xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิสืบฯ ยื่น 3 ข้อเสนอ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ แก้ปัญหาบุคลากรกรมอุทยานฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เมื่อวานนี้ ( 24 กรกฎาคม 2562) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ยื่นจดหมายถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ข้อเสนอการโยกย้ายและการเข้าสู่ตำแหน่งของบุคลากรตามหลักธรรมาภิบาลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับโครงสร้างบุคคลกรและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงสนับสนุนการทำงานอันเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า ต่อไป

โดยขอให้รับข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาทั้ง 3 ประการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ และทัศนคติใหม่ของกรมและกระทรวงฯ

ข้อหนึ่ง การได้มาซึ่งตำแหน่งโดยไม่ชอบ

นำไปสู่การคอรัปชั่นในระดับต่างๆ  - เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองและหน้าที่ ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนางานอนุรักษ์ตามแผนงานที่ควรจะเป็น เพราะผลประโยชน์ไม่ได้จบแค่การได้มาซึ่งตำแหน่ง แต่ขยับต่อไปถึงการเรียกเงินเพื่อรักษาตำแหน่งให้อยู่ได้นานอีกด้วย
ขาดประสิทธิภาพในการพัฒนาบุคลากร - หากยังคงมีการซื้อขายตำแหน่ง ขวัญและกำลังใจของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังและจริงใจแต่ไม่เกิดความก้าวหน้า อาจทำให้ขวัญและกำลังใจขอผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติงานท้อถอย นำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงานล้มเหลว
เมื่อประสิทธิภาพการทำงานล้มเหลว นำไปสู่การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ในที่สุด

ข้อสอง การจัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวัน ไม่ตรงตามที่จัดจ้างจริง(ลูกจ้างผี) เช่น พนักงานTOR พนักงานราชการ

ข้อสาม เร่งรัดให้กรมอุทยานฯ จัดทำระเบียบ ว่าด้วยการเข้าสู่ตำแหน่งโดยหลักความรู้ ความสามารถที่เหมาะสม
.

ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาการโยกย้ายที่เปิดช่องทางการหาผลประโยชน์ของฝ่ายบริหารดังที่กล่าวมาโดยเร็ว เนื่องจากยังคงพบข้อมูลอยู่ในหลายพื้นที่อนุรักษ์ มีชื่อแต่ไม่มีผู้ปฏิบัติงานจริง เมื่อบุคลากรไม่เป็นไปตามจำนวนอย่างที่ควรจะเป็น ภารกิจที่ต้องแบ่งหน้าที่กันทำในอีกหลายส่วนงาน ทั้งการเดินลาดตระเวน การรองรับการท่องเที่ยว ร่วมกับการปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย อันมีผลกระทบกับหน่วยงานเนื่องจากมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการทำงาน

การแก้ปัญหาระดับผู้บริหารหน่วยงาน กรม สำนัก ลงมาถึงระดับผู้ปฏิบัติงาน จึงมีความสำคัญที่จะเป็นกลไกการปกป้องและดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมาการได้มาซึ่งตำแหน่งโดยมิชอบ เกิดขึ้นอยู่ในทุกยุคสมัย และมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด

ถึงแม้ปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวได้ถูกพังทลายลงไปแล้วบางส่วนจากข้อมูลเชิงประจักษ์ กรณีการเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่า ทั้งที่จำนวนนักท่องเที่ยวมีไม่ต่างจากเดิม คือภาพสะท้อนของความไม่ปกติในอดีตที่ผ่านมา และมีโอกาสกลับมาหากไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียในเรื่่องของโครงสร้างและประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งผลถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

นอกจากนี้ เพจเฟซบุ๊ก PR DNP ของส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังโพสต์บทสัมภาษณ์ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถึงเรื่องปัญหาบุคลากรดังกล่าวว่า บุคคลากรที่มีความสำคัญที่สุดในการรักษาทรัพยากรของชาติ คือคนทำงานตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหรือหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

เมื่อเป็นตำแหน่งที่ถูกจัดวางไว้ด้วยหน้าที่สำคัญ กรณีการเข้าสู่ตำแหน่งของบุคลากรจำเป็นต้องมีองค์ประกอบในมุมใดบ้าง

ศศิน ให้คำตอบว่า แน่นอนว่าสิ่งสำคัญอันดับแรก คือความรู้ นี่คือเรื่องพื้นฐานที่ไม่อาจมองข้ามหรือปฏิเสธได้ด้วยเหตุผลใด

“หัวหน้าต้องเป็นคนที่เรียนในด้านที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทรัพยากรมาโดยเฉพาะ”

“แต่แค่การเรียนบางครั้งอาจไม่พอ ทฤษฎีกับปฏิบัติอาจต่างกัน ก็จำเป็นต้องศึกษาเพิ่ม เช่น กรณีไปเป็นหัวหน้าทางบกหรือทางทะเล บริบทอาจจะต่างกัน แต่มีพื้นฐานสำคัญเป็นเรื่องเดียวกัน ตรงนี้จะเป็นเรื่องการต่อยอดของแต่ละคน หรือแม้แต่เรื่องข้อกฎหมายก็จำเป็นต้องมาพัฒนาเพิ่ม”

ในขั้นต่อมา สิ่งที่จำเป็นต่อการเข้าสู่ตำแหน่ง บุคลากรจะต้องมีทักษะของการบริหารควบคู่กันไปด้วยกัน

“การบริหารงานอุทยานแห่งชาติมันเป็นเรื่องสารพัดศาสตร์ โดยเฉพาะการบริหารคน แล้วยังมีการประสานงานกับพื้นที่ ทำงานให้เข้ากับบริบทของสังคมรอบข้าง ต้องเกาะติดพื้นที่ ต้องใช้การตัดสินใจค่อนข้างมาก จะตัดสินใจอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหาย ต้องทำงานฉับไว จึงต้องอาศัยคนที่ทุ่มเท รู้หลักการ มีกรอบทำงานที่ชัดเจน แต่ที่สำคัญก็ต้องตอบสนองพันธกิจของหน่วยงานต้นสังกัดเอาไว้ให้ได้ ดังนั้นมันต้องบ่มเพาะกันมาในระดับหนึ่ง”

การบ่มเพาะในความหมายของศศิน คือ การออกมาทำงาน เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มพูนทักษะ

“คงไม่ใช่ใครอยากเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่หรือห้วยขาแข้งแล้วจะเป็นได้ทันที คุณต้องมีประสบการณ์มาก่อน ต้องผ่านชั่วโมงบินการเป็นผู้ช่วยหัวหน้าพื้นที่ หรืออาจเป็นหัวหน้าพื้นที่ขนาดเล็กมาก่อน เช่น หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ หัวหน้าสวนรุกขชาติ หัวหน้าวนอุทยาน หรือหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า แล้วไต่ระดับความยากขึ้นมาทีละขั้น”

ศศิน มองว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำเป็นต้องมีโรงเรียนสำหรับหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์

“ผมคิดว่า ขั้นตอนการเข้าสู่ตำแหน่งบุคลากรของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เทียบได้กับนายอำเภอเลย เพราะขนาดพื้นที่เขตอนุรักษ์แทบจะใหญ่กว่าอำเภอ อำนาจหน้าที่ก็ต้องปกครองดูแลในแบบใกล้เคียงกัน คนจะเป็นนายอำเภอต้องผ่านโรงเรียนนายอำเภอมาก่อน แล้วทำไมจะมีโรงเรียนหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์บ้างไม่ได้”

จากที่กล่าวถึง อาจมีขั้นตอนที่มากมายก็จริง แต่หากได้บุคลากรตามคุณสมบัติที่ว่ามา ตำแหน่งหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ก็จะได้บุคลากรที่มีคุณภาพตามมาเช่นกัน

ผลที่ตามมา นอกจากรักษาทรัพยากรได้สำเร็จ ยังสามารถทำลายระบบการใช้วิธีมิชอบให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง เพราะระบบคัดสรรถูกมุ่งไปยังคนที่มีผลงานและความสามารถ

“ขณะเดียวกันก็เป็นการปูเส้นทางให้กับคนรุ่นใหม่ได้เห็นเป็นตัวอย่างว่าคนทำงานอนุรักษ์ต้องทำหรือผ่านอะไรมาบ้าง ให้เขารู้สึกว่าพี่คนนี้เป็นหัวหน้าที่ดี ทุ่มเททำงาน ผมอยากเป็นแบบหัวหน้าคนนี้บ้าง ถ้าจะเป็นก็ต้องทำตามขั้นตอน เก็บประสบการณ์ตามความก้าวหน้าที่ถูกต้องเพื่อไปสู่จุดที่อยากอยู่”

ศศิน ขยายความว่า สิ่งนี้จะเป็นการสร้างธรรมาภิบาลแก่ระบบในระยะยาว และนอกจากความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ อีกสิ่งที่ต้องมี คือ “จิตวิญญาณ”

ฟังดูเป็นเรื่องนามธรรม แต่ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ย้ำว่านี่เป็นสิ่งที่คนทำงานอนุรักษ์ขาดไม่ได้

“คนเป็นหัวหน้าจะต้องมองเรื่องทรัพยากรป่าไม้เป็นที่ตั้ง เป็นเรื่องแรกภายในจิตใจ ต้องชัดเจนว่านี้คือหน้าที่ของคนเป็นหัวหน้า ต้องยืนอยู่ฝ่ายอนุรักษ์ ปกป้องไม่ให้ใครมาขโมยทรัพยากรของประเทศออกไป ดังนั้นจึงต้องเป็นคนที่มีอุดมการณ์หนักแน่น จะมองเห็นผลประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนส่วนตน”

เช่นเดียวกับตำแหน่งอื่นๆ ภายในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะ ความชำนาญ ประสบการณ์ ไต่เต้ามาในรูปแบบเดียวกัน

เพียงแต่ในวันนี้ สิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการก่อน คือ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

“เพราะนี่คือบุคลากรที่ยืนอยู่แถวหน้าสุดของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ สัตว์ป่า ท้องทะเล ให้คงอยู่ไปอย่างยั่งยืน” ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น