาพ” ไทยจีนให้ผูกพันกันมากยิ่งขึ้น ในฐานะเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันเช่นนี้ ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมาก”
สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงในการทำประโยชน์แก่สังคมมายาวนานได้ให้เกียรติเป็นคณะกรรมการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ โดย “ศาตราจารย์ระพี สาคริก” บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย เป็นประธานคนแรกของมูลนิธิฯ และเมื่อเสียชีวิต “อาจารย์รตยา จันทรเทียร” นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร รับเป็นประธานฯ คนที่สอง นอกจากนี้ ยังมีบุคคลต่างๆ อีกหลายท่าน เช่น พระไพศาล วิสาโล , พระสันติพงศ์ เขมปัญโญ , บาทหลวงวิชัย โภคทวี , เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ , ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล , มยุรี พฤทธิประเสริฐ และพลตำรวจตรีสุรศักดิ์ สุทธารมณ์ ฯลฯ
ภาพโดยรวมที่จะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก “โครงการพิพิธภัณฑ์แม่” มี 4 ประการด้วยกัน
ประการแรก พิพิธภัณฑ์แม่แห่งแรกของโลก
ประการที่สอง ความร่วมแรงความใจอันยิ่งใหญ่ของคนในสังคมที่มาร่วมกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ของความรักและสันติภาพ
ประการที่สาม สถานที่ท่องเที่ยวด้านสุนทรียภาพและจิตวิญญาณระดับสากล
และประการสุดท้าย สถาปัตยกรรมองค์รวม เพื่อสร้างระบบนิเวศเชิงจิตวิญญาณ