•แนวโน้มปริมาณขยะล้นเมือง ตอกย้ำแนวทาง 3R,5R ยังไม่เพียงพอต่อการแก้วิกฤตขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล นับวันยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศ
•การขับเคลื่อน แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงคึกคักหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย กำลังเร่งใช้เป็นทางออกแก้วิกฤตขยะแบบยั่งยืน
•ข้อสำคัญ คือหนทางยับยั้ง “ปัญหาโลกร้อน” ที่มนุษย์สร้างอย่างตรงจุด เพราะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปราศจากของเสียและมลพิษตลอดทั้งกระบวนการของสินค้าและบริการ จึงช่วยลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น
•เอสซีจี เตรียมจัดงาน SD Symposium 10 Years “Circular Economy: Collaboration for Action” 26 ส.ค.นี้ หนุนสร้างความร่วมมือเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมการผลิตและบริโภคสู่ความยั่งยืน
สถานการณ์ขยะที่เกินเยียวยา
ย้อนไปดูช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศ ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรธุรกิจ ชุมชน เริ่มต้นด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อร่วมกันแก้ไขผ่านหลักการ Zero Waste หรือขยะเป็นศูนย์ และใช้แนวคิด 3 R คือ Reduce-ลดการใช้, Reuse-นำมาใช้ซ้ำ & Recycle-นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต่อมาพัฒนาไปอีก 2 R คือ Repair-นำสิ่งของที่ยังพอแก้ไขได้มาซ่อมแซมเพื่อใช้ใหม่ Reject -หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาขัดพื้น หรือสารเคมีอื่นๆ
ที่จริงแล้ว ทั้ง 3 R และ 5 R ทำให้คนที่ไม่รู้หรือไม่แคร์โลกได้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นหลักการที่ทำความเข้าใจง่าย ทุกคน และองค์กรนำไปปฏิบัติเพื่อกอบกู้โลกสีเขียวได้ทันที แถมยังมีส่วนช่วยเหลือคนในสังคมในการลดค่าใช้จ่ายและสร้างโอกาส ในการเกิดสิ่งที่เพิ่มมูลค่า
แต่พอดูผลลัพธ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิด 3Rและ5R ยังไม่เพียงพอต่อการกอบกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม เมื่อพบว่าปัญหาขยะบนบก ขยะทะเล ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน ขยะจึงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ จากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณขยะในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 มีปัจจัยจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use) อันเนื่องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ภาครัฐหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องทั้งกับภาครัฐด้วยกันและดึงภาคธุรกิจเข้าร่วมซึ่งก็ให้ความร่วมมือมากขึ้น ถึงกระนั้นก็พบว่ามีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล และที่น่าตกใจมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 27% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของขยะที่ต้องกำจัด
ประกอบกับการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ขยะบนบกปะปนสู่ทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลจนเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าอยู่เป็นระยะ สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ประเทศไทย มีขยะในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 68 โดยมีขยะในทะเลกว่า 11.47 ล้านตัน ซึ่ง 80% มาจากขยะบนบก และขยะที่พบในทะเลกว่าครึ่งเป็นขยะพลาสติก
อย่างที่ทราบกัน สาเหตุทำให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรง ส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากฝีมือมนุษย์ที่เป็นตัวเร่งก่อให้เกิดปรากฎการณ์ก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะจากการใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหินและน้ำมัน ตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ขึ้นไปครอบคลุมบรรยากาศของโลก ทำให้ความร้อนที่เกิดจากดวงอาทิตย์ที่ส่งแสงมายังโลกไม่อาจสะท้อนกลับออกไป แต่กลับสะสมอยู่ตามพื้นผิวของโลก
ถึงแม้มนุษย์มีวิธีการเผากำจัดขยะอย่างถูกวิธีแต่ก็ต้องใช้พลังงานในการเผาทำลาย หรือต้องขยายพื้นที่ฝังกลบขยะต่อไปอย่างไม่รู้จบ ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น หากมนุษย์ไม่สร้างขยะสะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็จะช่วยลดการซ้ำเติมภาวะวิกฤติให้โลก และช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศได้
ทรัพยากรธรรมชาติใกล้หมด ตัวเร่งใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน
เหตุจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดยั้ง นำไปสู่ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ทรัพยากรที่เหลืออยู่กำลังใกล้จะหมดไป โดยเฉพาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่เป็นพลังงานฟอสซิล มนุษย์นำมาใช้เป็นพลังงานให้กับการสร้างผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมต่างๆ อย่างมากมาย อย่างที่ทราบกัน
น้ำมัน เหลือให้ใช้อีก 46 ปี หน่วยงานวิเคราะห์สถิติการใช้พลังงานโลก หรือ BP World Energy ออกมารายงานว่า ปัจจุบันโลกเหลือน้ำมันอยู่ประมาณ 188.8 ล้านตัน ปริมาณนี้เพียงพอต่อการใช้งานไปอีก 46 ปีเท่านั้น หากไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันในอนาคต นี่อาจเป็นปริมาณคงเหลือสุดท้ายที่เราจะได้ใช้งาน ก่อนที่น้ำมันจะหมดไปจากโลก
ก๊าซธรรมชาติ เหลือให้ใช้อีก 60 ปี เป็นพลังงานทางเลือกในปัจจุบัน และในอนาคต ที่มนุษย์จะได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนี้ในยามที่น้ำมันหมดไปจากโลก ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังงานสำคัญที่มนุษย์ขาดไม่ได้ ดังนั้นจึงมีการสำรวจถึงปริมาณคงเหลือของก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน และที่น่าตกใจก็คือก๊าซธรรมชาติ จะเหลือให้เราได้ใช้อีกประมาณ 60 ปีเท่านั้น
ถ่านหิน เหลือให้ใช้อีกราว 188 ปี เป็นอีกทรัพยากรทางธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นพลังงาน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ปริมาณถ่านหินก็กำลังลดน้อยลงไปตามกาลเวลา เพราะจากผลการสำรวจล่าสุด พบว่า ปริมาณของถ่านหินที่เหลือจะใช้งานได้อีก 188 ปีเท่านั้น
น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค ในอนาคต มนุษย์อาจต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เพราะรายงานผลการสำรวจปริมาณน้ำจืดล่าสุดพบว่า น้ำจืดทั้งโลกเหลือเพียง 70% เท่านั้น และกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง
มีการคาดการณ์ออกมาว่าในปี 2025 ประชากร 1.8 พันล้านคน จะเริ่มได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ แม้จำนวนของผู้ได้รับผลกระทบถือว่าค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรทั้งหมดก็ตาม แต่ในอนาคตข้างหน้าประชากรโลกทั้งหมดต้องได้รับผลกระทบแน่ๆ
เศรษฐกิจหมุนเวียน ทางรอดของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21
ทั้งปัญหาขยะที่แก้กันไม่ตก และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีโอกาสหมดไป จึงเป็นที่มาของการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดทั้งขยะได้ยั่งยืน และชะลอภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นนักเขียนและนักแปลบทความด้านสิ่งแวดล้อมที่นำเสนอทางออกด้านการอนุรักษ์ ได้อธิบายแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เป็นการออกแบบเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่เป็นวงจรไม่รู้จบ แทนการผลิต-ใช้-แล้วทิ้ง แบบเส้นตรง ตามรูปแบบอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมที่เน้นกำไรเป็นตัวตั้ง โดยใช้หลักว่ายิ่งผลิตออกมามากเท่าใดก็ยิ่งสร้างกำไรมากเท่านั้น โดยไม่ค่อยคำนึงว่าเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว สินค้าเหล่านั้นจะถูกทิ้งอยู่ที่ไหน หรือสร้างผลกระทบอะไรบ้าง”
หลายคนอาจเข้าใจว่า แนวคิดนี้ครอบคลุมแค่ระบบการผลิตที่มีการรีไซเคิลวัตถุดิบกลับมาผลิตซ้ำเท่านั้น แต่ความจริง Circular Economy เป็นแนวคิดแบบองค์รวมที่แทบจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้
ตั้งแต่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมบริการ การประสานเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่างๆ จนคล้ายกับการทำงานของระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดการรักษาต้นทุนธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม
หัวใจสำคัญของ Circular Economy คือการกลับไปทำความเข้าใจการออกแบบและการทำงานของธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบหมุนเวียนที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด และไม่ให้มีของเหลือใช้เกิดขึ้นเลย เพราะมีกลไกในการนำทรัพยากร แร่ธาตุ พลังงานหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ ดังคำกล่าวที่ว่า “สสารทุกอย่างไม่มีวันสูญหายไปจากโลก”
หลักการผลิตและการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างครบวงจร ของ Circular Economy คือ การผลิตแบบใหม่ที่มาพร้อมกับความหวังว่า “เราจะสามารถปฏิวัติสังคมจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิม สามารถออกแบบโมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์แบบใหม่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ระบบนิเวศทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ได้อย่างลงตัวที่สุด”
โมเดลเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก “จากเส้นตรงให้เป็นวงกลม”
ข้อมูลจาก ภัทราพร แย้มละออ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ระบุว่า ระบบผลิตทางตรง (Linear: Take-Make-Dispose) ในโลกของธุรกิจที่เติบโต มีมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 150 ปี โดยการบริโภคเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อกล่าวถึงระบบผลิตนี้ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การถลุง ผลิตและทิ้ง
การ ‘ถลุง’ (Take) หมายถึง การดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้จำนวนมหาศาลในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะนำทรัพยากรเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการ ‘ผลิต’ (Make) ขายให้ลูกค้านำไปใช้งาน เมื่อผลิตภัณฑ์หมดประโยชน์แล้วก็ ‘ทิ้ง’ (Dispose) กลายเป็นขยะ
3 ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เกิดจาก ของที่ ‘ทิ้ง’ ไป มีส่วนน้อยมากที่จะกลับไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นแทนที่การ ‘ถลุง’ วัสดุเหล่านี้เดินทางเป็นเส้นตรง ผลลัพธ์จึงได้ขยะจำนวนมหาศาลที่ปลายทาง ในขณะที่ต้องดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างไม่สิ้นสุด เพื่อผลิตของที่ส่วนใหญ่ใช้เพียงครั้งเดียว
ทำให้เห็นภาพว่า Circular Economy คือ ภารกิจการเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจจากเส้นตรงให้เป็นวงกลม โดยการสร้างเศรษฐกิจแนวใหม่ เป็นระบบผลิตแบบหมุนเวียน (Circular: Make-Use-Return) เข้ามาแทนที่ ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้เพราะมีการวางแผนและออกแบบเพื่อคืนสภาพ หรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่างๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค เศรษฐกิจหมุนเวียนนำวัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบและการออกแบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบภายนอก (Externalities) เชิงลบ ซึ่งจะเห็นว่าธุรกิจที่ใช้ระบบผลิตแบบหมุนเวียนใช้พลังงานทดแทน หรือขจัดการใช้เคมีภัณฑ์ที่เป็นพิษซึ่งเป็นอุปสรรคของการนำวัสดุต่างๆ มาใช้อีกครั้ง หรือหากจะส่งสสารนั้นกลับสู่ธรรมชาติ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบนี้ คือ การออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ต้อง ‘คิด’ ไม่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาพรวม
จากโมเดลนี้ ได้ถูกนำไปขยายจนเกิดเป็นกิจการและแบรนด์ที่เป็นต้นแบบของ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มากมาย อย่างกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในสหภาพยุโรป อ้างอิงจากรายงานของ World Economic Forum ที่ระบุว่า ตอนนี้ กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ ได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศยุโรป เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้กำลังประสบปัญหาการบริหารจัดการสิ่งของหลากหลายประเภทที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และต้องใช้วิธีจัดการด้วยการฝังดินหรือเผาทำลายเท่านั้น
โดยเฉพาะ เสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ เป็นกลุ่มสินค้าที่เมื่อชำรุด เสียหาย คนยุโรปจะไม่นิยมซ่อมแซมกันเพราะค่าใช้จ่ายในการซ่อมสูง ขณะที่เพิ่มเงินจากค่าซ่อมอีกไม่เท่าไรก็สามารถซื้อของใหม่มาใช้ได้แล้ว ด้วยปัจจัยด้านค่าครองชีพโดยรวมที่สูงนี่เอง ประเทศฟินแลนด์ จึงเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่ให้ความสำคัญกับ รียูสเซ็นเตอร์ (Reuse Center)
ฟินแลนด์กำหนดให้ รียูสเซ็นเตอร์ เป็นโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน ในรูปแบบขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ด้วยการรับบริจาคสิ่งของ เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว และนำมาซ่อมแซมจนสามารถนำกลับไปใช้ได้ใหม่ จากนั้นนำมาวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้ามือสอง ที่ชื่อว่า ‘Kierratyskeskus‘
รียูสเซ็นเตอร์ในฟินแลนด์ นอกจากจะช่วยจัดการขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เฉลี่ยถึงปีละ 50 ล้านกิโลกรัมแล้ว รายได้จากการจำหน่ายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตยังกระจายเป็นค่าตอบแทนให้แก่พนักงานของศูนย์อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ รียูสเซ็นเตอร์นั้นมีจุดประสงค์ชัดเจนที่จะจ้างกลุ่มคนว่างงานที่มีฝีมือ ไม่จำกัดอายุ และเพศ และด้วยแนวคิดนี้เองทำให้รียูสเซ็นเตอร์ในฟินแลนด์ กลายเป็นโมเดลความสำเร็จให้กับอีกหลายกิจการเพื่อสังคมทั่วโลก
ไม่ใช่แค่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบองค์กรไม่แสวงหากำไรเท่านั้น เพราะแบรนด์ดัง ที่ได้รับความนิยมในยุโรป ก็นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์และสื่อถึงจิตสำนึกในการใส่ใจสภาพแวดล้อมโลกด้วย
แบรนด์ชั้นนำ พิสูจน์แนวทาง “เศรษฐกิจหมุนเวียน”
หลายๆ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั่วโลกในการนำแนวคิด Circular Economy ไปปรับใช้ เกิดขึ้นได้จากข้อตกลงและความร่วมมือกันทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และระหว่างอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ โดยการนำแนวคิดนี้ไปใช้ตั้งแต่กระบวนการคิด
ตัวอย่างเช่น Timberland แบรนด์รองเท้าชื่อดัง ที่มีไอเดียนำการใช้ยาง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตรองเท้าและยางรถยนต์มาใช้อย่างคุ้มค่า โดยทางแบรนด์ได้รับความร่วมมือจาก Omni United บริษัทผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ ที่ออกแบบยางรถยนต์จากยางที่มีคุณสมบัติรีไซเคิลได้ และเมื่อผ่านการใช้งานจนเสื่อมสภาพ ยางรถยนต์ทั้งหมดจะถูกส่งกลับไปยังโรงงานของ Timberland เพื่อนำมาผลิตเป็นพื้นรองเท้า ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดวงจรชีวิตของยางได้อย่างคุ้มค่า
หรือแบรนด์รองเท้ากีฬายอดนิยมระดับโลก อย่าง Adidas ที่ได้ร่วมมือกับ Parley for the Oceans องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูสภาพของท้องทะเล นำพลาสติกจากชายฝั่งทะเลมาออกแบบเป็นรองเท้าสำหรับวิ่ง อีกทั้งยังนำยางรถยนต์รีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบของพื้นรองเท้าด้วยเช่นกัน
ขณะที่ในประเทศไทยก็มีแบรนด์รองเท้า ทะเลจร (Tlejourn) จากปัตตานี ที่นำขยะจากทะเลมาผลิตเป็นรองเท้า และตั้งราคาขายโดยไม่หวังผลกำไร
รวมถึงแบรนด์ SCG เป็นองค์กรแรกๆ ของไทย ที่นำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาใช้ภายใต้แนวทาง SCG Circular Way เพราะตระหนักดีว่าจะเป็นกุญแจนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการรวบรวมและจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบสำหรับกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต เช่น การรวบรวมเศษกระดาษสู่โรงอัดกระดาษ (Paper Bailing Station) เพื่อนำกลับมารีไซเคิล หรือการนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างและรักษาคุณค่าของวัสดุโดยเพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบที่มาจากกระบวนการรีไซเคิลในการผลิตสินค้าแต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแรงทนทานและคำนึงถึงการเพิ่มความสามารถ การหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอื่นๆ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงและวัตถุดิบทดแทนในกระบวนการผลิตซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่การผลิต
สังคมไทยเริ่มตื่นตัว “รักษ์โลก”
เศรษฐกิจหมุนเวียนคือคำตอบ
ด้วยสภาวะการรับรู้ข่าวสารไร้พรมแดน อีกทั้งความทันสมัยของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้สังคมไทยยุคนี้ได้รับรู้ เรียนรู้ และเปรียบเทียบวิธีการที่มุ่งประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และไม่เกิดผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ในสภาวะวิกฤตโลกทั้งด้านดิน น้ำ และอากาศยุคปัจจุบันจนเกิดกระแสเคลื่อนไหวเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้ง “การผลิตอย่างรับผิดชอบ” ด้วยการใช้นวัตกรรม วัสดุ และระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่เกิดของเสียน้อยที่สุด
ในประเทศไทยเราเริ่มเห็นการเลือกใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำ เช่น แก้วน้ำ ถุงผ้า เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ขณะที่ภาคธุรกิจก็มีการพัฒนาสินค้าบรรจุภัณฑ์เพื่อแทนการใช้ถุงพลาสติกและโฟม รวมทั้งศูนย์การค้าและธุรกิจค้าปลีกชั้นนำเริ่มประกาศตัวไม่แจกถุงพลาสติกใส่สินค้า และให้คะแนนตอบแทนลูกค้าที่นำถุงผ้ามาใส่ของ
ขณะที่กิจการธุรกิจและอุตสาหกรรมชั้นนำของไทยก็มีการตื่นตัวดำเนินธุรกิจด้วยการขานรับแนวทาง 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) จนมีข้อมูลเผยแพร่ในรายงานความยั่งยืนประจำปีได้ดี
เอสซีจี ใช้ 3 กลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย นับเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมไทยที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และได้ขับเคลื่อนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก
1. Reduced material use และ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก Green Carton ที่ใช้วัตถุดิบลดลงร้อยละ 25 แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม ทั้งยังทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนในการขนส่งมากขึ้น และการลดการผลิตและการขาย single-use plastic ของเอสซีจี จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 23 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการช่วยให้ลูกค้าลดการใช้พลังงาน เช่น Active AIRflowTM System ระบบระบายอากาศที่ทำให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว ประหยัดค่าไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และการเพิ่มความแข็งแรงทนทานของสินค้า เช่น ปูนโครงสร้างทนน้ำทะเล ที่มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น 2 เท่า
2. Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของเอสซีจีที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง
3.Reuse และ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับใช้มาใหม่ เช่น โรงอัดกระดาษ (Paper Bailing Station) เพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนา CIERRATM ซึ่งเป็น Functional Material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติก ให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว (Single Material) แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์ แทนการใช้วัสดุ หลายชนิด (Multi Material) ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล และการนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล
นอกจากนี้ เอสซีจียังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ โดยตัวอย่างความร่วมมือที่เกิดผลเป็นรูปธรรม คือการร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ในการนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนยางมะตอย เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและชุมชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถนนจากคุณสมบัติของพลาสติก และช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำถนนได้
10 ปี กับบทบาท การขับเคลื่อนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้หยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาของสังคม พร้อมนำเสนอตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก มานำเสนอผ่านการจัดงานสัมมนา SD Symposium เพื่อนำไปสู่การระดมความคิด และร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและขยายแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกระดับ
และในปีนี้ เอสซีจีจะจัดงาน SD Symposium 10 Years “Circular Economy: Collaboration for Action” ในวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ซึ่งจะมีการ Workshop เพื่อร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับโลก ในการหาแนวทางการบริหารจัดการขยะในประเทศไทย การบริหารจัดการในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยเฉพาะการลด Waste จากการก่อสร้าง และการสร้างความร่วมมือกับเครือข่าวยระดับโลกและอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนแนวคิด Circular Economy จนเกิดการผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันประเทศไทยและอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs) ได้อย่างแท้จริง ติดตามได้ที่ https://www.scg.com/sdsymposium/#/th/home