กระแสรักษ์โลกดูท่าจะมาแรงจริงๆ แม้กระทั่งแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น หรือ fast-fashion ที่เป็นเจ้าตลาดไปทั่วโลกอย่าง Zara ยังโดดมาร่วมวงกับเขาด้วย โดยทางแบรนด์ออกมาประกาศว่าจะจัดการร้านค้ากว่า 7,500 แห่งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี 2019 และภายในปี 2025 แบรนด์ลูกต่างๆ ภายใต้การดูแลของ Zara ก็จะผลิตเสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ
รวมทั้งความมุ่งมั่นจริงจังกับการผันตัวมาเป็นแบรนด์ Zero Waste และเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในสำนักงานใหญ่ การขนส่ง และร้านค้าต่างๆ
นอกจากนี้ Zara มีแนวทางที่จะเลิกมอบพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้กับลูกค้า โดยการเปลี่ยนมาใช้กล่องกระดาษรีไซเคิลซึ่งนำกลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 6 ครั้งในขั้นตอนการขนส่งและแพ็กสินค้า อีกทั้งยังรณรงค์ให้ใช้ของรีไซเคิลในองค์กร รวมไปถึงได้เริ่มหาวิธีการจะนำไม้แขวนเสื้อเก่ากลับมาใช้ซ้ำด้วย
กลยุทธ์ที่น่าสนใจของแบรนด์ คือ การนำเสนอสินค้าอย่างชาญฉลาดด้วยการเลือกลงสินค้าใหม่สัปดาห์ละ 2 ครั้งแบบจำนวนจำกัด เพื่อให้คนสนใจและมีความต้องการซื้ออย่างเร่งด่วนเพราะกลัวสินค้าหมด โดยไม่รอช่วงลดราคา ซึ่งแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ที่มักลงสินค้าแต่ละคอลเล็คชั่นครั้งละมาก ๆ ถือเป็นการปฏิวัติวงการแฟชั่นจนเป็นที่มาของคำว่า Fast Fashion เพราะในมุมมองของแบรนด์สินค้าแฟชั่นเปรียบเสมือนอาหารสดที่หมดอายุลงได้ภายในเวลาไม่นาน ดังนั้นจึงต้องออกแบบสินค้าอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Zara ใช้เวลาในการออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายไม่เกิน 1 เดือน ในขณะที่แบรนด์อื่น ๆ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน สร้างความได้เปรียบในการเพิ่มยอดขาย
นอกจากนี้ยังมีการจัดหน้าร้านได้น่าสนใจ โดยทางร้านจะจัดทำ Mockup และสร้างสรรค์ Window Display เพื่อดูความเหมาะสมของการจัดวางสินค้าแต่ละหมวดหมู่ พร้อมให้รายละเอียดเกี่ยวกับหุ่นโชว์สินค้าว่าควรเน้นไอเท็มใดในตลาดใด เมื่อจัดร้านตัวอย่างเรียบร้อยก็จะทำการส่งภาพไปเป็นตัวอย่างให้แก่สาขาอื่นๆ
ด้วยสไตล์แฟชั่นของ Zara ที่ตอบโจทย์เทรนด์โลกในราคาที่จับต้องได้ ทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยในปี 1983 ได้ขยายสาขาไปในหลายเมืองของสเปน และมีการเปิดสาขานอกประเทศครั้งแรกที่โปรตุเกสเมื่อปี 1988 หลังจากนั้นเพียง 1 ปี ก็ได้ขยายตลาดไปยังนิวยอร์กและปารีส กระทั่งปัจจุบัน Zara มีร้านค้ากว่า 2,000 สาขาใน 93 ประเทศทั่วโลก พร้อมร้านค้าออนไลน์ใน 45 ประเทศ
ปัจจุบันแบรนด์ Zara อยู่ภายใต้กลุ่ม Inditex ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1985 มีแบรนด์ในเครือ 8 แบรนด์และมีร้านค้ารวมกันทั้งสิ้น 7,385 ร้านทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ไม่ใช่แค่ Zara ที่ออกมาแสดงจุดยืนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น ทว่าแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่หลายแบรนด์ก็ออกมาสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน อย่าง ยูนิโคล่ (Uniqlo) ที่ตั้งเป้าว่าจะลดการใช้พลาสติกให้ได้ 7,800 ตันภายในปี 2020 หรือแบรนด์ลักชัวรี่อย่าง Burberry เองก็ตั้งใจจะลดการปล่อยคาร์บอนในขั้นตอนการผลิตต่างๆ ภายในปี 2022 หรือคอลเลกชัน Fall/Winter 2019 ของ Stella McCartney ก็เปลี่ยนมาใช้เส้นใยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแทน นับว่าเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นแบรนด์ใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างขยะและมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมมากที่สุด เริ่มหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการจะช่วยกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
Fast Fashion ซึ่งเป็นวิธีการบริโภคแฟชั่นแบบด่วนๆ ของผู้ซื้อ โดยแบรนด์ผู้ขายนำเสนอคอลเลกชันใหม่ๆ ออกมามากมาย ก็เลยทำให้คนบริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วด้วย ว่ากันว่ามีการนำเสนอนับร้อยคอลเลกชันต่อปี เหตุนี้หลายคนที่เป็นนักชอปตัวยง บางคอลเลกชันซื้อมาสวมใส่แทบนับครั้งได้ และมักไปหาชอปเพิ่มเติมเสมอๆ ด้วยหวั่นไหวว่าจะไล่ไม่ทันกับแฟชั่นอัพเดท ที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าก่อนหลายเท่าตัว ไม่ใช่แค่ 4 ฤดูกาล แต่เป็นทุกเดือน ทุกสัปดาห์
ข้อมูลอ้างอิง
https://ellethailand.com/content/zara-zero-waste-100-percent-sustainable-fabrics?fbclid=IwAR14xo2qVE6Oj6StDk03BwSizD2lZsuW5hYGan7eYxLHFj4sWzt70ghnX6Q
https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/zara-data-driven-fashion.html